สาวนักเรียนนอก สบโอกาสทำธุรกิจขนม ขนผลไม้ไทยเพิ่มมูลค่า ทำ “เจลลี่” เคี้ยวหนึบหนับ บุกตลาดเอเชีย – ยุโรป

คุณสิริดา นาคทัต สาวไทยนักเรียนนอก จบกฎหมายจากอังกฤษ กลับเมืองไทยอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง อยากทำด้านอาหารแต่ยังมองภาพไม่ออกว่าจะทำธุรกิจอะไรดี ด้วยความเป็นสาวรุ่นใหม่จึงใช้ตัวช่วยในการตัดสินใจ ด้วยการเดินทางไปดูงานแสดงสินค้าอาหารในหลายประเทศทั่วโลก สำรวจซุปเปอร์มาร์เก็ตของประเทศต่างๆ ตลอดจนศึกษาเทรนด์หรือแนวโน้มของอาหารทั่วโลก สุดท้ายลงตัวที่ “กัมมี่” เพราะมองว่าขนมขบเคี้ยวเป็นตลาดที่โตขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ขนม “กัมมี่” หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า “เจลลี่” มีลักษณะเหนียวๆ เคี้ยวแล้วหนึบหนับๆ ในบรรดาขนมขบเคี้ยวของชาวอเมริกันและยุโรป กัมมี่คือขนมขบเคี้ยวแนวหน้าของชาติยุโรปและอเมริกา จากการที่คุณสิริดาได้เรียนอยู่เมืองนอก ได้เห็นพวกฝรั่งชอบกินขนมประเภทกัมมี่กันทุกเพศทุกวัย เธอจึงเกิดไอเดียอยากผลิตกัมมี่ที่เป็นขนมของพวกฝรั่งต่างชาติ มาทำเป็นขนมขบเคี้ยวในแบบฉบับของคนไทย โดยเอาจุดเด่นของเมืองไทยคือ นำผลไม้ไทยใส่ในกัมมี่ เป็นการแปลงสัญชาติขนมกัมมี่ของยุโรป ให้เป็นขนมกัมมี่สัญชาติไทยได้อย่างแยบยล

ประโยคหนึ่งที่คุณสิริดากล่าวชี้นำได้อย่างเฉียบคม เธอกล่าวว่า ถึงแม้เศรษฐกิจจะตกต่ำ แต่สินค้าประเภทขนมไม่เคยตกต่ำไปด้วยเมื่อเทียบกับสินค้ากลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะตลาดขนมของชาวยุโรป กลุ่มกัมมี่ยังเป็นสินค้าที่มาแรงอยู่ตลอด เมืองไทยมีผลไม้หลากหลายและมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ ที่ตัดสินใจทำกัมมี่ผลไม้ไทย เพราะมองว่าผลไม้ไทยมีศักยภาพที่ดี และอยากทำให้ผลไม้ไทยไปถึงระดับโลกได้

โดยสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้น นั่นก็คือกัมมี่ผลไม้ไทย ที่คุณสิริดาสร้างแบรนด์ขนมกัมมี่สัญชาติไทยในชื่อสั้นๆ จำได้ง่ายๆ ว่า แฟรปปี้ : Frappy ซึ่งมาจากคำว่า Fruity+ Happy ความคิดของนักธุรกิจสาวรุ่นใหม่ที่มองโลกสวย จึงปรากฏออกมาด้วยคำพูดที่ว่า “อยากทำขนมให้คนกินแล้วมีความสุข” และนั่นคือที่มาของกัมมี่ยี่ห้อแฟรปปี้ ที่มีผลไม้ไทยเป็นตัวชูโรง และใช้ลิงเป็นตัวชูเรื่องราวความอร่อยของผลไม้ไทยที่ผสมอยู่ในกัมมี่แฟรปปี้ สาวน้อยสายตายาวไกลเผยถึงอนาคตว่า ต่อไปคาแร็กเตอร์ของลิงบนแพ็กเกจแฟรปปี้ จะกลายเป็นสัญลักษณ์ของสินค้าภายใต้แบรนด์แฟรปปี้ทุกชนิด ต่อไปลิงแฟรปปี้นี้แหละจะกลายเป็นตุ๊กตาลิง หมอนลิง แก้วลิง และอื่นๆ ที่มีลิงแฟรปปี้ห้อยโหนโจนทะยานบนสินค้าที่ไม่ใช่แค่ขนมกัมมี่เท่านั้น

