อดีตเด็กเกเรกลับตัวได้ หลังแม่เสียชีวิต ทะยานสู่ เจ้าของกิจการ “กันรั่ว กันซึม กันร้าว” ร้อยล้าน

หลังแม่เสียชีวิต “มนัสนันท์ พจน์จิรานุกูล” หรือ หน่อย น้องคนเล็กในจำนวนพี่น้อง 4คน ที่ใช้นามสกุล “พจน์จิรานุกูล” ก็กลับตัวกลับใจเป็นคนดีของครอบครัว เลือกเส้นทางชีวิตด้วยการทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย ไม่พึ่งเงินกงสี และใฝ่ดีจนกระทั่งปัจจุบันเป็นเจ้าของธุรกิจวัสดุก่อสร้าง “โปร-แอ็ค มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ปส์” จำหน่ายสินค้ากันรั่ว กันซึม กันร้าว พื้นไร้รอยต่อครบวงจร ปีนี้ตั้งเป้าโกยรายได้ 150 ล้านบาท ไม่เกิน 3 ปี เข้าตลาดหลักทรัพย์

คุณมนัสนันท์ เผยเรื่องราวชีวิตกับเส้นทางเศรษฐีออนไลน์ว่า ปัจจุบันอายุ 47 ปี เกิดและเติบโตมาในครอบครัวคนจีน ทำธุรกิจผลิตเครื่องเทศ แบรนด์ วีไทยแลนด์ โรงงานตั้งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี คุณพ่อเสียชีวิตตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ส่วนคุณแม่เสียชีวิต ขณะกำลังศึกษา ม.รามคำแหง ปี 2

หลังขาดเสาหลักของครอบครัว หญิงสาวไม่พึ่งเงินกงสี เธอเลือกที่จะเข้ามากรุงเทพฯ มีเงินติดตัวเพียง  3,000 บาท เรียนไปด้วย หางานทำไปด้วย เบ็ดเสร็จใช้เวลาเรียน .ตรี เต็มพิกัด 8 ปี ตำแหน่งงานสุดท้ายก่อนรับใบปริญญา เป็นผู้จัดการบริษัทจำหน่ายวัสดุก่อสร้างแห่งหนึ่ง และปี 2545 เลือกที่จะเสี่ยงลาออกมาเปิดบริษัทของตนเองด้วยเงินสด 1  หนึ่งล้านบาท

คุณมนัสนันท์ เล่าต่อว่า ชีวิตในวัยเยาว์ ค่อนข้างเกเร ไม่ชอบเรียนหนังสือ เคยขโมยแหวนเพชรของแม่ไปขาย เอาเงินไปซื้อวุฒิ ม.6 แต่ถูกทางมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งจับได้ โดนไล่ออก ต้องไปเรียนรามคำแหง กระทั่งปี 2  อายุ 20 ปี กลับตัวกลับใจเป็นคนดีของครอบครัว ตั้งใจเรียน ปัจจุบันจบการศึกษาปริญญาเอก ได้รับคำนำหน้านามว่า ดร.แล้ว

“ก่อนแม่จะเสียชีวิต สัญญาไว้ว่าจะเป็นคนดี นับจากนั้นมาก็พลิกตัวเองกลายเป็นคนใหม่ ทำงานส่งเสียตัวเอง จนกระทั่งเรียนจบ แล้วมาเปิดบริษัทจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง สินค้าประเภทกันรั่ว กันซึม กันร้าว พื้นไร้รอยต่อครบวงจร โดยได้ไลเซนส์ (License) จาก Hitchin ประเทศอังกฤษ ได้รับสิทธิสร้างโรงงาน ผลิตสินค้าเองในประเทศไทย”

นับตั้งแต่ คุณมนัสนันท์ ก่อตั้งบริษัท เธอทำธุรกิจใช้กระแสเงินสดมาตลอด ไม่เคยกู้ธนาคาร  แม้กระทั่งสร้างโรงงานมูลค่า 30 ล้านบาท

