จบด็อกเตอร์จากแคนนาดา มาปลูกผักไฮโดรโพนิกส์ระบบโรงเรือน มาตรฐานสากล ส่งออกยุโรป

เมืองอัมพวา หรือสมุทรสงคราม แม้จะเป็นเมืองเล็ก ๆ แต่ก็มีความเคลื่อนไหวทางธุรกิจที่น่าสนใจไม่น้อย เนื่องเพราะมีคนรุ่นใหม่ที่กลับมาสานต่อกิจการของครอบครัว และแตกไลน์ธุรกิจใหม่ ๆ อาทิ วิศวกรดีกรีด็อกเตอร์จากแคนาดา “วงศ์อนันต์ สุขเจริญคณา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แม่กลอง ดิสทริบิวชั่น จำกัด และเจ้าของโชคอนันต์ฟาร์ม ผู้บุกเบิกฟาร์มผักไฮโดรโพนิกส์ส่งออกยุโรป นอกจากนั้นยังรั้งตำแหน่งประธานนักธุรกิจรุ่นใหม่ YEC จังหวัดสมุทรสงครามอีกด้วย

แต่เหตุใด “วงศ์อนันต์” จึงฉีกตัวมาปั้นฟาร์มผักไฮโดรฯ ทั้ง ๆ ที่ครอบครัวทำการประมง และยังมีดีกรีไม่ธรรมดา ปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปริญญาโทด้านไฟฟ้าสื่อสาร มหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ สหรัฐอเมริกา และปริญญาเอกด้านนาโนเทคจากแคนาดา

วงศ์อนันต์บอกว่า ธุรกิจที่ทำอยู่ตอนนี้มี 2 กิจการคือ ฟาร์มผักไฮโดรโพนิกส์ และธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป ซึ่งจุดกำเนิดของการผันตัวเองมาบุกเบิกฟาร์มผักไฮโดรฯก็คือ กระแสผักออร์แกนิกกำลังเป็นที่นิยม

เมื่อตัดสินใจที่จะลุยทำฟาร์มออร์แกนิกสิ่งแรกที่ทำคือ การเริ่มต้นใหม่ลงทุนลงแรงศึกษา อบรม ดูงานเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งวิธีการปลูก เทคโนโลยี และการหาตลาดหรือคู่ค้าที่แน่นอน

ในจังหวะนั้นเองเมื่อราว 2 ปีก่อนก็มีวิกฤตที่ผู้ส่งออกประสบอยู่ คือ เจอแมลง และยาฆ่าแมลง เพราะเกษตรกรไม่มีโรงเรือนแบบปิด จึงได้แปรวิกฤตมาเป็นโอกาสทำธุรกิจผักไฮโดรโพนิกส์ ซึ่งเป็นสินค้าพรีเมี่ยมพร้อมกับการหาตลาดรองรับก่อนลงทุนปลูกผัก ซึ่งมีผู้ส่งออกขานรับโมเดลธุรกิจนี้

“ผมมองว่าการทำธุรกิจ คือการไปแก้ปัญหา ถ้าเราแก้ได้ ธุรกิจก็เกิด ผมจะเอาตลาดนำการผลิต ไม่ใช่ปลูกก่อนแล้วเอาไปให้เขาชิม ถ้าไม่มีออร์เดอร์ผมจะไม่ปลูก”

จากนั้น “วงศ์อนันต์” ก็เริ่มลงทุนฟาร์มผักไฮโดรโพนิกส์ (Hydroponics Farm) เฟสแรก เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ส่วนเฟสที่ 2 และ 3 นั้นใช้วิธีการปลูกโดยใช้เทคโนโลยีที่ไม่ใช้ดิน (Substrate Culture) บนเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ งบประมาณลงทุนกว่า 10 ล้านบาท ไม่รวมค่าที่ดิน โดยประยุกต์ใช้ระบบโรงเรือนปิดที่ทันสมัยที่สุดจากอิสราเอล เน้นทั้งความสะอาด มาตรฐาน รวมถึงความสวยงาม เนื่องจากมีลูกค้าจากต่างประเทศเข้ามาดูกิจการเรื่อย ๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในด้านคุณภาพ ปัจจุบันมีโรงเรือนประมาณ 26 โรง คาดว่าจะคืนทุนภายใน 4 ปี

