อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ แหล่งผลิตกุ้งจ่อมชื่อดังภาคอีสาน ปรุงอาหารได้หลายเมนู ชื่อเสียงดังไกลโกอินเตอร์

 

กุ้งจ่อม และปลาจ่อมเป็นอาหารพื้นบ้านดั้งเดิมของชาวอีสาน ที่ใช้ภูมิปัญญาในการถนอมอาหารเพื่อไว้ทานได้นาน ทุกวันนี้ การผลิตกุ้งจ่อม และปลาจ่อมเพื่อจำหน่ายได้พัฒนารูปแบบที่เข้าถึงกลุ่มอื่นในภาคต่างๆ ได้มากขึ้น โดยการนำกุ้งจ่อมหรือปลาจ่อมมาผ่านกระบวนการทำสุกเสียก่อน ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ไม่นิยมการทานดิบ

อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นแหล่งผลิตปลาจ่อม และกุ้งจ่อมเก่าแก่แห่งหนึ่งในภาคอีสาน ขณะที่ภาคราชการหลายหน่วยงานเล็งเห็นความสำคัญได้ยื่นมือเข้าไปช่วยส่งเสริม วางแผนการผลิตให้ปลอดภัยต่อการบริโภค และวางแผนการตลาด พร้อมผลักดันให้เป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาจนทุกวันนี้ เป็นที่นิยมรู้จักกันอย่างแพร่หลายทั้งซื้อไปทานเอง หรือไปเป็นของฝาก สร้างชื่อเสียงให้แก่ชาวอำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ได้เป็นอย่างดี

“กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกุ้งจ่อมกระยาสารทประโคนชัย” เป็นอีกแห่งที่ชาวบ้านในชุมชนร่วมกันผลิตกุ้งจ่อมเพื่อจำหน่าย มานานเกือบ 20 ปี โดยใช้ความรู้ ทักษะและความชำนาญในความเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น กระทั่งได้ร่วมกับภาคราชการเพื่อพัฒนาวิธีการผลิตที่ทันสมัย ปลอดภัย รวดเร็ว แต่ยังคงรสชาติและความอร่อยเหมือนเช่นเคย จึงทำให้สื่อหลายสำนักต่างให้ความไว้ใจในด้านคุณภาพ และความอร่อยจนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในชื่อ “กุ้งจ่อมแม่พะเยาว์”

คุณพรทิพย์ เพ็งประโคน ประธานคณะกรรมการชมรมกุ้งจ่อมกระยาสารท ประโคนชัย บอกว่า ผลิตกุ้งจ่อมขายมาตั้งแต่ปี 2545 แต่ความจริงอาหารชนิดนี้ทำกันมาตั้งแต่ยุคบรรพบุรุษแล้วเพียงแต่เป็นอาหารเฉพาะในครัวเรือนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในยุคแรกมีการทำเป็นปลาจ่อมด้วย โดยการใช้ปลาซิว แต่ตอนหลังปลาซิวหายากจึงเปลี่ยนมาเป็นการใช้กุ้งที่สั่งซื้อมาจากทางจังหวัดภาคกลางแทน

สำหรับกุ้งที่ใช้เป็นวัตถุดิบหลักนั้น เป็นกุ้งฝอยที่ไม่ได้หาซื้อในพื้นที่แต่ต้องสั่งซื้อมาจากจังหวัดแถบภาคกลาง สั่งซื้อมาทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 60 กิโลกรัมในช่วงปกติ ในราคากิโลกรัมละ 70 บาท แต่ถ้าเป็นช่วงเทศกาลสำคัญจะต้องสั่งซื้อล่วงหน้าเล็กน้อยในจำนวนเพิ่มขึ้นถึงไม่ต่ำกว่าครั้งละ 500 กิโลกรัม ซึ่งในช่วงเทศกาลขายดีมาก มีรายได้เป็นแสนบาท

คุณพรทิพย์ชี้ว่าการผลิตกุ้งจ่อมจะคำนึงเพียงแค่ความอร่อยอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องให้ความสำคัญกับความสะอาดในการผลิตทุกขั้นตอนเพื่อให้ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ดังนั้น ในแต่ละขั้นตอนต้องเข้มงวดเรื่องวัตถุดิบ ภาชนะ เครื่องมือ สถานที่ รวมถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกคนด้วย

ฉะนั้น หลังจากได้กุ้งฝอยมาแล้วจะต้องทำความสะอาดหลายครั้งจนมั่นใจ แล้วปล่อยให้แห้ง จากนั้นจึงเทกุ้งลงในภาชนะแล้วใส่น้ำปลา (ใช้ยี่ห้อทิพย์รส เพราะมีกลิ่นหอม) ในอัตรากุ้งฝอย 10 กิโลกรัมต่อน้ำปลา 8 ขวด จากนั้นหมักทิ้งไว้ 2 คืน แล้วใส่ข้าวคั่วประมาณ 2 กิโลกรัม หมักทิ้งไว้อีก 2 คืน พอวันรุ่งขึ้นสามารถนำไปขายได้ ทั้งนี้จะผลิตเป็นประจำทุกสัปดาห์ คราวละ 50-60 กิโลกรัม

