เลี้ยงไก่โคราช ตลาดสดใส ไขมันน้อย ตอบโจทย์คนรักสุขภาพ

ไก่เนื้อโคราชปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันมากพอสมควร แต่เชื่อว่ายังมีผู้คนบางส่วนที่ไม่รู้จัก ดังนั้น ก่อนจะไปเยี่ยมชมฟาร์มของเกษตรกร มาทำความรู้จักกับเจ้าไก่พันธุ์นี้กันก่อน

  ผศ.ดร.อมรรัตน์ โมฬี อาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เล่าว่า โครงการวิจัยการสร้างสายพันธุ์ไก่เนื้อโคราช เริ่มต้นเมื่อปี 2552 เป็นความร่วมมือระหว่าง มทส. กับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ กรมปศุสัตว์ ตอนนี้ก็มีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้ามาร่วมด้วย โดยมีเกษตรกรในโครงการได้รับประโยชน์จากผลงานวิจัยดังกล่าว แต่เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีข้อจำกัดเรื่องการผลิตลูกไก่ ที่ผลิตได้แค่ 44,000 ตัว ต่อเดือน จึงทำให้เกษตรกรที่สนใจหลายรายไม่สามารถซื้อลูกไก่ไปเลี้ยงได้ตามที่ต้องการ

 ต้องการหาคนเพาะลูกเจี๊ยบ

ผศ.ดร.อมรรัตน์ ให้ข้อมูลของไก่ชนิดนี้ว่า เป็นไก่ลูกผสมพื้นเมืองที่มีพ่อพันธุ์เป็นไก่พื้นเมืองเหลืองหางขาว และแม่พันธุ์ไก่สายพันธุ์ มทส. เนื้อที่ได้จึงมีความเหนียวนุ่ม ปัจจุบันมีเกษตรกรที่เลี้ยงไก่ขยายไปในหลายจังหวัดแล้วนอกจากที่นครราชสีมา ก็มีที่ศรีสะเกษ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ มหาสารคาม และยโสธร จึงอยากหาผู้ประกอบการที่สนใจเพาะลูกเจี๊ยบเพื่อให้ได้ตามจำนวนเป็นแสนตัวตามที่เกษตรกรต้องการเลี้ยง

“สิ่งที่เราอยากจะให้เกิดขึ้นต่อไปคือ อยากประชาสัมพันธ์เชิงรุก เชิญชวนผู้ประกอบการที่จะเป็นผู้เอาพ่อแม่พันธุ์ของมหาวิทยาลัยไปเลี้ยง เพื่อผลิตลูกไก่อายุ 1 วัน ไปจำหน่าย เพื่อเป็นการกระจายโอกาสเรื่องของลูกพันธุ์ให้ทั่วถึงมากกว่านี้ และแบ่งเบาภาระของมหาวิทยาลัยที่เป็นอยู่”

ผศ.ดร.อมรรัตน์ บอกว่า ไก่เนื้อโคราชสามารถเลี้ยงในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศได้ แม้เป็นพื้นที่แห้งแล้ง เพราะใช้น้ำเพียง 1-1.5 ลิตร ต่อตัว ด้านการลงทุนในการสร้างโรงเรือนราคาอยู่ที่ 5,000-30,000 บาท ขึ้นอยู่กับจำนวนไก่ที่เลี้ยง โดยลูกไก่อายุ 1 วัน ราคาหน้าฟาร์ม ขายตัวละ 19 บาท ต้นทุนการผลิตไก่มีชีวิตต่อกิโลกรัมประมาณ 60-65 บาท มีผลผลิตไข่ต่อตัวต่อปีประมาณ 180-200 ฟอง ไก่เป็นขายได้กิโลกรัมละ 80-85 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าไก่เนื้อทั่วไป ใช้เวลาเลี้ยง 2 เดือน ผู้สนใจสอบถามได้ที่ โทรศัพท์ (044) 224-569 หรือ (080) 361-2852

“เวลานี้ คนรู้จักไก่โคราชเยอะขึ้น โดยเฉพาะแวดวงของเกษตรกรและผู้บริโภค อย่างในจังหวัดนครราชสีมาเอง ถ้าพูดถึงไก่โคราชเขาจะรับรู้ในแง่ของจุดแข็งของเนื้อไก่ ที่มีความโดดเด่นเรื่องความเหนียวนุ่ม ชุ่มฉ่ำ ติดสปริง อร่อยแบบไก่ไทย โตวัยเหมือนไก่ฝรั่ง เป็นเนื้อไก่เพื่อสุขภาพ ตอบโจทย์สำหรับคนที่รักสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ที่มีโปรตีนสูง มีคอลลาเจนสูง แต่มีไขมันและคอเลสเตอรอลต่ำ”

ผศ.ดร.อมรรัตน์ มองว่า การทำธุรกิจเกี่ยวกับไก่โคราชทั้งในแง่การเลี้ยงและการจำหน่าย ถ้าวิเคราะห์ในส่วนผู้บริโภค พบว่า กระแสปัจจุบันให้ความสำคัญเกี่ยวกับการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ขณะที่เนื้อไก่โคราชถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ของคนกลุ่มนี้ ฉะนั้น ตลาดในอนาคตย่อมเป็นตลาดที่สดใสแน่นอน

เลิกเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่แทน

ทีนี้มาคุยกับเกษตรกรตัวจริงเสียงจริงกันบ้าง “คุณสมบัติ เทพทอง” อายุ 48 ปี อยู่อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา เล่าว่า เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เขาเคยเลี้ยงหมูพ่อแม่พันธุ์มาก่อน ในจำนวนเกือบ 100 ตัว แต่ด้วยความที่ราคาขึ้นๆ ลงๆ เร็วมาก จึงตัดสินใจเลิก หันมาเลี้ยงไก่แทนหลังจากที่ได้อ่านนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านเกี่ยวกับการเลี้ยงไก่เนื้อโคราช จากนั้นเข้าอบรมการเลี้ยงที่ มทส.

“เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ผมเริ่มเลี้ยงครั้งแรก 100 ตัว ลงทุนไปประมาณ 7,000 กว่าบาท โดยสร้างโรงเรือนเอง ลงทุนค่าโรงเรือน 3,000 กว่าบาท ค่าไก่ตัวละ 19 บาท นอกนั้นเป็นค่าอาหาร ค่าวัสดุอุปกรณ์ในการเลี้ยง ชุดแรกลงไปเกือบหมื่น โดยทางมหาวิทยาลัยแนะนำคนมาซื้อให้ ราคาอยู่ที่ 70 บาท ต่อกิโลกรัม ได้น้ำหนักอยู่ประมาณ 1.2 กิโลกรัม ประมาณเกือบ 9,000 บาท ยังไม่ได้หักต้นทุน ถ้าหักต้นทุนได้กำไรอยู่ประมาณตัวละ 12-13 บาท จากนั้นเลยลงทุนสร้างอีกหลายโรงเรือน”

โรงเรือนเปิดธรรมดาของคุณสมบัติทำจากวัสดุพื้นบ้าน พวกหญ้าคา หลังหนึ่งตกประมาณ 25,000 บาท

ในช่วงแรกของการเลี้ยงนั้น เกษตรกรรายนี้บอกเจอปัญหาเรื่องตลาด เพราะไก่เป็นสีขาว แม่ค้าในพื้นที่ก็ติว่า ขนขาว เป็นไก่พันธุ์เนื้อเหมือนตามท้องตลาด จึงต้องทดลองขายในราคา 40-45 บาท ต่อกิโลกรัม อย่างไรก็ตาม พอแม่ค้าได้ชิมรสชาติก็ยอมรับว่าเหมือนไก่พื้นบ้าน แต่ติแค่ขนสีขาวเท่านั้นเอง

นอกจากจะขายไก่เป็นๆ ที่นครราชสีมาแล้ว ทางน้องสาวของคุณสมบัติที่อยู่กรุงเทพฯ ยังนำไปขายด้วย โดยขายส่งเป็นไก่ดิบสำเร็จรูป ตัวละ 115 บาท น้ำหนัก 1.2 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าได้ราคาดีทีเดียว เฉลี่ยขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 90 บาท แต่ถ้าขายในพื้นที่ในรูปไก่เป็นขายกิโลกรัมละ 75 บาท

ตอนนี้คุณสมบัติมีโรงเรือน 11 โรง มีไก่โรงเรือนละ 600 ตัว แต่ไม่ได้เลี้ยงครบทุกโรงเรือน จะปล่อยให้ว่าง 1 โรงเรือน เพื่อพักและทำความสะอาด ซึ่งที่ผ่านมาเขาลงทุนไปประมาณ 400,000 บาท โดยส่วนหนึ่งเป็นเงินกู้จาก ธ.ก.ส. คาดว่าอีก 3-4 ปีน่าจะคืนทุน เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่ขยายโรงเรือนไปเรื่อยๆ พอได้เงินมาก็ขยายต่อ ซึ่งต้องขยายอีก 4 โรงเรือน เนื่องจากมีลูกค้าในกรุงเทพฯ สั่งไก่เพิ่ม

ทยอยจับขายตั้งแต่ 60 วัน

เขาเล่าถึงวิธีการเลี้ยงไก่ว่า พอได้ลูกไก่มาจาก มทส. อายุวันเดียว ก็ทำการกกให้ความอบอุ่น ถ้าเป็นอากาศร้อนใช้เวลาสัปดาห์เดียว ถ้าเป็นหน้าหนาว 3 สัปดาห์ โดยใช้เครื่องกกที่ดัดแปลงขึ้นมาเองเป็นหลอดไฟไส้ธรรมดาร้อยแรงเทียนราคา 500 กว่าบาท ซึ่งในจำนวนไก่ 500-600 ตัว ใช้หลอดประมาณ 3 หลอด ส่วนใหญ่ลูกไก่รอด มีตายอยู่ 3-5 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากอากาศร้อน หรือโดนลมโดนฝนบ้าง