“บริษัทดำเนินธุรกิจมาเป็นเวลา 15  ปีแล้ว ผ่านมาหลายวิกฤต มีปัญหาเข้ามาท้าทายหลายอย่าง อาศัยเรียนรู้และปรับตัว พัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีพนักงานในองค์กรรวม 30 คน เป็นพนักงานฝ่ายติดตั้งประมาณ 50-60 คน”

สำหรับจุดแข็งของ โปร-แอ็ค มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ปส์ เป็นทั้งผู้ผลิต จัดจำหน่าย และติดตั้ง มีทีมช่างเป็นของตัวเอง พร้อมรับประกันสินค้าสูงสุดนาน 10 ปี เรียกว่าเป็น “วัน สต๊อป เซอร์วิส” ได้รับเครื่องหมายการันตีคุณภาพด้วย ISo

ด้านลูกค้า คุณมนัสนันท์ บอกว่า  ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าองค์กร อาทิ อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พื้นที่ 400,000 ตารางเมตร  อาคารสำนักงานแห่งใหม่ของ ปตท. โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โรงพยาบาลจุฬาฯ อาคารสำนักงาน

และในปี 60  ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ พื้นเรซิ่นไร้รอยต่อ แอนตี้แบคทีเรีย มีทั้งพื้นผิวลื่น และพื้นผิวนิ่ม ใช้วัตถุดิบตั้งต้นจากประเทศเยอรมนี เหมาะกับผู้สูงอายุ สามารถครีเอตลวดลายได้เอง  ราคาเริ่มต้นตารางเมตรละ 1,000 บาท

“ลูกค้าที่เลือกใช้บริการ เนื่องจากเห็นว่าบริษัททำทุกอย่างครบวงจร มีบริการหลังการขายด้วย มีสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ เหล่านี้ส่งผลให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่น และใช้บริการ รายได้ในปี 59 มีผลประกอบการ 150 ล้านบาท และในปี 60 ตั้งเป้าเติบโต 30%”

3D Render of an Empty Room and sofa

สำหรับแผนธุรกิจลำดับถัดไป นักธุรกิจสาว บอกว่า เตรียมเปิดแฟรนไชส์รับติดตั้งระบบ กันรั่ว กันร้อน กันร้าว ในต่างจังหวัด เริ่มต้น  20 แห่ง ใน 4 หัวเมืองหลักคือ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน และภาคกลาง เพื่อรองรับการขยายฐานการให้บริการลูกค้ารายย่อยและครัวเรือน

พร้อมทุ่มงบสูงกว่า 50 ล้านบาท เพื่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่ พร้อมศูนย์ฝึกอบรมผู้ติดตั้งระบบงานกันรั่ว ก้นร้อย กันร้าว ให้กับสมาชิกแฟรนไชส์ได้มาเรียนรู้เพิ่มเติมอีกด้วย

ทั้งนี้ มูลค่าตลาดวัสดุก่อสร้างในประเทศไทยปี 2559 ที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงถึง 468,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น 3-4 % เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 450,000 บาท แบ่งเป็น การขายผ่านโมเดิร์นเทรด อาทิ โฮมโปร และโฮมเวิร์ค มูลค่า 2 แสนล้านบาท และอีก 2 แสนล้านบาท เป็นการขายผ่านร้านค้าวัสดุก่อสร้างทั่วไป แบ่งเป็นการขายผ่านร้านวัสดุก่อสร้างที่มีเชน เช่น เมกาโฮม ไทยวัสดุ และดูโฮม ที่มีมูลค่า 1.3 แสนล้านบาท และที่เหลือ 7 หมื่นล้านบาท เป็นช่องทางร้านจำหน่ายวัสดุทั่วไป

อย่างไรก็ตาม  บริษัทฯ ยังคงมั่นใจกับเศรษฐกิจ มาตรการ และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงโครงการเมกะโปรเจคต่างๆ ของภาครัฐ ประกอบกับ การลงทุนของผู้เกษียณอายุราชการที่หันมาทำโครงการอพาร์ทเมนท์ขนาดเล็ก ทำให้ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น