เกษตรกรจังหวัดอุบลฯ ปลูกแคนตาลูป ขายให้กับนักท่องเที่ยวที่สามพันโบก รสชาติดีจนผลผลิตมีไม่พอขาย

คุณณัฐวุฒิ พิมพ์แก้ว อยู่บ้านเลขที่ 30 หมู่ที่ 9 ตำบลสองคอน อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี เล่าให้ฟังว่า เริ่มทำงานเกี่ยวกับการส่งออก ต่อมาเริ่มรู้สึกอยู่ตัวกับสายงานทางด้านนี้ มีแนวคิดตัดสินใจอยากจะมาทำอาชีพทางการเกษตร เพราะอยากมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น จึงได้มาปรับเปลี่ยนสวนมะขามที่มีอยู่มาทดลองปลูกแคนตาลูป ที่มองว่าน่าจะประสบผลสำเร็จได้ดี

คุณณัฐวุฒิ พิมพ์แก้ว และคุณแม่

“สมัยก่อนนั้นคุณแม่ก็ยังไม่ได้ทำอะไร เราก็เลยทดลองปลูกแตงโมกัน ผลปรากฏว่าประสบผลสำเร็จดี ต่อมาพอผมไปทำงานประจำด้านอื่นก็ไม่ได้อยู่ที่บ้าน การปลูกแตงโมก็เลยล้มเลิกไป พอเราไปอยู่ไกลบ้าน ก็เริ่มอยากที่จะมีเวลาให้กับครอบครัวมากขึ้น ก็เลยตัดสินใจอยากกลับมาอยู่บ้านและทำงานที่ใช้ประโยชน์จากที่ดินเราเอง ก็เลยได้แนวคิดว่าจะปลูกแคนตาลูป เพราะในเรื่องของราคาน่าจะดีกว่าแตงโมที่เคยปลูกมาก่อน” คุณณัฐวุฒิ เล่าถึงแนวคิด

แปลงปลูก

โดยวิธีการปลูกแคนตาลูปของเขาจะใช้วิธีที่ง่ายๆ คือ การปลูกลงในแปลงดินที่เป็นสภาพแวดล้อมแบบเปิด ทำการไถพรวนดินให้ทั่วและยกร่อง จากนั้นนำมูลไก่และปุ๋ยชีวภาพมาผสมลงไปภายในแปลง เพื่อปรับสภาพดินให้มีความสมบูรณ์ จากนั้นปูผ้ายางสีดำด้านบนเพื่อเป็นการควบคุมวัชพืช

โดยก่อนหน้านั้นจะทำการเพาะต้นกล้าเตรียมไว้ในถาดเพาะที่อยู่ภายในโรงเรือน เมื่อต้นกล้ามีอายุได้ประมาณ 15 วัน จึงย้ายต้นกล้าลงปลูกภายในแปลง

“ระยะห่างที่เราปลูกประมาณ 40 x 40 เซนติเมตร หลังจากนั้นดูแลไปอีกประมาณ 40-45 วัน ผลผลิตก็จะเริ่มมีลูกให้เราเก็บเกี่ยวขายได้ ซึ่งพอหลังจากที่เราปลูกลงดินได้ 2 สัปดาห์ ก็จะเริ่มออกดอก ช่วงนั้นการผสมเกษรก็จะเกิดขึ้น แมลงและผึ้งก็จะผสมให้เราเองเป็นแบบธรรมชาติ หลังจากเกษรผสมแล้ว นับไปอีก 21 วัน แคนตาลูปก็จะแก่พร้อมเก็บขายได้เลย สามารถเก็บผลผลิตได้ทุกวันจนกว่าต้นจะโทรม” คุณณัฐวุฒิ บอกถึง

ลูกแคนตาลูป

ส่วนในเรื่องของการใส่ปุ๋ยนั้น คุณณัฐวุฒิ บอกว่า จะใส่ในสัปดาห์ที่ต้นเริ่มออกดอกเป็นสูตร 12-14-14 เมื่อแคนตาลูปเริ่มติดผลมีขนาดผลเท่ากำมือ จะเปลี่ยนปุ๋ยเป็นสูตร 14-7-24 โดยจะผสมให้ไปพร้อมกับน้ำที่ใช้รด โดยสุดท้ายก่อนเก็บผลผลิตจะหยุดให้น้ำ เพื่อทำให้แคนตาลูปมีรสชาติที่ดีก่อนเก็บเกี่ยว

เรื่องของการป้องกันโรคนั้น คุณณัฐวุฒิ บอกว่า เมื่อปลูกต้นกล้าแคนตาลูปลงดินจะหมั่นฉีดพ่นด้วยเชื้อไตรโครเดอร์มาเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อราเป็นส่วนใหญ่ ส่วนแมลงศัตรูพืชอื่นๆ จะป้องกันตามอาการที่เกิดขึ้น

ผลผลิตพร้อมขาย

ซึ่งหลักการทำตลาดจะทดลองนำไปขายให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวในพื้นที่บริเวณสามพันโบกก่อน เมื่อผลผลิตเริ่มเป็นที่รู้จักก็จะมีพ่อค้าแม่ค้าที่ทราบเข้ามาติดต่อขอซื้อถึงสวนอีกด้วย โดยขายส่งอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 15-25 บาท

“ซึ่งการปลูกแบบลงดินผมมองว่าในเรื่องรสชาติ ก็ยังพอได้อยู่นะครับ มีความหวาน แต่จะไม่ดีในช่วงฤดูฝน เพราะจะทำให้ผลผลิตแตกเสียหายเกิดจากการบวมน้ำ ดังนั้นจึงต้องมีการจัดการในเรื่องของการวางแผนการปลูกให้ดี อย่าให้ผลผลิตออกในช่วงฤดูฝน ซึ่งการเกษตรสามารถทำเงินได้ ขอให้เรียนรู้และศึกษา” คุณณัฐวุฒิ กล่าวแนะนำ

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณณัฐวุฒิ พิมพ์แก้ว หมายเลขโทรศัพท์ (087) 861-6663