ผู้เขียน | ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะกลับไปใช้ชีวิตหรือตั้งตัวในบ้านเกิด โดยเฉพาะการไปสานต่ออาชีพของครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร แต่สิ่งนี้ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับสถาปนิกวัย 30 ปี เด็กต่างจังหวัดจากอำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง
ในงานสัมมนาของ “ประชาชาติธุรกิจ” หัวข้อ “Passion to Profit : พลิกมุมคิด สร้างธุรกิจให้ติดลม” เมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มีวิทยากรมากความสามารถหลายคนได้ขึ้นเวทีร่วมแชร์ประสบการณ์ในการทำธุรกิจของตนเอง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่มาเข้าร่วมงานอย่างเนืองแน่นนับพันคน
“วิโรจน์ ฉิมมี” ถือเป็นอีกหนึ่งวิทยากรที่น่าทึ่ง และได้รับความสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะชีวิตพลิกจากมนุษย์เงินเดือนไปสู่นักธุรกิจเงินล้าน “บ้านไร่ไออรุณ” ที่สร้างขึ้นด้วยความฝันที่อยากมีบ้านสวยๆ สักหลัง
“ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด เกิดในอำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง เป็นเพียงลูกเกษตรกรธรรมดา ฐานะทางบ้านไม่ได้ร่ำรวย คุณพ่อมีอาชีพกรีดยาง คุณแม่ขายผักที่ตลาด ครั้งที่ยังเป็นเด็กต้องเดินไปโรงเรียนเป็นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ทุกวัน ระหว่างทางก็มองเห็นบ้านคนอื่นที่ใหญ่โตหรูหราและสวยงาม ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นประถมจนถึงมัธยม”
“วิโรจน์” บอกว่า สิ่งที่เห็นกลายมาเป็นความรู้สึก จนตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมบ้านเราถึงไม่สวยเหมือนบ้านคนอื่น หลังจากนั้นจึงตั้งปณิธานไว้ว่า จะตั้งใจเรียน และได้เลือกเรียนคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สามารถคว้าเกียรตินิยมอันดับ 1 มาได้ การเรียนสถาปัตยกรรมก็เป็นประตูเปิดทางให้ได้เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ และหลังเรียนจบก็ได้ทำงานกับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง
เมื่อก่อนที่บ้านฐานะยากจน ต้องเก็บของไปขายที่โรงเรียนเพื่อแลกค่าขนมวันละ 20 บาท คุณพ่อคุณแม่จะคอยบอกตลอดว่า อยากให้เรามีหน้าที่การงานที่ดี ไม่ต้องมาทำสวน ไม่ต้องมากรีดยาง
ดังนั้น การเรียนจบปริญญาตรีแล้วได้ทำงานในกรุงเทพฯ จึงเป็นความภาคภูมิใจและความหมายที่ยิ่งใหญ่ของครอบครัว และในชีวิตการทำงานที่บริษัทก็มีความสุขทุกวัน แต่บางมุมยังคงมีความรู้สึกในวัยเด็กที่อยากจะทำ ซึ่งมันมีความสำคัญมาก
“เพราะความฝันในวัยเด็ก เป็นความฝันที่ไม่มีสิ่งยั่วยุ ผมถามตัวเองมาตลอดว่า ทำไมต้องทำงานให้คนอื่นเพื่อแลกเงินเดือนหมื่นกว่าบาท เราออกแบบบ้านสวย ๆ ให้เขา ทั้งที่บ้านตัวเองยังเป็นกระต๊อบอยู่ และคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้มีบ้านสวยเหมือนกับลูกค้าที่มาจ้างเราออกแบบ”
วิโรจน์ เล่าว่า อีกสิ่งที่ทำให้อยากกลับบ้าน คือเงินเดือน 1 หมื่นกว่าบาท กับชีวิตในกรุงเทพฯ ที่อยากมีรถ อยากมีคอนโดมิเนียม อยากมีบ้าน อยากมีเสื้อผ้าแบรนด์เนม แต่ต้องผ่อนทุกอย่างไปตามสภาพสังคม จึงอยากกลับไปสร้างบ้าน คิดถึงคุณพ่อคุณแม่ อีกทั้งเห็นพี่ที่อยู่ในออฟฟิศเดียวกันคนหนึ่ง อายุประมาณ 40 ปี ซึ่งเป็นคนต่างจังหวัดเหมือนกัน แต่เขากลับไม่ได้เพราะมีภาระหนี้สิน เช่นเดียวกับคนในออฟฟิศอยู่กับค่านิยม
