“ขออภัย สำหรับลูกค้าที่จองมาก่อนเท่านั้น” ถ้อยคำสร้างสรรค์ กิจการพึงพิจารณา

“ขออภัย สำหรับลูกค้าที่จองมาก่อนเท่านั้น” ถ้อยคำสร้างสรรค์ กิจการพึงพิจารณา

จากกรณี ร้านอาหารและบ้านพักแห่งหนึ่งในหมู่บ้านแม่กำปอง  ต.ห้วยแก้ว อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากทั้งไทยและต่างชาติ ได้ขึ้นป้ายภาษาไทย-จีน และ อังกฤษ เขียนใส่กล่องกระดาษขนาดใหญ่ ว่า “ขออภัยไม่รับจีนและลูกค้าต่างชาติ”

กระทั่งมีการนำภาพป้ายของร้านดังกล่าว ไปโพสต์ลงโซเชียล และปรากฏมีชาวเน็ตจำนวนมากเข้ามาแสดงความเห็น ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

เหตุผลที่ทางเจ้าของร้านดังกล่าว ให้กับทางสื่อมวลชนหลายแขนงนั้น ระบุว่า การขึ้นป้ายดังกล่าวสืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ มีลูกค้าคนไทยมาสั่ง อาหารรับประทานอยู่ในร้าน ต่อมามีนักท่องเที่ยวชาวจีนกลุ่มหนึ่งเข้ามาสั่งอาหารในร้าน ทำให้ลูกค้าคนไทยเดินออกจากร้านกันหมด เลยคิดหาทางออกจะทำอย่างไรดี เพราะพูด-เขียนภาษาจีนไม่ได้ จึงค้นหาภาษาจีนที่จะนำมาเขียนป้ายไว้ บนป้ายกล่องกระดาษพร้อมเขียนเป็นภาษาไทย-อังกฤษและนำมาติดที่หน้าร้าน ต่อมามีไกด์จีน บอกว่าไม่สุภาพและได้เขียน ป้ายภาษาจีนให้ใหม่  ซึ่งได้มีคนถ่ายภาพแล้วนำไปเผยแพร่ในโซเชียล

“รู้สึกอึดอัดใจมาก ที่เขียนป้ายไปอย่างนั้น เพราะไม่ทราบว่าชาวจีนที่เขามาสั่งอาหารในร้าน คนไหนติดเชื้อมาบ้าง และตัวเองก็พูดภาษาจีนไม่ได้ จึงจำเป็นต้องหาทางป้องกันตนเองและพนักงานในร้าน” เจ้าของร้านเกิดเหตุ บอกไว้กับสื่อ

คล้อยหลังไม่ทันไร  ทางตำรวจท่องเที่ยว และเจ้าหน้าที่อำเภอแม่ออน ได้รุดไปที่ร้านดังกล่าว ก่อนบอกเขียนป้ายอย่างนี้เป็นการ ”กระทบความมั่นคงของชาติ” ให้เปลี่ยนป้ายเสีย โดยเขียนให้ใหม่ เป็นภาษาจีน มีใจความว่า “อาหารหมด” มาติดที่หน้าร้านแทน

…………..

รูปแบบการ “ป้องกันตัวเอง” ของร้านต้นเรื่องดังกล่าว ก่อให้เกิดประเด็นพาดพิงหลายเรื่อง อาทิ

การขึ้นป้ายว่า “อาหารหมด” ทั้งที่วัตถุดิบมีอยู่เต็มตู้เย็น ในทรรศนะของชาวพุทธ อาจมองว่า เป็นการกระทำที่ผิดศีลห้า ในข้อ “มุสา วาทา”

ประเด็นเจ้าหน้าที่ตำรวจท่องเที่ยว แจ้งกับทางร้าน การขึ้นป้ายข้อความดังว่า เป็นพฤติการณ์เข้าข่ายความผิดอาญา กระทบความมั่นคง อาจมีคำถามจากนักกฎหมายหลายท่าน กฎหมายอาญา สามารถแปลขยายความได้ตามใจปรารถนาได้หรืออย่างไร

และทรรศนะของนักการตลาด อย่าง “พลชัย เพชรปลอด” มองปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า การที่ร้านค้าจะเลือกรับหรือเลือกให้บริการลูกค้ากลุ่มไหน ย่อมเป็นสิทธิ์ของร้านค้า

แต่หากเคยให้บริการกลุ่มใดอยู่ แล้วเกิดไม่อยากให้บริการแล้ว และต้องการสื่อสาร เพื่อบอกยุติการให้บริการ ควรหาถ้อยคำที่ “สุภาพ” และ “นุ่มนวล”

“ประเด็นของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่จะให้หรือไม่ให้บริการใคร แต่ประเด็นอยู่ที่ถ้อยคำในการสื่อสารมากกว่า  การบอกตรงไปตรงมาว่าไม่ให้บริการคนกลุ่มไหน อาจส่งผลกระทบในเรื่องภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวบ้าง ดังนั้น การเลือกหาถ้อยคำมา บอกกล่าว เป็นสิ่งที่ควรคำนึง” นักการตลาดอาวุโส ให้ความเห็น

และฝากไว้ด้วยว่า

“การบอกว่า อาหารหมด เป็นถ้อยคำหนึ่งที่หลีกเลี่ยงการบอกว่า ไม่รับคนจีนและต่างชาติ หรืออาจจะขึ้นป้ายว่า  ต้องขออภัย สำหรับลูกค้าที่จองมาก่อนหน้าเท่านั้น น่าจะเป็นถ้อยคำเหมาะสมที่ผู้ประกอบการ พึงเลือกใช้มากกว่า”