วงศ์อนันต์อธิบายว่า การปลูกด้วยระบบโรงเรือนปิดมีต้นทุนที่สูง ไม่สามารถส่งจำหน่ายในตลาดทั่วไปได้ จึงมองตลาดไว้ 2 ส่วน คือ ตลาดโมเดิร์นเทรด โรงแรม และตลาดส่งออก ปัจจุบันปลูกผักทั้งหมด 11 ชนิด ได้แก่ คะน้า กวางตุ้ง กวางตุ้งไต้หวัน ผักบุ้งจีน ผักชี ขึ้นฉ่าย ต้นหอม ผักกาดขาวไดโตเกียว โหระพา กะเพรา เป็นต้น โดยเฉพาะผักเมืองร้อนที่ต่างประเทศไม่สามารถปลูกเองได้ ซึ่งผักทุกชนิดได้มาตรฐาน Global GAP จึงทำให้สามารถเจาะตลาดพรีเมี่ยมและส่งเข้าตลาดโมเดิร์นเทรดในต่างประเทศได้ แต่กว่าจะได้ Global GAP ต้องใช้เวลาประมาณ 8 เดือน และเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

ขณะนี้ส่งผลผลิตให้กับผู้ส่งออก 3 รายนำไปจำหน่ายในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี และอังกฤษ ในอนาคตตั้งเป้าจะเป็นผู้ส่งออกเอง เนื่องจากยังไม่มีโรงงานเป็นของตัวเอง

“การผลักดันให้การเกษตรของไทยเป็น 4.0 ผมก็เห็นด้วย ต้องนำเทคโนโลยีมา อันดับแรกต้องเอาโรงเรือนมาใช้ ซึ่งรัฐจะต้องทำให้โรงเรือนราคาถูกกว่านี้ ถ้าให้เกษตรกรไปทำแล้วราคาขายเท่าเดิม มันก็ไม่ใช่ รัฐบาลต้องเข้ามาช่วย ต้องหาตลาดให้ มาตรฐานต้องได้ อย่างน้อยต้องได้ GAP”

ขณะเดียวกันจังหวัดสมุทรสงครามมีจุดเด่นเรื่องอาหารทะเล จึงแตกไลน์ทำธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป โดยร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ทำผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นปลา ลูกชิ้นกุ้ง และปลาทูนึ่งแม่กลอง โดยติดแบรนด์แม่กลองซีเล็ค (Maeklong Select) วางจำหน่ายในบิ๊กซี 77 สาขาทั่วประเทศ และอยู่ระหว่างเจรจากับแม็คโครและท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต

หากพูดถึงบทบาทประธาน YEC สมุทรสงคราม “วงศ์อนันต์” กล่าวว่า เริ่มตั้งแต่ปี 2558 ขณะนั้นเป็นรองประธานหอการค้าฝ่ายต่างประเทศ ได้รับมอบหมายให้รวมกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ขึ้นมา แรกเริ่มมีสมาชิก 10 คน ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 66 คนแม้จะมีจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากจะคัดเลือกเฉพาะคนที่มีธุรกิจ และเป็นทายาทที่จะเข้ามาพัฒนาธุรกิจต่อจากรุ่นพ่อแม่ หรืออยากจะเข้ามาเพื่อพัฒนาธุรกิจของตัวเอง ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน เมื่อเกิดการพัฒนาแล้ว ก็ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตตามไปด้วย

ที่ผ่านมามีการจัดกิจกรรม YEC street ในงานเทศกาลกินปลาทูแม่กลองในปี 2558 โดยได้จัดการแข่งขันกินปลาทูก้างนิ่มแห่งประเทศไทยขึ้น เพื่อเผยแพร่นวัตกรรมแห่งชาติ ที่สามารถทำให้ปลาทูกินได้ทั้งตัว ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมแข่งขันและเข้าชมจำนวนมาก นับว่าเป็นการเปิดตัว YEC จังหวัดสมุทรสงครามได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้เชิญตัวแทนของอาลีบาบามาอบรมให้ความรู้ด้านออนไลน์มาร์เก็ตติ้งให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และผู้ผลิตสินค้าโอท็อป

สิ่งเหล่านี้ทำให้โชคอนันต์ฟาร์ม และอาหารทะเลแปรรูปแบรนด์แม่กลองซีเล็ค โลดแล่นในยุทธจักรธุรกิจยุคใหม่ได้