ขณะเดียวกัน คนรอบข้าง เพื่อนๆ คุณพ่อกับคุณแม่ ก็ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจในครั้งนี้ สิ่งแรกที่ทำหลังจากกลับบ้านคือการสร้างบ้าน เริ่มจากไปขอไม้ไผ่กับเจ้าอาวาสที่วัด มาทำตามความฝันของตัวเองกับคุณพ่อสองคน
วิโรจน์เชื่อมั่นอยู่ตลอดว่า จะต้องสร้างบ้านให้สวย หลังจากผ่านไป 7 เดือน สิ่งที่ทำมาไม่มีคนเห็น แต่เขายังคงเชื่อในสิ่งที่ตัวเองทำ “การไปอยู่ในกรุงเทพฯ สอนให้ผมมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่ผมมี”
กระทั่งได้ส่งผลงานเข้าประกวดในโครงการบ้านและสวนของบริษัทอมรินทร์ และได้ขึ้นมารับรางวัลชนะเลิศ พร้อมกับคุณพ่อที่กรุงเทพฯ
นั่นคือจุดเปลี่ยน ที่ทำให้คนรอบข้างยอมรับและเห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำ ตอนนั้นคุณแม่เอาแม็กกาซีนเล่มนั้นไปติดแผงขายผัก แล้วนั่งขายผักอย่างภาคภูมิใจ
หลังจากชนะการประกวดได้ไม่นาน วิโรจน์จึงเริ่มสร้างบ้านให้เป็นที่พัก สานความฝันชวนคนในครอบครัวมาช่วยกันสร้างบ้านเพิ่มอีก 2 หลัง แล้วเปิดเป็น “บ้านไร่ไออรุณ” รองรับผู้มาเยือน
“ปัจจุบัน คนรอบข้างที่ไม่เห็นด้วยได้แชร์เรื่องราวของผมไปทั่วโซเชียล ทำให้ผมมีตัวตนและได้รับการยอมรับ แม้หลายคนจะบอกว่าผมบ้า แต่ผมไม่ได้บ้า เพราะผมทำในสิ่งที่ตัวเองรัก คนบ้าคือคนที่ทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้รักไปตลอดชีวิต แม้การทำงานของผมจะไม่มีวันหยุด แต่มีความสุขกับทุกวันที่ได้ปลุกตัวเอง ลุกขึ้นมาสร้างฝัน ผมยังรู้สึกขอบคุณชีวิตมนุษย์เงินเดือน ที่สอนให้ผมมองเห็นว่า ต้นไม้ใบหญ้าที่บ้านมีคุณค่ายังไง”
ตลอดระยะเวลาของการปลุกปั้นสร้างฝัน 1 ปี 9 เดือน ปัจจุบันแม้จะก้าวสู่โลกธุรกิจแล้ว แต่วิโรจน์ยังบอกว่า ทุกวันนี้ยังไม่คิดว่าตัวเองเป็นนักธุรกิจ เพราะลูกค้าไม่ใช่พระเจ้า แต่การเปิดบ้านไร่ไออรุณ สร้างสรรค์สิ่งที่ตัวเองรัก แสดงถึงความหมายของคำว่า บ้าน ชัดเจน
ตอนนี้สิ่งที่ทำให้มีความสุขน้อยลง คือกระแสที่เกิดขึ้นบนโลกโซเชียล ที่ทุกคนคาดหวังเมื่อมาเที่ยวว่า ต้องมีทีวี เครื่องทำน้ำอุ่น มีไวไฟ มีความสะดวกสบาย แต่ความคาดหวังของคนสร้าง ไม่ได้อยากให้นักท่องเที่ยวมาเพียงแค่พบกับความสะดวกสบายแบบนั้น เพื่อเช็กอินแล้วกลับไป
“เราทำบ้าน ไม่ได้ทำรีสอร์ต คนที่บริการลูกค้า คือ คุณแม่และญาติพี่น้อง และคนในชุมชน ผมยกเลิกธุรกิจนี้ได้ตลอดเวลา ถ้าครอบครัวเราไม่มีความสุข ผมมักจะโพสต์ในเฟซบุ๊กเพื่อสร้างความคุ้มกันให้ตัวเองเสมอว่า ผมมีแค่นี้นะ แม้ผมจะมีรายได้เดือนละเป็นล้านบาท แต่รายได้นั้นต้องกระจายไปสู่ชุมชน ถึงผมจะเปิดกิจการขึ้นมาเพื่อให้
ตัวเองมีรายได้ แต่ต้องอยู่ในขอบเขตของความสุข เพื่อครอบครัว เพื่อให้คนในชุมชนมีอาชีพ การกดไลก์กดแชร์ในโลกโซเชียล ทำให้มีคนรู้จักอำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง มากขึ้น เกิดการต่อยอดธุรกิจ เกิดมิตรภาพที่ดีระหว่างคนเมืองกับคนต่างจังหวัด ค่านิยมก็เปลี่ยนไปในชุมชน”
“ผมคิดว่าการกลับมาอยู่บ้าน มันคือการพัฒนาบ้านเกิด” หัวเรือใหญ่บ้านไร่ไออรุณ กล่าวด้วยรอยยิ้ม และความภาคภูมิใจที่ลงมือสร้างฝันให้เป็นจริงได้ พร้อมความสุขเปี่ยมล้นกับคนในครอบครัว และชุมชนในพื้นที่