ประธานกลุ่ม บอกว่า กุ้งจ่อมที่ทานไม่หมดถ้าเก็บไว้ในตู้เย็นสามารถอยู่ได้นานถึง 2 เดือน แต่กรณีไม่ได้แช่ตู้เย็นอยู่ได้เพียง 1 เดือน

สำหรับกุ้งจ่อมแม่พะเยาว์ผลิต 2 ประเภทคือ กุ้งจ่อมธรรมดา กับ กุ้งจ่อม 3 รส ส่วนการจำหน่ายมี 2 แบบ คือถ้าเป็นการตักขายในราคากิโลกรัมละ 120 บาทหรือขีดละ 12 บาท แต่ถ้าเป็นแบบบรรจุใส่กระปุกที่มีขนาดราคาขาย 100  บาท 50 บาท และกระปุกเล็กราคา 35 บาท ซื้อ 3 กระปุก 100 บาท

คุณพรทิพย์ บอกว่า การนำกุ้งจ่อมไปบริโภคสามารถทำได้หลายเมนูแล้วแต่รสนิยมและความชอบของผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์กุ้งจ่อมที่ทางกลุ่มผลิตจำหน่าย กล้ารับประกันความปลอดภัยเนื่องจากมีการผลิตในทุกกระบวนการอย่างมีมาตรฐาน อีกทั้งสินค้าหลักของกลุ่มทุกชนิดได้รับเครื่องหมายรับรองจาก อย. เรียบร้อยแล้ว

โดยผู้บริโภคส่วนมากนิยมนำไปปรุงอาหารได้หลายเมนูไม่ว่าจะทานสดแล้วใส่หอม/ตะไคร้ หรือผสมกับไข่เจียว หรือนำไปผัด ยำ ก็ได้ โดยมีแหล่งจำหน่ายได้แก่ที่หน้าร้านริมถนนเส้นทางเขาพนมรุ้ง หรือตามออร์เดอร์ที่สั่งมาจากทั่วประเทศ

นอกจากกุ้งจ่อมที่เป็นผลิตภัณฑ์หลักแล้ว ทางกลุ่มยังผลิตกระยาสารทที่มีขายทั้งปี รวมไปถึงสินค้าของฝาก ของที่ระลึกอีกมากมายจากผลงานของสมาชิกด้วย

ทางด้าน คุณภัทรา วารสิทธิ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอประโคนชัย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดแล้วในความช่วยเหลือกับทางกลุ่มได้บอกว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ นี้ก่อตั้งเป็นทางการเมื่อปี 2548 แล้วดำเนินการผลิตกุ้งจ่อม กระยาสารท มาต่อเนื่องจนถึงวันนี้

สำหรับภารกิจหน้าที่ของสำนักงานเกษตรอำเภอประโคนชัย จะรับผิดชอบในการให้ความรู้ การจัดอบรม และการหาตลาด ในส่วนที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กุ้งจ่อม กระยาสารท พร้อมไปกับการดูแลและเข้มงวดด้านสุขอนามัยในระหว่างการผลิต เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค

ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มนี้จึงได้รับการรับรองมาตรฐาน อย. เป็นที่เรียบร้อย แล้วยังถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสร้างชื่อเสียงให้แก่อำเภอประโคนชัย

หากท่านมีโอกาสเดินทางไปเที่ยวจังหวัดบุรีรัมย์ โดยเฉพาะต้องการเดินทางไปเที่ยวที่ปราสาทหินเมืองต่ำ ปราสาทหินพนมรุ้ง สามารถใช้เส้นทางหลวง หมายเลข 219 (สายบุรีรัมย์-ประโคนชัย) เมื่อเข้าสู่เขตอำเภอประโคนชัย ตลอดเส้นทางผ่าน 2 ฝั่งจะมีร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึกเป็นอาหารพื้นเมือง รวมถึงปลาจ่อม และ กุ้งจ่อม ที่ตั้งเรียงรายตามหน้าบ้านตลอดเส้นทางเลยทีเดียว…แล้วอย่าลืมเจาะจงแวะไปอุดหนุนสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ร้าน “กุ้งจ่อมแม่พะเยาว์” กัน ให้ซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้าน

สอบถามรายละเอียดหรือสั่งซื้อสินค้าได้ที่ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกุ้งจ่อม กระยาสารท ประโคนชัย”  เลขที่ 142 หมู่ 1 ตำบลประโคนชัย อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ โทรศัพท์ (081) 593-2552