เกษตรกรคนนครเพาะ “เห็ดหลินจือ” ต่อยอดแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลาย

เทือกเขานครศรีธรรมราชประกอบด้วยเทือกเขาที่สลับซับซ้อน และมีเขาหลวงเป็นยอดเขาสูงสุด มีความสูงประมาณ 1,835 เมตรจากระดับน้ำทะเลซึ่งสูงที่สุดในภาคใต้ “เขาหลวง” ยังมีสภาพเป็นป่าดงดิบชื้นและป่าดิบเขา และยังเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำ ลำธาร สัตว์ป่าหายาก รวมทั้งพืชพรรณนานาชนิด พืชชนิดหนึ่งที่จะนำมาให้รู้จักในวันนี้คือ “เห็ดหลินจือ” ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะเจริญงอกงามในสภาพป่าเขตร้อนอย่างภาคใต้ได้

เมื่อขับรถผ่านอำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช จะมีซอยเล็กๆ หน้าการไฟฟ้าพรหมคีรีผ่านเป็นทางเข้าสวนที่ข้างทางรายล้อมไปด้วยต้นมังคุด ทุเรียน และผลไม้นานาชนิด ทางเข้าเล็กๆ แห่งนี้นำเรามาสู่โรงเพาะเห็ดนานาพันธุ์ชื่อ “หนานตาทองฟาร์ม” โดยมี “พี่เกรียง” ยืนรอเราอยู่หน้ากระท่อมที่แกเรียกว่า “บ้าน”เมื่อทักทายกันแล้วเราก็อยากจะทราบถึงความเป็นมาของฟาร์มเพาะเห็ดของที่นี่

พี่เกรียง หรือ คุณเกรียงศักดิ์ ชูประสูติ เล่าให้ฟังว่า ครอบครัวของตนเองเป็นเกษตรกรมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จึงทำการเกษตรมาตลอด โดยเริ่มทำฟาร์มเพาะเห็ดเมื่อปี พ.ศ. 2537 โดยเพาะทั้งเห็ดหูหนู เห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง เห็ดเป๋าฮื้อ ฯลฯ จนกระทั่งเริ่มเพาะเห็ดราคาแพงอย่าง “เห็ดหอม” และประสบความสำเร็จจึงหันมาสนใจในการเพาะเห็ดหลินจือซึ่งได้ค้นคว้าศึกษาด้วยตนเองจึงพบว่าเห็ดหลินจือมีสรรพคุณในการช่วยบำรุงร่างกายและรักษาสารพัดโรค “พี่ได้แรงบันดาลใจในการเพาะเห็ดหลินจือมาจากอาการป่วยของแม่ที่เป็นทั้งไขมันและเบาหวาน เมื่อได้ศึกษาจึงได้พบว่าเห็ดหลินจือมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยลดอาการเหล่านี้ได้”

จากการศึกษาเรื่องความเป็นมาของเห็ดหลินจือที่มีต้นกำเนิดจากประเทศจีนมากว่า 2,000 ปี ทำให้พี่เกรียงเชื่อมั่นในสรรพคุณทางยาของพืชชนิดนี้ “ประเทศจีนเขากินเห็ดหลินจือกันมานานมากแล้ว ในตำราเขาบอกว่ามีการนำเห็ดหลินจือมาใช้เป็นยาอายุวัฒนะในราชวงศ์ และเริ่มต้นเพาะเห็ดหลินจือจากการเห็นเห็ดหลินจือขึ้นที่ตอไม้ข้างฟาร์มก่อนซึ่งเป็นเชื้อธรรมชาติที่มันขึ้นเองที่ตอไม้ที่บ้านเรานี่แหละจึงไปเก็บมา คิดว่าน่าจะขึ้นได้ดีในฟาร์มของเรา”

