พาแอ่วเมืองเหนือ เยือนถิ่นผ้างาม ไหว้พระขอพร ริมแม่น้ำสะแกกรัง

พาแอ่วเมืองเหนือ เยือนถิ่นผ้างาม ไหว้พระขอพร ริมแม่น้ำสะแกกรัง

“เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” มีโอกาสได้รับเชิญจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้ร่วมเดินทางไปยังจังหวัดอุทัยธานี ในโครงการกิจกรรม “ผ้างามเล่าเมืองเหนือ” จึงถือโอกาส พาลูกเพจไปแอ่วเมืองเหนือด้วยกันเสียเลย

เริ่มต้นออกเดินทาง โดยรถตู้ปรับอากาศในเวลาเช้าตรู่ ใช้เวลาเดินทาง จากกรุงเทพฯ ถึงอุทัยธานี ประมาณ 3 ชั่วโมง เมื่อถึงที่หมาย ได้เจอกับอาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ อดีตคณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี รวมถึงเป็นวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย ออกมาต้อนรับและจะมาเป็นวิทยากรให้ข้อมูลด้านประวัติศาสตร์กับคณะตลอดการเดินทาง

ภารกิจแรกที่อุทัยธานี อาจารย์เผ่าทองได้พาคณะไปสักการะพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกนาถ รัชกาลที่ 1 อาจารย์เผ่าทอง เล่าถึงประวัติความเป็นมาให้ฟังว่า พระราชหัตถเลขานี้ เป็นสิ่งยืนยันได้ว่า พระราชบิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาาช ซึ่งเป็นพระปฐมบรมมหาชนกแห่งราชวงศ์จักรีนั้น ได้ประสูติที่หมู่บ้านสะแกกรัง เมืองอุทัยธานี และสืบเชื้อสายมาจากขุนนางกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งทรงหมายถึง เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ราชทูตคนสำคัญของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงเป็นที่เคารพบูชาและเป็นความภาคภูมิใจของชาวอุทัยธานีเป็นอย่างมาก

โดยพระราชานุสาวรีย์ เป็นรูปหล่อขนาด 2 เท่าพระองค์จริง ประทับบนแท่น พระหัตถ์ซ้ายถือดาบประจำตำแหน่งเจ้าพระยาจักรีทั้งฝัก วางบนพระเพลาซ้าย ส่วนพระหัตถ์ขวาวางบนพระเพลาขวา โดยมีพานวางพระมาลาอยู่ด้านขวา

อาจารย์เผ่าทอง พาลงเขามาที่วิหารพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ ณ วัดสังกัสรัตนคีรี เพื่อกราบนมัสการ “พระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์” พระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย ซึ่งเป็นศิลปะแบบสุโขทัย

อาจารย์เผ่าทอง กำลังเล่าประวัติความเป็นมาของวัดอุโบสถาราม ศาสนสถานเก่าแก่ริมแม่น้ำสะแกกรัง

ไปต่อกันที่ วัดโบสถ์ หรือ วัดอุโบสถาราม ศาสนสถานเก่าแก่ริมแม่น้ำสะแกกรัง ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองอุทัยธานีมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายในพระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปประทับนั่ง ปางมารวิชัย 5 องค์ มองไปรอบๆ ด้านในอุโบสถจะเห็นว่า ผนังทั้ง 4 ด้าน มีจิตรกรรมฝาผนัง ที่พูดถึงเรื่องราวประวัติของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่ประสูติจนถึงปรินิพพาน โดยบางส่วนของจิตรกรรมฝาผนัง มีการชำรุดหลุดลอกไปตามกาลเวลา แต่ลวดลายยังคงไว้ซึ่งความสวยงามให้นักท่องเที่ยวได้มาชื่นชมกัน

จิตรกรรมฝาผนัง ที่พูดถึงเรื่องราวประวัติของพระพุทธเจ้า ของวัดอุโบสถาราม

สถานที่ต่อมา อาจารย์เผ่าทองพาไปเยี่ยมชม กลุ่มทอผ้าลาวครั่งโคกหม้อ ที่มีการสืบสานเทคนิคการทอผ้าแบบ “กี่มือ” ซึ่งถือเป็นการทอผ้าแบบโบราณ อีกทั้ง มีการนำ “เส้นไหม” เข้ามาประยุกต์ใช้ในการทอ ผ้าทอของที่นี่ เป็นผ้ามัดหมี่ต่อตีนจก ผ้ายกดอกลายเชิงแบบเก่า ที่มีลวดลายแบบโบราณ เช่น ลายด่านเมืองลาว ลายนาค ลายด่านใหญ่ เป็นการคงไว้ซึ่งลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น

ชาวบ้านกลุ่มทอผ้าลาวครั่งโคกหม้อ ให้การต้อนรับคณะเยี่ยมชม

ผ้าทอของกลุ่มทอผ้าลาวครั่งโคกหม้อ

มาต่อกันที่ ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาด้านหม่อนไหม ที่หมู่ 6 ตำบลทัพหลวง เพื่อเยี่ยมชมแปลงสาธิตการปลูกหม่อน การเลี้ยงไหม และวิธีการสาวเส้นไหมแบบพื้นบ้าน ตั้งแต่การต้มไหมและการสาวไหมให้เป็นเส้น โดยมีชาวบ้านคอยสาธิตให้ชมกันอย่างครื้นเครง

การต้มและสาวไหม

จากนั้นอาจารย์เผ่าทองพาไปปิดท้ายทริปกันที่ ชุมชนหัตถกรรมทอผ้า กลุ่มทอผ้าลาวครั่งบ้านนาตาโพ ซึ่งอยู่ในเขตตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านไร่ เอกลักษณ์หรือจุดเด่นของกลุ่มทอผ้าลาวครั่งบ้านนาตาโพ คือผ้าซิ่นฝ้าย โดยทางกลุ่มใจดี มีการสาธิตวิธีการทอผ้าซิ่นฝ้ายลายโบราณ ตั้งแต่การเข็นฝ้าย ตีฝ้ายให้เป็น ไปจนถึงการสาวฝ้ายเพื่อเตรียมนำไปทอเป็นผ้าซิ่นให้ทางคณะได้ชมและลองลงมือทอกันด้วย

การเข็นฝ้าย
การตีฝ้าย

เรียกได้ว่าเป็นทริปที่ได้ทั้งไหว้พระขอพร เยี่ยมชมประวัติศาสตร์และจิตกรรมฝาผนังอายุหลายร้อยปี และได้ความรู้ในการทอผ้าแบบโบราณของชุมชน ตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งสนุกและอิ่มบุญ แถมได้ความรู้แบบครบสูตรกันเลยทีเดียว