ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้าย…งามแบบศิลปะพื้นบ้าน ของคนอุบลฯ

เครื่องนุ่งห่มจากผ้าฝ้าย อาหาร ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค เป็นปัจจัย 4 ที่จำเป็นในการยังชีพของมนุษย์ โดยเฉพาะเครื่องนุ่งห่มจากผ้าฝ้ายผลิตภัณฑ์คุณภาพ เป็นงานวิถีพื้นบ้านที่ได้สืบต่อกันมายาวนาน ซึ่งที่ชุมชนบ้านโสกแสง เกษตรกรนอกจากจะทำนาเป็นอาชีพหลักแล้วยังได้ปลูกหม่อน ย้อมสีเส้นฝ้ายด้วยสีธรรมชาติ ทอผ้า หรือนำผืนผ้ามาตัดแต่งเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มหรือของใช้ที่งดงาม เพื่อใช้ในครัวเรือนหรือเป็นสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ขายดี ทำให้เกษตรกรมีรายได้พอเพียงเพื่อการยังชีพด้วยวิถีเศรษฐกิจพอเพียงและมั่นคง

คุณยรรยง ศรีม่วงกลาง เกษตรอำเภอนาจะหลวย เล่าให้ฟังว่า นอกจากได้ส่งเสริมการทำนาที่เป็นอาชีพหลักให้เกษตรกรแล้ว ก็ได้แนะนำให้ปลูกพืชเสริมด้วยการปลูกหม่อนแบบหัวไร่ปลายนาหรือปลูกเป็นสวน เพื่อนำผลผลิตจากต้นหม่อนมาใช้ประโยชน์ เช่น นำผลหม่อนมาทำแยมหรือเครื่องดื่ม นำใบหม่อนมาทำเป็นชาชงดื่มเพื่อสุขภาพ หรือนำใบหม่อนไปเลี้ยงหนอนไหมซึ่งจะทำให้ได้เส้นไหมหรือเส้นฝ้าย ทำการย้อมสีเส้นฝ้ายเปลือกไม้เพื่อให้ได้เส้นฝ้ายสีสวยแบบธรรมชาติ แล้วนำมาทอเป็นผืนผ้าเพื่อตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าอาภรณ์สวมใส่หรือขายเป็นรายได้

คุณยรรยง ศรีม่วงกลาง (ซ้ายสุด) เกษตรอำเภอนาจะหลวย ส่งเสริมการทำผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายคุณภาพ

ส่งเสริมให้แม่บ้านเกษตรกรรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มหรือวิสาหกิจชุมชนที่สำนักงานเกษตรอำเภอนาจะหลวย เพื่อให้สมาชิกได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ได้ร่วมคิดร่วมทำหรือร่วมกันพัฒนาสินค้าเกษตรให้เป็นสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่ได้มาตรฐาน ตรงกับความต้องการของตลาด ได้ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมหรือใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีคุณค่าเพื่อนำไปสู่การพัฒนาให้ได้สินค้าเกษตรหรือผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่และก้าวไปสู่ความสำเร็จที่สามารถยกระดับรายได้เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบครัวที่มั่นคง

ป้าชันวรรณิษา ทองล้วน ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านโสกแสง หรือวิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ เล่าให้ฟังว่า เกษตรกรที่นี่ส่วนใหญ่จะทำนาเป็นอาชีพหลัก โดยทำนาฤดูฝนเพียงครั้งเดียวจากนั้นทุกคนก็จะว่างงาน ผู้ชายบางคนบางกลุ่มเข้าเมืองไปขายแรงงาน ส่วนผู้หญิงจะอยู่เหย้าเฝ้าเรือนและทอผ้าเป็นเครื่องใช้ รายได้ต่อการยังชีพของครอบครัวจึงไม่มั่นคงนัก เมื่อนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรมาเยี่ยมเยียนและแนะนำให้แม่บ้านเกษตรกรรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่ม เพื่อร่วมมือกันแปรรูปผลผลิตเกษตรหรือทอผ้าเพื่อเพิ่มมูลค่าและก้าวไปสู่ความสำเร็จในการยังชีพ

ป้าชันวรรณิษา ทองล้วน ประธานกลุ่มหรือวิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ

ปี 2544 ได้ไปขอจัดตั้งเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านโสกแสง หรือวิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ ที่สำนักงานเกษตรอำเภอนาจะหลวย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างงานหรือกิจกรรมทำต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อให้สมาชิกใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ด้วยการนำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นการเพิ่มมูลค่า การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การใช้สีธรรมชาติย้อมเส้นฝ้าย ทอผ้า และตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายคุณภาพเพื่อใช้ในครัวเรือนและมีรายได้จากการขาย

วิธีการดำเนินงาน สมาชิกแม่บ้านเกษตรกรได้คัดเลือกคณะกรรมการบริหาร ทำการระดมทุนโดยให้สมาชิกทุกคนร่วมลงทุนตามความสมัครใจตั้งแต่ 1 หุ้น หุ้นละ 100 บาทขึ้นไป เพื่อมีต้นทุนใช้ในการดำเนินงาน จัดประชุมกลุ่ม 3 เดือน ต่อครั้ง เพื่อรายงานผลการดำเนินงาน นำความรู้ด้านวิชาการ นำภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาบอกเล่าให้สมาชิกทุกคนรับรู้และพิจารณาเลือกนำไปสู่การพัฒนาการผลิตที่ได้คุณภาพมาตรฐาน หรือทุกสิ้นปีได้นำเงินส่วนที่เป็นกำไรจากการดำเนินงานมาปันผลให้สมาชิกทุกคน

