ผู้เขียน | มิสมิลเลียนแนร์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เฟอร์นิเจอร์ไฮเทค-ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ “เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ธุรกิจจำต้องปรับตัว”
เทคโนโลยีแทรกซึมเข้าไปในส่วนต่างๆ ของชีวิตผู้คนมากขึ้น ไม่ใช่แค่การสื่อสาร แต่ยังรวมถึงการใช้ชีวิตตั้งแต่ตื่นนอนไปจนถึงเข้านอน
ที่ผ่านมา เวลาพูดถึงเฟอร์นิเจอร์ ผู้คนก็มักจะนึกถึงความคงทนในการใช้งาน แต่ทุกวันนี้ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยสร้างสรรค์ที่อยู่อาศัยแบบสมาร์ต กำลังเป็นทางเลือกของคนรุ่นใหม่มากขึ้น
“โอริ” (Ori) ระบบเฟอร์นิเจอร์หุ่นยนต์ เป็นตัวอย่างหนึ่งของเทรนด์เฟอร์นิเจอร์ไฮเทคที่หลายคนให้ความสนใจ เพราะสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้หลากหลาย และตอบโจทย์การอยู่อาศัยในเมืองใหญ่ ซึ่งขนาดพื้นที่มีจำกัด โดยเฉพาะในคอนโดมิเนียม หรืออพาร์ตเมนต์
โครงหลักของเฟอร์นิเจอร์โอริสามารถขยับตำแหน่งได้ รวมทั้งมีเตียงนอนซ่อนอยู่ และเน้นเฟอร์นิเจอร์แบบพับได้ จึงช่วยให้ประหยัดพื้นที่
เราสามารถสั่งการโอริ ด้วยเสียง หรือกดปุ่มบนเครื่องควบคุม หรือสั่งผ่านโทรศัพท์มือถือ ให้มันเลื่อนเตียงนอนเก็บซ่อนไว้ เพื่อจะขยับถอยหลังเข้าไปชิดกำแพง ช่วยเพิ่มพื้นที่ด้านหน้าสำหรับนั่งเล่น ปาร์ตี้กับเพื่อนๆ หรือปูเสื่อเล่นโยคะ
ถ้าจะใช้ตู้เสื้อผ้าที่อยู่เหนือเตียง หรือนั่งอ่านหนังสือแบบหลบมุม ก็แค่สั่งให้โอริเลื่อนออกมา
ขณะที่อีกด้านติดตั้งทีวี โต๊ะทำงาน พร้อมช่องเก็บของต่างๆ รวมทั้งมีช่องใส่ของและแขวนสิ่งต่างๆ ด้านข้าง เรียกว่าใช้ประโยชน์ได้ทุกมุม
“บัมเบิลบี สเปเซส” เป็นบริษัทอีกรายที่คิดค้นระบบเฟอร์นิเจอร์แบบปัญญาประดิษฐ์ โดยใช้การยกเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ขึ้นมาแขวนเก็บเหนือศีรษะ หรือขยับลงมาตั้งที่พื้นเวลาใช้งาน เพียงแค่กดปุ่มที่อุปกรณ์ควบคุม หรือสั่งการด้วยเสียง
แนวคิดในการยกเฟอร์นิเจอร์ขึ้นไปเก็บที่เพดานจะช่วยให้มีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น และสายยึดของบัมเบิลบีสามารถรองรับน้ำหนักได้อย่างน้อย 118 กิโลกรัม
นอกจากนี้ ยังมีระบบเซ็นเซอร์ความปลอดภัย ที่จะหยุดระบบการเลื่อนของเฟอร์นิเจอร์ หากมีคนเดินผ่านข้างใต้
ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์บางรายมองว่า ระบบเฟอร์นิเจอร์อัจฉริยะเหล่านี้ช่วยให้ผู้พักอาศัยอยู่ในห้องได้นานขึ้น เพราะสามารถใช้งานพื้นที่ได้หลากหลายรูปแบบ และไม่จำเป็นต้องกั้นห้องนอนอีกต่อไป
