ซีพีซื้อเทสโก้ โลตัส หรือจะเป็นแค่เกมต่อจิ๊กซอว์ค้าปลีก

ซีพีซื้อเทสโก้ โลตัส หรือจะเป็นแค่เกมต่อจิ๊กซอว์ค้าปลีก
ซีพีซื้อเทสโก้ โลตัส หรือจะเป็นแค่เกมต่อจิ๊กซอว์ค้าปลีก

ซีพีซื้อเทสโก้ โลตัส หรือจะเป็นแค่เกมต่อจิ๊กซอว์ค้าปลีก

ซื้อเทสโก้ โลตัส 3.3 แสนล้าน ก็แค่เกมต่อจิ๊กซอว์ค้าปลีกเท่านั้น

 

ท่ามกลางการแพร่ระบาดอย่างหนักของโรคโควิด-19  ส่งผลให้หลายธุรกิจส่ออาการเดี้ยง ไปต่อไม่ไหว มีการลดเงินเดือน เลิกจ้างพนักงานชั่วคราว เศรษฐกิจเริ่มหยุดชะงัก

แต่สงครามค้าปลีกยังคงดำเนินไปอย่างดุเดือด เมื่อกลุ่มเทสโก้ จากประเทศอังกฤษ ตกลงขาย “เทสโก้โลตัส” ในประเทศไทยและมาเลเซีย ให้กับกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ในราคา 338,445 ล้านบาท ตัดหน้าคู่แข่งสำคัญ 2 รายที่เข้าประมูลด้วย ได้แก่ บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ หรือ บีเจซี ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี และกลุ่มเซ็นทรัล

ถามว่า แพงมั้ย กับราคาซื้อที่ 338,445 ล้านบาท ถ้าเทียบกับสินทรัพย์ของเทสโก้ โลตัส ที่ได้มา กล่าวคือ เทสโก้ โลตัส ในไทย ที่มีอยู่ทั้งสิ้น 2,158 สาขา แบ่งเป็นสาขาขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า ไฮเปอร์มาร์เก็ต 214 แห่ง บวกกับสาขาขนาดเล็ก อย่าง เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส ประมาณ 1,500 แห่ง สาขาที่เรียกว่า ตลาดโลตัส อีกร้อยกว่าแห่ง และพื้นที่เช่าในศูนย์การค้าอีกเกือบ 200 แห่ง รวมๆ แล้ว เทสโก้ โลตัส มียอดขาย ณ ปี 2562 อยู่ที่ 188,000 ล้านบาท

ส่วนสาขาในมาเลเซีย มีน้อยกว่ามาก กล่าวคือ มีไม่ถึง 100 สาขา และมียอดขายแค่ปีละ 33,000 ล้านบาท

มีการคำนวณมูลค่าหุ้นของเทสโก้ โลตัส ที่นำออกขายในครั้งนี้ อยู่ที่ประมาณ 240,000 ล้านบาท  ต้องถือว่า ราคาที่ซีพียอมจ่ายถึงกว่าเท่าตัว เป็นราคาที่ “แพงมาก”

แต่ถ้าถามใจเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์  ประธานกลุ่มซีพี ราคานี้น่าจะคุ้มค่า  เพราะเจ้าสัวเปรียบเทียบว่า เทสโก้ โลตัส เสมือนลูกชายคนเล็กที่ฝากให้คนอื่นเลี้ยงดู

ลูกชายทั้งคน เท่าไหร่ก็ยอมจ่าย!!

เพราะในอดีตเทสโก้ โลตัส เคยเป็นของซีพีมาก่อน โดยกลุ่มเทสโก้ จากอังกฤษ เข้ามาร่วมทุนกับซีพี เปิดค้าปลีก นามว่า เทสโก้ โลตัส เมื่อปี 2537 แต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจลอยตัวค่าเงินบาท  ซีพีประสบปัญหา จำใจขายกิจการให้เทสโก้  ผ่านมากว่า 20 ปี จนมาถึงวันนี้ที่ซีพีกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง  มีโอกาสจึงซื้อคืนกิจการเทสโก้ โลตัส กลับมาสู่อ้อมอกอีกครั้ง

แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เกมนี้เป็นเกมของยักษ์ใหญ่ เดิมพันกันด้วยเงินเป็นแสนๆ ล้าน ขณะที่คนทำมาหากินมีโอกาสสัมผัสแค่เงินไม่กี่หลัก คงได้แต่เสพข่าว พร้อมๆ กับถามตัวเองว่า

ศึกชิง เทสโก้ โลตัส ครั้งนี้  ผู้บริโภคได้หรือเสียอะไรบ้าง??

