คนเลี้ยงสุนัขควรรู้ไว้ ถ้าตูบที่เลี้ยงตั้งท้อง จะรับมืออย่างไร

เจ้าของสุนัขหลายท่านคงมีข้อสงสัยมากมายว่า ก่อนให้สุนัขตั้งท้อง จะต้องเตรียมตัวสุนัขอย่างไร พอตั้งท้องแล้ว ต้องทำอย่างไรบ้าง และช่วงที่เขาจะคลอดจะทำยังไงดี เป็นข้อสงสัยที่ต้องการคำตอบ และหาแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องใช่มั้ยคะ

งั้นหมอขอกล่าวถึงการเตรียมตัวแม่สุนัขก่อนตั้งท้องให้ทราบกันนะคะ

การที่จะให้สุนัขที่เราเลี้ยงไว้ตั้งท้องนั้น นอกจากเราจะต้องคำนึงถึงเรื่องของการเลือกพ่อพันธุ์แล้ว เราซึ่งเป็นผู้เลี้ยงยังควรจะต้องหาข้อมูลและทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสรีระของสุนัข วงรอบการเป็นสัด รวมถึงสิ่งที่เราต้องระวังในขณะที่สุนัขตั้งท้อง รวมไปถึงช่วงใกล้คลอดด้วย เพื่อเราจะได้วางแผนการตั้งท้องของสุนัขได้ถูกต้องนะคะ

การที่สุนัขเป็นสัด

โดยธรรมชาติแล้วสุนัขมักจะแสดงอาการเป็นสัดทุกๆ 6-8 เดือน โดยช่วงเวลาเป็นสัดจะมีระยะเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ซึ่งในช่วงที่น้องหมาของเราเป็นสัดนั้น เราจะสังเกตได้ว่าน้องหมาจะมีอาการผิดปกติต่างๆ เช่น มีอาการบวมแดงของอวัยวะเพศภายนอก และมีเลือดออกจากอวัยวะเพศนานประมาณ 10-14 วัน ในช่วงนี้น้องหมาตัวผู้จะแสดงพฤติกรรมสนใจตัวเมียมากกว่าปกติ

เมื่อไหร่ถึงจะให้น้องหมาผสมพันธุ์กันได้

ช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดสำหรับการเปิดโอกาสให้สุนัขผสมพันธุ์กันมักจะอยู่ในช่วง 10-14 วัน ภายหลังการเริ่มต้นการเป็นสัด ซึ่งในเรื่องของระยะเวลานั้นอาจมีการคลาดเคลื่อนบ้างเล็กๆ น้อยๆ โดยจะมีปัจจัยในด้านอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น สิ่งแวดล้อมรอบข้าง หากเป็นสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคยอาจทำให้สุนัขมีความพร้อมในการผสมพันธุ์มากขึ้น และถ้าคุณผู้เลี้ยงอยากให้แน่ใจ ก็สามารถตรวจหาช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการผสมพันธุ์ ได้โดยวิธีการตรวจเซลล์เยื่อบุช่องคลอด หรือการตรวจหาระดับฮอร์โมนในกระแสเลือดเพื่อระบุวันที่เหมาะสมในการผสมพันธุ์

ช่วงเวลาตั้งท้อง

โดยปกติแล้วการตั้งท้องของสุนัขจะมีระยะเวลาประมาณ 60-65 วัน และถ้าคุณผู้เลี้ยงอยากให้แน่ใจว่าสุนัขของเราตั้งท้องจริงๆ การตรวจการตั้งท้องของสุนัขก็ทำได้หลายวิธีค่ะ คือ