ส่วนบริษัทอื่นๆ ก็คิดค้นนวัตกรรมเฟอร์นิเจอร์ที่ช่วยให้ชีวิตสะดวกขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่นอนแบบพับได้ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะอย่างเตาไมโครเวฟและตู้เย็นที่ติดตั้งระบบ WiFi ทำให้สามารถสั่งอบไก่ตั้งแต่เรายังอยู่ที่ออฟฟิศ รวมถึงแวะซื้อของกินต่างๆ ที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต เพราะตู้เย็นแจ้งเตือนทางมือถือว่า นมหมดแล้ว
แม้แต่แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ยักษ์ใหญ่ของโลก “อิเกีย” ก็ยังต้องหันมาจับมือกับบรรดาสตาร์ตอัพที่พัฒนาเฟอร์นิเจอร์อัจฉริยะ เพื่อดึงดูดผู้บริโภครุ่นใหม่ และรองรับไลฟ์สไตล์ที่ไฮเทคขึ้น
“บัมเบิลบี สเปเซส” เป็นหนึ่งในบริษัทที่อิเกียส่งเทียบเชิญให้ร่วมในโครงการนี้ เพราะระบบเฟอร์นิเจอร์หุ่นยนต์ของบัมเบิลบี รวมถึงเซ็นเซอร์ที่ช่วยระบุพิกัดการวางของ ช่วยให้ผู้ใช้หาของได้สะดวกขึ้น ไม่ว่าจะเป็นไม้เทนนิสที่แขวนอยู่หลังตู้ หรือรองเท้าวิ่งที่วางอยู่ใกล้ประตู
อิเกีย เพิ่งพัฒนาโต๊ะอัจฉริยะต้นแบบ โดยจับมือกับ “แบร์ คอนดักทีฟ” ทำให้ผู้ใช้สั่งปรับ เพิ่ม หรือลดแสงไฟในห้องได้เพียงแค่โบกมือเหนือโต๊ะ
นอกเหนือจากความไฮเทค ผู้บริโภครุ่นใหม่ยังเอาใจใส่โลกมากขึ้น แถมเบื่อง่าย ประกอบกับเทรนด์เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) ทำให้ไม่ยึดติดกับการครอบครองเป็นเจ้าของสิ่งต่างๆ แต่หันมาเช่าใช้แทนการซื้อขาด
“อิเกีย” ประกาศนำร่องบริการให้เช่าเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งจะเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่ไม่ยึดติดกับการเป็นเจ้าของ และผู้ที่ย้ายที่อยู่บ่อยๆ แต่ไม่สามารถซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่ได้ทุกครั้ง
อิเกีย ทดลองบริการให้เช่าในเนเธอร์แลนด์ และตั้งเป้าหมายที่จะขยายไปยัง 30 ตลาดภายในปีหน้า
บริการให้เช่าของอิเกียเน้นตอบโจทย์ผู้บริโภค 3 เรื่อง คือ ราคาไม่ไกลเกินเอื้อม สะดวกขึ้น และใส่ใจโลก
ก่อนหน้านี้ “เรนต์ เดอะ รันเวย์” บริษัทให้เช่าเสื้อผ้าออนไลน์ ก็จับมือกับบริษัท “วิลเลียมส์-โซโนมา อิงค์” ผุดบริการให้เช่าของตกแต่งบ้าน
นอกจากนี้ ยังมีไอเดีย “เช่าซื้อ” อย่างกรณีของบริษัทเฟเธอร์ที่ปล่อยเช่าโซฟา แบรนด์เวสต์ เอล์ม ราคาเต็ม 899 ดอลลาร์ โดยให้เช่าในราคา 52 ดอลลาร์ ต่อเดือน หากเช่าใช้ก่อนตัดสินใจซื้อ ก็จะจ่ายเพียง 275 ดอลลาร์
เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ภาคธุรกิจก็จำเป็นต้องปรับตัวให้ทัน
……….
ที่มาภาพ : อินเตอร์เน็ต