ส่วนการจับขาย ปกติตามโปรแกรมใช้เวลาเลี้ยง 70 วัน โดยจับพร้อมกันเลย แต่ของคุณสมบัติใช้วิธีทยอยจับ เริ่มจับที่อายุ 60 วัน เพราะมีไก่ที่น้ำหนักได้ แต่ถ้าจับพร้อมกันตอนครบ 70 วัน จะมีปัญหาในเรื่องตลาด อีกเหตุผลหนึ่งคือ มีไก่ที่โตเร็ว

ถามถึงปัญหาในการเลี้ยง เกษตรกรรายนี้บอกว่า ยังไม่เจอหนักๆ จะมีบ้างคือ โรคหวัด โรคท้องเสีย โรคบิด ซึ่งทาง มทส. แจ้งไว้แล้วว่าเป็นโรคประจำที่อยู่กับไก่ ถ้าไก่อ่อนแอเมื่อไหร่จะเป็นโรคพวกนี้ ทางมหาวิทยาลัยก็แนะนำตัวยา 2-3 ตัว แต่ราคาค่อนข้างแพง เช่น แอมโพรเลียม (Amprolium) รักษาโรคบิด ตัวนี้ลิตรละ 1,000 บาท แต่ถ้าควบคุมให้ไก่สมบูรณ์อยู่ตลอด เรื่องปัญหาเกี่ยวกับโรคจะน้อยมาก เนื่องจากเป็นลูกผสมไก่พื้นเมือง ทำให้มีความแข็งแรง

สำหรับปัญหาหลักๆ ที่คุณสมบัติเจอเป็นเรื่องการจิกกัน เพราะสายพันธุ์ของทางไก่โคราชเป็นไก่ชน ยังติดนิสัยความเป็นไก่ชนที่ชอบตีกัน แต่ก็ไม่มาก ทางแก้ที่ทาง มทส. แนะนำคือ ก่อนที่มีอายุสัก 10 วัน ต้องตัดปากไก่ ในส่วนที่มีจะงอยนิดเดียว ตัดแล้วจะไม่ค่อยจิกกัน

แนะเริ่มเลี้ยงมีหลักหมื่นก็พอ

เขาเปรียบเทียบการเลี้ยงไก่โคราชกับการเลี้ยงหมูว่า เลี้ยงไก่ดีกว่า เพราะการเลี้ยงหมูเกษตรกรไม่สามารถที่จะควบคุมราคาได้ แต่ถ้าเป็นไก่สามารถกำหนดราคาเองได้ ถ้าเกิดแม่ค้าในพื้นที่ให้ราคาต่ำก็ยังมีตลาดขายส่งกรุงเทพฯ พอส่งเชือดแล้วเก็บเข้าห้องเย็นรอจำหน่าย สามารถเก็บเพื่อรอราคาได้ ที่สำคัญ ไก่โคราชตลาดยังไปได้ดี มีแม่ค้าต้องการอีกเยอะ ซึ่งถ้าบริหารตลาดได้แล้ว กำไรอยู่ตัวหนึ่งไม่ต่ำกว่า 15 บาท

“ลูกค้าประจำของผมคือในพื้นที่ มีขาจรอยู่ชัยภูมิก็มี ต่างอำเภอก็มี แวะเวียนมาเรื่อยๆ ตอนนี้ขายไก่ส่งไปกรุงเทพฯ ยังน้อย เพราะไก่ที่จะส่งไปกรุงเทพฯ เป็นไก่ย่าง ต้องขายเป็นตัว น้ำหนักค่อนข้างแน่นอน น้ำหนักตายตัวต้อง 1 โล 2 ขีด ไม่เกิน 1 โล 3 ขีด เลยกลายเป็นปัญหาที่ต้องคัดไก่ แต่ก็มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นแล้ว จึงต้องขยายโรงเรือนอีก รวมลูกค้าในพื้นที่และในกรุงเทพฯ แล้วต้องการไก่สัปดาห์ละ 200-300 ตัว ซึ่งถือว่ายังมีจำนวนไม่มากนัก”

คุณสมบัติ ให้คำแนะนำว่า การเลี้ยงไก่ชนิดนี้ ถือว่าใช้พื้นที่น้อยมากและใช้น้ำน้อยด้วย ในพื้นที่ 1 ตารางเมตร ใช้ได้ถึง 8 ตัว อย่างไก่ทั้งหมด 3,000 ตัว ใช้น้ำอยู่ 300 ลิตร ต่อวัน ถือว่าใช้น้ำน้อย และคุณภาพไม่ต้องสูงมาก เพราะเป็นไก่ที่ค่อนข้างทนอยู่แล้ว รวมค่าเฉลี่ยต่อตัวอยู่ที่ 50-60 บาท ใช้เวลาการเลี้ยงทั้งหมด 70 วันก็สามารถจำหน่ายไก่ได้แล้ว แต่การลงทุนจะมาหนักรอบแรกที่ต้องมีค่าอุปกรณ์และโรงเรือน ซึ่งถ้าเริ่มเลี้ยงช่วงแรก 100 ตัว ลงทุนอยู่ที่ 11,000 บาท

  สนใจทำธุรกิจกับคุณสมบัติ หรือต้องการเข้าไปชมฟาร์มของเขา ติดต่อได้ที่ โทรศัพท์ (093) 924-8886