หม่าล่ายังฮอต! เจ้าของร้านกาแฟ เปิดไม่ถึงเดือนลูกค้าเพียบ ปิ้งไม่หยุดวันละ 700 ไม้ 

หม่าล่ายังฮอต! เจ้าของร้านกาแฟเปิดไม่ถึงเดือนลูกค้าเพียบ ปิ้งไม่หยุดวันละ 700 ไม้

ในยุคเศรษฐกิจแบบนี้จะลงทุนทำอะไรสักอย่าง หลายคนยังคิดหนัก ไม่กล้าเสี่ยงเพราะกลัวจะสูญเงิน ผิดกับหนุ่มวัย 39 รายนี้ เขาคือหนึ่งในคนทำธุรกิจที่กล้าลงทุน เมื่อธุรกิจแรกประสบความสำเร็จ ก็ถึงเวลาเริ่มธุรกิจต่อไป 

คุณออส – กิจพัฒน์ กล่ำโพธิ์ อายุ 39 ปี อดีตครูประจำชั้นประถมฯ 1 โรงเรียนอนุบาลโรจนวิทย์ นานกว่า 10 ปี ก่อนผันตัวมาทำธุรกิจร้านกาแฟ “มานี มี กาแฟ”

“ผมเป็นคนมีใจรักด้านงานบริการ และรักการเป็นครูด้วย ช่วงมีอาชีพหลัก อยากลองหาธุรกิจที่น่าจะเป็นของตัวเอง เพราะถ้ารอจนเกษียนเกรงจะไม่มีแรงทำ ก่อนลาออกจากงานประจำหนึ่งเดือนจึงเริ่มต้นเปิดร้านนี้เลยตั้งแต่ปี 2559”

ปัจจุบัน ร้านกาแฟของคุณออส ยังได้รับความนิยมจากลูกค้าไม่ขาดสาย แม้เงินลงทุนแต่ละวันจะแตะหลักหมื่นบาท แต่ยอดขายที่ได้ยังมากพอให้ชื่นใจ รวมๆ แล้ว 8,000-10,000 บาท

อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมได้ที่ “มานี มี กาแฟ” ชูจุดขาย ไม่มีเงินล้านก็ซื้อวันวานได้

จากธุรกิจร้านกาแฟที่ประสบความสำเร็จ คุณออสได้ขยายกิจการไปอีกหนึ่งธุรกิจคือ ร้านหม่าล่า ยอดขายทะลุเป้าตั้งแต่ร้านยังเปิดไม่ถึงเดือน

โดยจุดเริ่มต้นของอาชีพนี้ มาจากการที่เพื่อนของคุณออสไปทานหม่าล่าร้านต่างๆ แต่รสชาติยังไม่ถูกใจ จึงมาบอกคุณออสให้ลองเปิดร้านหม่าล่าดูบ้าง

 

“ผมบอกเพื่อนว่า ทำไม่เป็นนะ แต่เพื่อนมั่นใจว่าผมทำได้ ผมบอกรออีก 5 วัน ขอเคลียร์ตัวเองก่อน จะลองทำน้ำหม่าล่าดู ทำเสร็จเรียกเพื่อนมาชิม รสชาติใช้ได้ ผ่านด่านเพื่อนได้ ผมเปิดร้านวันถัดไปเลย ลงทุนวันแรกค่าอุปกรณ์ และวัตถุดิบรวมกันประมาณ 15,000 บาท ส่วนเงินลงทุนรายวันเฉลี่ย 3,000 บาท”

ร้านหม่าล่าของคุณออส ชื่อว่า หม่าล่าจงเจริญ ที่ใช้ชื่อนี้ เพราะเป็นเหมือนการสรรเสริญธุรกิจที่ทำ เปิดอยู่บริเวณเดียวกับร้านกาแฟ มีเมนูหลากหลายให้เลือก แต่คุณออสบอกว่าขอแนะนำเมนูฮิตที่ลูกค้าชอบ คือ เนื้อหมู หมูสามชั้น ไส้อ่อน เอ็นไก่ ไส้กรอก กุ้ง หอยแครง หมึกกรอบ พริกยัดไส้ กุยช่ายย่าง ขายไม้ละ 10-15 บาท

“เปิดยังไม่ถึงเดือน แต่กระแสตอบรับดีมาก ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น ขายได้วันละ 700 ไม้ คิดเป็นเงินตกวันละ 7,000 บาทโดยประมาณ ก่อนเปิดร้านผมไปตระเวนชิมหม่าล่ามาหลายร้านเพื่อหารสชาติที่ถูกใจแล้วนำมาปรับสูตร ดูเมนูของร้านอื่นเพื่อทำให้แตกต่าง ดูการตลาดของร้านอื่นถ้าจะอยู่รอดวันหนึ่งต้องขายได้เท่าไหร่ เขาบอก มากสุดวันละ 700 ไม้ ฉะนั้น 700 ไม้ของร้านอื่นต้องเป็นสแตนดาร์ดของร้านเรา” คุณออส ย้ำ

เพราะขายดี ลูกค้าแน่นทุกวัน บางครั้งต้องโทรจองก่อน จึงเป็นที่สนใจของคนที่อยากทำธุรกิจ มาติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์แล้ว 3 ราย แต่คุณออส บอกว่า ยังไม่ขาย เพราะร้านเพิ่งเปิดได้ไม่นาน ขอศึกษารายละเอียดให้ดีเสียก่อน

“ผมคิดเหมือนกันว่าเปิดร้านหม่าล่าช้าไปมั้ย เพราะกระแสอาหารชนิดนี้ดังมานาน 2 ปีแล้ว ที่ทำช้าเพราะมีธุรกิจร้านกาแฟอยู่ไม่สามารถปลีกตัวมาธุรกิจอื่นได้ ทุกวันนี้ยังให้แม่ครัว และลูกน้องในร้านกาแฟเสียบไม้อยู่เลย ไม่ได้จ้างใครเพิ่ม”

ก่อนถามต่อ ผ่านมาแล้วทั้งอาชีพครู เจ้าของร้านกาแฟ ช่วงเทศกาลยังทำขนมขาย ล่าสุดกับร้านหม่าล่า แต่ละอาชีพยากง่ายต่างกันอย่างไร

“ทุกงานต้องใช้ความรู้ความสามารถ แต่ผมไม่ได้เก่งทุกเรื่อง แค่คิดว่าต้องทำให้ดีที่สุด ตอนเป็นครู ความรับผิดชอบอยู่ที่เด็ก เมื่อเป็นเจ้าของร้าน ลูกค้าต้องมาที่หนึ่ง พนักงานมาที่สอง ที่สำคัญต้องคำนึงถึงลูกค้าทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กินเท่านั้น”

กับช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ ทำไมถึงกล้าเปิดธุรกิจใหม่ คุณออส บอกว่า เป็นเพราะมีฐานลูกค้าจากร้านกาแฟ มีเงินทุน และสถานที่อยู่แล้ว ลองสักตั้งหนึ่ง ทำไปทำมาขายได้

“ผมน่าจะมีพรสวรรค์ด้านขายของ ลูกค้าที่มารู้จักผมเกือบหมด ไม่ว่าทำอะไรมาขาย ลูกค้าพร้อมอุดหนุน” คุณออส ทิ้งท้าย