คัดผลไม้ไทยเข้ารอบแฟรปปี้

เมื่อกระแสสุขภาพกำลังมาแรง คุณสิริดาจึงจับขนมมาเข้ากับสุขภาพได้อย่างลงตัว ด้วยการผสมวิตามิน  แคลเซียม และคอลลาเจน เข้าไปในขนมกัมมี่ของเธอ จากขนมขบเคี้ยวจึงเลื่อนขั้นเข้าไปอยู่ในกลุ่มขนมเพื่อสุขภาพได้อย่างแนบเนียน

“ขณะที่ตลาดเอเชียจะมองว่ากัมมี่เป็นขนมของเด็กๆ แต่ทางฝั่งยุโรปผู้ใหญ่ก็ทานกัน เมื่อเขารู้ว่าเราเพิ่มวิตามินในกัมมี่ด้วย ก็ยิ่งได้รับความสนใจ เราทำกัมมี่รสมะพร้าวน้ำหอมที่ผสมแคลเซียมเข้าไปด้วย เพื่อให้มีฟังก์ชั่นทานแล้วกระดูกแข็งแรง ส่วนกัมมี่รสมังคุดเราผสมคอลลาเจนเข้าไปด้วย เพื่อให้เข้ากับสรรพคุณของมังคุดในเรื่องความงาม การไหลเวียนของเลือด และการบำรุงผิว คนที่กินกัมมี่มักอยากได้ความสดชื่น รสชาติออกเปรี้ยว อมหวาน เราจึงเลือกผลิตรสสับปะรดผสมเสาวรส และผลิตรสมะม่วง เพราะเป็นผลไม้ไทยที่ทั้งฝรั่ง ญี่ปุ่น คนเอเชีย คนไทย ชอบกันหมด เราจับตลาดพรีเมี่ยม เน้นความเป็นกัมมี่ที่ทำจากผลไม้แท้ๆ ไม่ใช้สารกันเสีย จึงเป็นขนมขบเคี้ยวที่ทานได้ทุกเพศทุกวัย”

ในขณะที่เมืองไทยมีผลไม้มากมายหลายชนิด แต่มีผลไม้ไม่กี่ชนิดที่คุณสิริดาเลือกมาทำรสชาติในกัมมี่ของเธอ  และนี่คือไฮไลต์คุณค่าของผลไม้ไทย ที่คนไทยด้วยกันอาจไม่รู้ โดยคุณสิริดาได้เปิดเผยว่า ในการเลือกมะพร้าวมาทำรสชาติใหม่ในกัมมี่ คุณสิริดามองว่ากัมมี่ส่วนใหญ่มักจะมีรสชาติออกเปรี้ยว ยังไม่มีใครทำกัมมี่รสชาติหวานนวลๆ นุ่มๆ  แต่กัมมี่รสมะพร้าวน้ำหอมให้รสชาติหวานนวลๆ หอมๆ นุ่มๆ ได้อย่างที่เธอต้องการ

จากประสบการณ์การใช้ชีวิตในประเทศอังกฤษ 5 ปี ทำให้เธอมองเห็นความนิยมบริโภคมะพร้าวของคนยุโรป  ช่วง 3 ปีแรกน้ำมะพร้าวเป็นของหายาก แต่ในปีหลังๆ เริ่มเห็นน้ำมะพร้าววางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านแนวสุขภาพเพิ่มขึ้น และทุกปีเมื่อมีโอกาสกลับไปอังกฤษก็ได้เห็นเทรนด์ของมะพร้าวที่มีมากขึ้น จากเดิมที่มีแค่น้ำมะพร้าว เริ่มมีของขบเคี้ยวประเภท Coconut Chip ต่อมาเริ่มมีเนื้อมะพร้าวแช่แข็ง แต่สำรวจแล้วยังไม่มีมะพร้าวในรูปแบบของกัมมี่ เธอจึงเลือกมะพร้าวน้ำหอมมาผสมในกัมมี่ ส่วนมังคุดก็เป็นผลไม้ที่แพงจนจับต้องยาก เทียบได้กับไข่ปลาคาเวียร์ในเมืองไทย  ถ้าทำให้มะพร้าวและมังคุดเป็นขนมกัมมี่ที่เข้าถึงได้ง่าย คุณสิริดาเชื่อว่าน่าจะเป็นที่สนใจของตลาดต่างประเทศได้   โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นและอเมริกา

 

