อาชีพเสริม ผอ.รพ.บางไผ่ ปลูกผักปลอดสารพิษ ส่งขายร้านอาหาร อนาคตเกษียณทำเกษตร

ด้วยอาชีพหมอที่รู้ว่าคนป่วยเป็นมะเร็งนั้นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เลยเป็นสาเหตุทำให้ “สุกิจ จำปาเงิน” รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์โรงพยาบาลบางไผ่ และยังเป็นเจ้าของคลีนิกตรวจโรค บางซ่อน คลีนิก หันมาสนใจเรื่องเกษตร และปลูกผักปลอดสารพิษ สบโอกาสส่งผักเข้าโรงพยาบาล หวังให้คนไข้ได้ทานผักปลอดภัย นอกจากนั้นยังส่งผักตามร้านอาหาร อนาคตวางแผนเกษียณออกมาเป็นเกษตรกร

คุณสุกิจ จำปาเงิน รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์โรงพยาบาลบางไผ่ โรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกของฝั่งธนบุรี และยังเป็นเจ้าของคลีนิกตรวจโรค บางซ่อน คลีนิก อายุ 59 ปี เล่าว่า หลังจบคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี บินลัดฟ้าไปเรียนต่อแพทย์เวชปฏิบัติที่ประเทศฟิลิปปินส์ จากนั้นต่อ ป.โท หลักสูตรปริญญาโทบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ก่อนหน้านี้เป็นหมออยู่โรงพยาบาลปากน้ำ 4 ปี รับเงินเดือนหลักแสน ทว่าล่าสุดเข้ามารับตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์โรงพยาบาลบางไผ่

ช่วงที่คุณหมอสุกิจ เข้ามาเป็นรองผู้อำนวยการ คุณหมอ เล่าว่า แต่ละวันจะต้องส่งผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาได้ที่โรงพยาบาลบางไผ่ไปโรงพยาบาลอื่น ซึ่งโรคที่เป็นกันมาก คือ โรคมะเร็งตับ มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก อีกทั้งผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งก็อายุน้อยลงเรื่อยๆ มองว่าปัจจัยลำดับต้นๆ ที่ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บมาจาก “สารเคมี” ในเบื้องต้นเลยเกิดแนวคิดจะผลิตอาหารที่ปราศจากสารเคมี

“ผมสนใจเรื่องเกษตร ปี 2545 เคยใช้เวลาว่างไปเป็นเกษตรกรปลูกข้าว ปลูกผักผลไม้ เลี้ยงแพะเนื้อ เลี้ยงโคขุน อยู่ที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เนื้อที่ 20 ไร่ ทว่าตอนนั้นทำแบบไม่มีความรู้ ปรากฏเจอปัญหาเรื่องคนงาน ผลผลิตขายไม่ดี นกมากัดกินข้าว กระทั่งปี 2557 เลิกปลูกข้าว แล้วปี  2559 หันมาปลูกผักประเภทผักสลัดแทน”

ช่วงที่คุณหมอหันมาปลูกผัก เป็นช่วงที่เปิดคลินิกรักษาโรคทั่วไป ตั้งอยู่ที่ย่านบางซ่อน คราวนี้ คุณหมอบอกว่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอย ไปอบรมเรื่องชีววิถี และการฆ่าแมลงโดยวิธีธรรมชาติ และเริ่มต้นปลูกผัก ผักสวนครัว อย่างจริงจัง

“ผมไปเรียนรู้วิธีการกำจัดแมลงโดยไม่ใช้เคมี และลงมือปลูกผักสลัด เช่น  เรดโอ๊ค กรีนโอ๊ค ฟินเล่ และผักสวนครัว อาทิ คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง มะเขือม่วง มะเขือเปราะ มะเขือยาว บนเนื้อที่ 5 ไร่ โดยใช้เงินลงทุนเบื้องต้นแสนกว่าบาท”

สำหรับปริมาณผลผลิต คุณหมอ บอกว่า ยังไม่เยอะมาก และเพิ่งจะจำหน่ายอย่างจริงจัง เมื่อ 5 เดือนที่ผ่านมา ช่องทางจำหน่าย 80% ขายตามออร์เดอร์ อีก 20% ส่งร้านอาหาร รายได้แต่ละเดือนหมื่นกว่าบาท ในอนาคตวางแผนจะส่งผักปลอดสารพิษตามโรงพยาบาล

“ความตั้งใจแรก คิดว่าจะปลูกผักเป็นงานอดิเรก แต่เมื่อได้ลองมาเป็นเกษตรกรแล้วรู้สึกหลงเสน่ห์ในอาชีพนี้ วางแผนไว้หากเกษียน อาจจะออกมาเป็นเกษตรกร เพราะจะได้ผลิตอาหารปลอดภัยให้คนอื่น