คุณทวี มาสขาว (เสื้อขาวเหลือง) เกษตรจังหวัดอุบลราชธานี นำผู้สนใจเยี่ยมชมผลงานเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกัน

การจัดทำผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้าย กลุ่มได้นำแนวคิดภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ด้วยการไปเก็บเปลือกหรือกาบไม้แดงที่กำลังจะหลุดออกจากลำต้นมาจากป่าละเมาะหรือหัวไร่ปลายนา จัดเก็บและรวบรวมให้ได้ไม่น้อยกว่า 5 กิโลกรัม นำมาต้มให้ได้น้ำสีจากเปลือกไม้พอเพียงย้อมสีเส้นฝ้ายแต่ละครั้ง ซึ่งหลังการย้อมจะได้เส้นฝ้ายสีเหลืองทองงดงามมาก

การต้มเปลือกหรือกาบไม้แดง ได้เตรียมภาชนะต้ม จะเลือกกะละมัง หม้อ หรือปี๊บ ยกตั้งบนเตาไฟแล้วใส่น้ำลงไป 20 ลิตร ต้มให้น้ำอุ่นหรือร้อนแล้วนำเปลือกหรือกาบไม้แดงที่ได้ปัดฝุ่นและลอกส่วนเปลือกนอกออกใส่ลงไปต้ม เมื่อน้ำเริ่มเดือดสีของเปลือกไม้จะออกมาเป็นสีเหลืองอ่อน ต้มให้นานเพื่อสีออกมาให้มากที่สุด จากนั้นยกลง พออุ่นเย็นได้เทน้ำสีเพื่อกรองแยกเอากากออก นำน้ำสีที่กรองได้ใส่ภาชนะแล้วยกตั้งบนเตาไฟต้มให้เดือดเพื่อนำเส้นฝ้ายมาย้อมสี

ป้าชันวรรณิษา เล่าให้ฟังในท้ายนี้ว่า การย้อมนั้น ได้เตรียมเส้นฝ้ายที่แช่น้ำนาน 1-1 ชั่วโมงครึ่ง และยกออกไปผึ่งลมหรือแดดอ่อนให้พอหมาด แล้วนำไปใส่ในภาชนะที่ตั้งบนเตาไฟในขณะที่น้ำสีเดือด ทำการย้อมสี ใช้ไม้กดเส้นฝ้ายให้จมเพื่อให้เส้นฝ้ายค่อยๆ ดูดสีและติดเส้นฝ้ายได้ดีทั่วกัน

สมาชิกร่วมแรงร่วมใจทำการย้อมเส้นฝ้ายด้วยสีธรรมชาติ

หลังการย้อม นำเส้นฝ้ายที่ย้อมสีมาล้าง 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 ล้างน้ำสะอาด ครั้งที่ 2 ล้างด้วยน้ำสารส้มใสที่แยกตะกอนขุ่นออกไปแล้ว ด้วยการแช่เส้นฝ้ายนาน 30 นาที เพื่อให้เส้นฝ้ายจับตัวติดกับสีจากเปลือกไม้ได้แน่นขึ้น ครั้งที่ 3 ล้างด้วยน้ำสะอาดแล้วยกขึ้นบิดเบาๆ ให้พอหมาดนำไปตากให้แห้ง ขณะตากต้องคอยหมั่นกระตุกให้เส้นฝ้ายแตกหรือแยกออกจากกันเป็นเส้น เมื่อตากแห้งแล้วจะได้เส้นฝ้ายสีธรรมชาติ เมื่อนำไปทอพร้อมกับออกแบบลวดลายต่างๆ เพื่อเพิ่มความงดงามลงไปบนผืนผ้า เมื่อนำไปตัดแต่งเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มหรือของใช้ก็ทำให้มีความงามน่าสนใจที่จะใช้มากขึ้น

เส้นฝ้ายที่เตรียมนำไปย้อมด้วยสีธรรมชาติ
ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายสินค้าโอท็อปที่จัดจำหน่าย

เส้นฝ้ายที่ย้อมสีธรรมชาติ เมื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้าย…งามแบบศิลปะพื้นบ้าน มีตลาดรองรับและขายดี ได้รับการคัดสรรให้เป็นสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ปี พ.ศ. 2551 ได้จัดวางขายที่กลุ่มหรือวิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ หรือที่ศูนย์จำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ จังหวัดอุบลราชธานี และใกล้เคียง ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายสีธรรมชาติที่น่าสนใจซื้อไปใช้และเป็นของฝาก ได้แก่ ผ้าขาวม้าย้อมสีธรรมชาติระดับห้าดาว ลายสก๊อตหรือลายตาคู่ ขาย 350 บาท ผ้าโสร่งลายโบราณ ขาย 350 บาท เสื้อคอพระราชทานหรือเสื้อซาฟารี ขาย 550 บาท งานแนวภูมิปัญญาท้องถิ่น

คุณทวี มาสขาว เกษตรจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการต้อนรับด้วยการผูกเสี่ยวเป็นดอง ตามแบบวิถีชาวบ้าน

ผลงาน ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้าย…งามแบบศิลปะพื้นบ้าน วิถีเศรษฐกิจพอเพียง ที่เป็นการประยุกต์การผลิตตามแนวภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อการสร้างงานเสริมรายได้ของสมาชิกในการยังชีพด้วยวิถีเศรษฐกิจแบบพอเพียงและมั่นคง

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มหรือวิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ เลขที่ 8 หมู่ที่ 9 บ้านโสกแสง ตำบลโสกแสง อำเภอนาจะหลวย จังหวัดอุบลราชธานี โทร. (087) 610-6859 หรือ (087) 790-0594 หรือที่สำนักงานเกษตรอำเภอนาจะหลวย ก็ได้ครับ

 

ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์