  1. ในช่วง 25-30 วัน สามารถคลำพบก้อนกลมๆ ในช่องท้อง แต่ก็จะคลำตรวจได้ลำบากในสุนัขตัวโต หรือสุนัขที่อ้วน ซึ่งเราอาจทำการตรวจยืนยันได้โดยการอัลตราซาวนด์ก็ได้นะคะ
  2. การตรวจด้วยภาพเอกซเรย์ สามารถตรวจได้ภายหลังการตั้งท้อง 45 วัน โดยวิธีการนี้จะเป็นวิธีที่สามารถทำให้เราประเมินได้ด้วยว่ามีลูกสุนัขในท้องกี่ตัว นอกจากนี้ ยังสามารถประเมินปัญหาการคลอดยากได้อีกด้วยล่ะค่ะ

อาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับสุนัขในช่วงใกล้คลอด

ในช่วงใกล้คลอดสุนัขอาจมีอาการเบื่ออาหาร หรืออาจจะกินอาหารลดลงในช่วง 24 ชั่วโมงก่อนคลอด นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมที่กระวนกระวายและเริ่มหาที่สงบๆ อยู่เพื่อทำการสร้างรัง ในระยะนี้เมื่อบีบเต้านมของแม่สุนัขอาจพบว่ามีน้ำนมไหลออกมา และร่างกายของแม่สุนัขจะเริ่มมีอุณหภูมิต่ำกว่า 100 องศาฟาเรนไฮต์ค่ะ

สุนัขจะคลอดแล้ว…ทำยังไงดี

ในระหว่างการคลอดแม่สุนัขจะกระวนกระวายมาก จะมีอาการหายใจหอบและจะเริ่มเบ่ง ซึ่งโดยปกติแล้วสุนัขจะมีสัญชาตญาณในการคลอดลูกและช่วยเหลือลูกได้เอง แต่ในสุนัขพันธุ์เล็กนั้นเจ้าของจะต้องดูแลใกล้ชิดเป็นพิเศษเพราะเขาอาจคลอดลูกเองได้ค่อนข้างลำบาก ให้สังเกตดูว่า ถ้าสุนัขเบ่งเกินกว่า 20 นาทีโดยไม่พบว่าคลอดลูกสุนัขออกมา และพบว่าถุงน้ำคร่ำติดอยู่ตรงช่องคลอดนานเกินกว่า 10 นาที แม่สุนัขเริ่มไม่มีอาการเบ่ง แต่กลับเซื่องซึมมากกว่าปกติ มีอุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 103 องศา หรือพบว่ามีเลือดไหลออกจากช่องคลอดหลังการเบ่งนานติดต่อกันเกินกว่า 10 นาที เราควรรีบนำสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการช่วยเหลือโดยเร่งด่วนนะคะ

เราสามารถช่วยแม่สุนัขระหว่างการคลอดได้หรือเปล่า

สำหรับการช่วยเหลือในเบื้องต้นนั้น ถ้าหากพบว่ามีลูกสุนัขหรือถุงน้ำคร่ำติดอยู่บริเวณช่องคลอดของแม่สุนัข ให้เราช่วยเหลือโดยการดึงถุงน้ำคร่ำหรือลูกสุนัขออกมาเบาๆ จากนั้นฉีกถุงน้ำคร่ำด้วยเศษผ้าหรือผ้าก๊อซ ต่อด้วยการใช้ผ้าช่วยเช็ดตัวลูกสุนัขเบาๆ เพื่อช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต กระตุ้นการหายใจ และทำให้ตัวลูกสุนัขแห้งมากขึ้น เมื่อลูกสุนัขปลอดภัยแล้ว ให้ผูกสายสะดือด้วยด้ายหรือไหมที่สะอาด โดยผูกห่างจากสะดือประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ตัดด้วยกรรไกรหรือใบมีดที่สะอาด และแต้มบริเวณสะดือของลูกสุนัขด้วยเบตาดีนค่ะ

เป็นไงบ้างคะ การเตรียมตัวแม่สุนัข และการเตรียมตัวของเจ้าของสุนัขก่อนคลอด ท่านผู้อ่านน่าจะทำได้ใช่มั้ยคะ ฉบับหน้า หมอจะมาบอกถึงรายละเอียดของขั้นตอนการคลอดกันนะคะ