โดยการเพาะเห็ดหลินจือของพี่เกรียงนั้น เริ่มต้นจากการเพาะในฟาร์มและนำเห็ดหลินจือดอกแรกที่ได้ไปลองเพาะบนเขาหลวงก่อนเนื่องจากมีสภาพอากาศที่ดี “ในการเพาะครั้งแรกเราพาเขาไปเปิดดอกบนเขาหลวงเพราะไม่แน่ใจว่าเขาจะขึ้นได้ดีหรือไม่ แต่พอออกดอกสวยงามจึงนำมาไว้ที่ฟาร์มคือหนานตาทองฟาร์มที่นี่ เราก็เพาะที่บ้านแบบชีวภาพไม่ใช้สารเคมีใดๆ ผลผลิตที่ได้ก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดี เห็ดหลินจือที่ได้มีขนาดดอกแรกเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-6 นิ้ว”

สำหรับสายพันธุ์ที่พี่เกรียงใช้เพาะนั้นเป็นเห็ดหลินจือแดงสายพันธุ์ G2 ซึ่งนำมาทดลองแล้วเหมาะกับสภาพแวดล้อมในบ้านเราที่อยู่ในเขตร้อน “เชื้อเห็ดหลินจือมีอยู่ในธรรมชาติอยู่แล้ว สรรพคุณทางยาบางอย่างทางเขตร้อนดีกว่าเขตหนาว จะเห็นได้จากพืชพันธุ์สมุนไพรที่ใช้เป็นยาที่ดีได้ส่วนมากจะอยู่ในเขตแถบเส้นศูนย์สูตรเกือบทั้งหมด”

จากการทำฟาร์มเห็ดมากว่า 20 ปี แม้จะล้มลุกคลุกคลานไปบ้างแต่พี่เกรียงก็ยังเชื่อมั่นว่าจะสามารถเพาะเห็ดหลินจือได้ดีหากรู้จักปรับระบบนิเวศน์รอบบ้านให้สมดุล “พี่เคยชินกับคำต่อว่าของคนว่าจะทำได้หรือเปล่า เมื่อก่อนตอนทำเห็ดหอมก็มีคนพูดแบบนี้ แต่พี่เชื่อว่า คนพูดจะไม่ลงมือทำ คนทำจะทำอย่างเดียวและพี่ก็เชื่อมั่นว่าเราทำได้ ปัญหาในการเพาะเห็ดหลินจือของบ้านเราคือหน้าฝนอากาศจะชื้นมาก แต่เห็ดหลินจือชอบแดดบ้างจึงต้องติดตั้งระบบไฟให้ในฟาร์มเพราะฟาร์มเราอยู่ใกล้เขาหลวงจะมักมีความชื้นเกือบตลอดทั้งปี แต่อย่างอื่นๆ ก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไรในการเพาะพันธุ์”

ด้านกรรมวิธีในการเพาะเห็ดหลินจือนั้น พี่เกรียง เล่าอีกว่า “เมื่อเพาะเห็ดหลินจือจะใช้เวลาให้ดอกเห็ดบานเต็มที่ประมาณ 45 วัน จากนั้นจึงจะสามารถเก็บเห็ดนำมาแปรรูป เช่น ด้วยการอบแห้งและบรรจุถุงจำหน่ายเพื่อนำไปต้มเป็นชาเห็ดหลินจือโดยใช้วิธีสกัดร้อนดื่มชงกินเพื่อรักษาสุขภาพ”

สำหรับหนานตาทองฟาร์มของพี่เกรียงยังมีการแปรรูปเห็ดหลินจือเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อีกมากมาย เช่น น้ำเอนไซม์เห็ดหลินจือแดง โดยมีกรรมวิธีในการทำคือการนำหัวเชื้อจุลินทรีย์หมักกับเนื้อเห็ดหลินจือแดงในโอ่งมังกร โดยใช้เวลาหมักถึง 6 เดือนเพื่อให้ได้คุณภาพที่ดีที่สุด นอกจากนี้ ยังมีการเก็บสปอร์เห็ดดอกหลินจือ นำมาเติมในน้ำเอนไซม์อีกด้วย