ถ้ามองในแง่ได้ประโยชน์ เผื่อว่า เปลี่ยนเจ้าของจากเทสโก้ อังกฤษ มาเป็นซีพี คนไทย จะช่วยให้คนไทยได้ซื้อสินค้าในราคาถูกลงหรือเปล่า ไม่แน่ใจ คงต้องรอดูอีก 6 เดือนหลังจากดีลนี้ได้รับอนุญาตครบทุกขั้นตอน ซีพีเข้าบริหารกิจการเต็มตัว ถึงจะเห็นนโยบายกันชัดๆ อีกที

แต่ถ้าถามว่า ผู้บริโภคเสียประโยชน์ เพราะดีลนี้ก่อให้เกิดการผูกขาดธุรกิจค้าปลีกหรือไม่ ตอบได้เลยว่า ไม่ว่าจะเป็นเจ้าไหน ซีพี  บีเจซี หรือเซ็นทรัล  ก็ถือว่า ผูกขาดทั้งนั้น

เพราะทั้ง 3 เจ้าล้วนแต่เป็นยักษ์ใหญ่ในหลายวงการ ไม่เฉพาะแต่ธุรกิจค้าปลีก การซื้อเทสโก้ โลตัส อาจเป็นเพียงแค่ “เกมต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจ” หรือยอมทุ่มเงินเป็นแสนๆ ล้าน แค่ “เกมสกัดคู่แข่ง” ก็ได้ กล่าวคือ ซีพี นอกจากสถานะผู้ผลิตสินค้าเกษตรมากมาย ยังเป็นเจ้าของธุรกิจโทรคมนาคม ส่วนด้านค้าปลีก ซีพีมีทั้งเซเว่นอีเลฟเว่น  แม็คโคร ไอคอนสยาม ที่ร่วมทุนกับกลุ่มสยามพิวรรธน์ แถมด้วยซีพี เฟรชมาร์ท ขณะที่บีเจซี ภายใต้อาณาจักรของเจ้าสัวเจริญ นอกจากฐานะผู้ผลิตสินค้าจิปาถะ เครื่องดื่มสารพัด ยังเป็นเจ้าของกิจการค้าปลีก พัฒนาอสังหาริมทรัพย์มากมาย นอกเหนือจากบิ๊กซีแล้ว ก็มีบรรดามาร์เก็ตทั้งหลาย เช่น สามย่านมิตรทาวน์ พันธ์ทิพย์พลาซ่า ห้างตะวันนา เดอะสตรีท รัชดา เอเชียทีค ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แถมด้วยโปรเจ็กต์ยักษ์ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง คือ  วัน แบงค็อก ย่านคลองเตย หรือแม้กระทั่งกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าตลาดค้าปลีก เจ้าของโรงแรม  ที่มีเครือข่ายห้างอยู่ทั่วไป ทั้งในและต่างประเทศ แถมยังมีแฟมิลี่ มาร์ท  เป็นผู้ผลิตและนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคอีกหลายต่อหลายยี่ห้อ

สำหรับผู้บริโภค อย่าไปสนใจว่า จะผูกขาดหรือไม่ ขอแค่พัฒนาตัวเองให้เป็นผู้บริโภคที่ฉลาดเลือก ฉลาดซื้อ ศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคดิจิตอล ที่ออนไลน์เชื่อมโลกเข้าหากัน และเราสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายๆ แค่คลิกเดียว

ยิ่งซื้อขายออนไลน์ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย  ใครๆ ก็เข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นรายเล็ก รายย่อย หรือรายใหญ่ยักษ์แค่ไหน บางทีห้างยักษ์บนพื้นที่เป็นแสนๆ ตรม. อาจเป็นแค่สถานที่สำหรับเดินเล่น ตากแอร์แก้ร้อน

แต่ถึงเวลาช็อปปิ้ง กลับนั่งเสิร์ชของถูกอยู่ที่บ้านก็ได้!!