ชี้ทางลัดสู่เส้นทางการผลิตกัมมี่

การเริ่มต้นธุรกิจครั้งแรก คุณสิริดาเปิดฉากด้วยการเข้าไปปรึกษาอาจารย์ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะได้ข่าวว่าทางมหาวิทยาลัยมีโรงงานต้นแบบแปรรูปอาหาร ที่เอกชนสามารถมาเช่าเพื่อทำการวิจัยได้  อยู่ที่สระบุรี แต่ที่นี่ต้องหาสูตรมาให้ได้ก่อน จึงจะผลิตให้

“เราไปคุยกับเพื่อนที่เรียนทางด้านฟู้ดไซน์ ทดลองกันอยู่พักหนึ่ง คิดว่าไม่ได้การแล้ว เลยไปปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Development House ซึ่งรับทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ พบว่าต้องใช้เวลา 6 เดือนถึง 1 ปี และต้องรอคิวยาวมาก สุดท้ายจึงให้แผนก R&D ของโรงงานที่รับจ้างผลิตกัมมี่ส่งออก ช่วยพัฒนาสูตรและทำการผลิตให้ ซึ่งทางโรงงานเองก็ไม่เคยใช้ผลไม้แท้ๆ และที่ยากคือ กัมมี่ที่ได้ต้องเก็บรักษาได้ 1 ปี โดยไม่ใส่สารกันเสีย รวมถึงเลือกเจลาตินที่ให้ความนุ่มนวลพอดี กว่าจะได้สูตรกัมมี่ที่ลงตัว เคี้ยวแล้วรับรู้เนื้อสัมผัสผลไม้ ใช้เวลาในการพัฒนาสูตรอยู่ 6  เดือนเต็ม จึงผลิตเป็นกัมมี่รสผลไม้แท้ๆ ได้สำเร็จ”

ตลาดเป้าหมาย นักท่องเที่ยว-ส่งออก

ในตลาดสินค้าขนมขบเคี้ยว “กัมมี่” ค่อยๆ ขยายตัวเติบโตขึ้น จนกระทั่งครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มเดียวกัน ในจำนวนผู้ผลิตกัมมี่มีแบรนด์ใหญ่ๆ ที่ครองตลาดอย่างแข็งแกร่ง การก้าวเข้ามาของแบรนด์เล็กๆ สัญชาติไทยที่ชื่อว่า แฟรปปี้ : Frappy มาด้วยจุดยืนที่แตกต่าง เน้นความเป็นกัมมี่ระดับพรีเมี่ยม ที่ใช้วัตถุดิบจากผลไม้แท้ๆ ปราศจากสารกันเสีย เพิ่มวิตามิน แคลเซียม และคอลลาเจน โดยอิงกระแสสุขภาพ ทำให้แฟรปปี้กัมมี่น้องใหม่ที่เพิ่งก้าวสู่ตลาดได้ 2 ปี กลายเป็นแบรนด์ของคนไทยที่ก้าวไปสู่ระดับสากล ในนามของ บริษัท ทรอปิคอล ฟรุ๊ต ฟิวชั่น จำกัด ที่มี คุณสิริดา นาคทัต สาวสวยนั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการ

“เรามองทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก สำหรับในประเทศเรามองกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ เด็กรุ่นใหม่ซึ่งพ่อแม่หันมาใส่ใจสุขภาพของลูกมากขึ้น ยอมจ่ายให้กับของที่มีคุณภาพกว่า ส่วนต่างชาติเรามองตลาดในโซนเอเชีย ยุโรป และอเมริกา”

ตลาดกัมมี่ในประเทศไทยกำลังขยายตัว ในขณะแฟรปปี้น้องใหม่ตบเท้าเข้าตลาดโมเดิร์นเทรดในกลุ่มพรีเมี่ยม อย่าง Gourmet Market, The Mall Group, Villa Supermarket และ Lotte Duty Free เป็นต้น โดยมีบรรจุภัณฑ์เป็นจุดเด่นที่ดึงดูดความสนใจได้ไม่ยาก ขณะเดียวกัน ได้เจาะตลาดนอกอย่างสิงคโปร์และเนเธอร์แลนด์ได้สำเร็จแล้วในเบื้องต้น กำลังเล็งเป้าหมายต่อไปคือ ฮ่องกง และจีน และวางแผนในอนาคตจะมี FRAPPY Vending Machine เพื่อวางขายแฟรปปี้ตามแหล่งท่องเที่ยวต่อไป