เปิดขั้นตอน ขยายแฟรนไชส์ SMEs อยากโตบ้าง ต้องทำอย่างไร?

เปิดขั้นตอน ขยายแฟรนไชส์ SMEs ผู้ประกอบการ อยากโตบ้าง ต้องทำอย่างไร?

ธุรกิจแฟรนไชส์ คือ ธุรกิจที่ขยายตลาดและช่องทางการจัดจำหน่าย โดยดำเนินกลยุทธ์ให้ผู้อื่นใช้เครื่องหมายการค้า ได้แก่ ชื่อสินค้าหรือบริการ แบรนด์ หรือ โลโก้ โดยเจ้าของแฟรนไชส์ หรือ “Franchisor” จะถ่ายทอดความรู้ ความเชี่ยวชาญ (Know How) เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของตนให้กับผู้ซื้อแฟรนไชส์ หรือ Franchisee

ผู้ซื้อแฟรนไชส์ต้องมีการจ่ายชำระค่าสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้า และ Know How ที่ได้เรียนรู้ให้กับเจ้าของแฟรนไชส์ โดยมีรูปแบบการจ่ายชำระที่แตกต่างกันไปตามข้อตกลงของผู้ซื้อและผู้ขายแฟรนไชส์ เช่น จ่ายค่าแฟรนไชส์ครั้งแรก หรือ หักค่าสิทธิ์ Royalty Fees จากรายได้ของผู้ซื้อแฟรนไชส์ (Franchisee) เป็นต้น

โดยผู้ประกอบการที่อยากจะเปิดแฟรนไชส์ ต้องรู้ขั้นตอนในการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ที่ถูกต้อง ดังนี้

1. สร้างธุรกิจต้นแบบให้ประสบความสำเร็จ การจะเริ่มการทำธุรกิจแฟรนไชส์ ผู้ประกอบการต้องเริ่มจากการสร้างธุรกิจของตนเองให้ประสบความสำเร็จ เพื่อดึงดูดให้ผู้อื่นสนใจซื้อแฟรนไชส์ รวมถึงสร้างแบรนด์ เมื่อสินค้าหรือบริการ เริ่มเป็นที่รู้จักและประสบความสำเร็จ ก็ถือเป็นความพร้อมในการเริ่มต้นขยายธุรกิจในลักษณะของแฟรนไชส์ได้

  • จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ในระหว่างการพัฒนาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ผู้ประกอบการควรนำเครื่องหมายการค้าของสินค้าหรือบริการ ไปจดทะเบียนกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำสินค้าหรือบริการหรือเครื่องหมายการค้าของตนไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

2. จัดทำคู่มือการดำเนินธุรกิจ เมื่อผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจของตนได้แล้ว ควรรวบรวมความรู้ ความชำนาญ และวิธีการในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จที่ตนได้เรียนรู้มาจัดทำเป็นคู่มือ เพื่อเตรียมถ่ายทอดวิธีการดำเนินธุรกิจให้กับผู้ที่มาซื้อแฟรนไชส์ (Franchisee) ต่อไป

3. จัดทำสัญญาแฟรนไชส์ ในการขายแฟรนไชส์ต้องมีการทำสัญญา เพื่อเจ้าของแฟรนไชส์จะอนุญาตให้ผู้ที่มาซื้อแฟรนไชส์ใช้เครื่องหมายการค้าที่ได้มีการจดทะเบียนแล้วได้ รวมถึงยังมีเงื่อนไขข้อตกลงที่ควรระบุในสัญญาอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นค่าแฟรนไชส์ อัตรา Royalty Fees ระยะเวลาในการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้า ข้อกำหนดที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ต้องปฏิบัติตาม

เช่น ต้องใช้วัตถุดิบเฉพาะของเจ้าของแฟรนไชส์ ต้องอบรมบุคลากรตามระบบที่กำหนดไว้ เป็นต้น อย่างไรก็ ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองและกำหนดรูปแบบสัญญาแฟรนไชส์อย่างชัดเจน ดังนั้น ผู้ประกอบการควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายในการทำสัญญา และผู้ซื้อแฟรนไชส์ควรอ่านสัญญาให้ละเอียดครบถ้วน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแฟรนไชส์

1) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ประกอบธุรกิจทั้งขนาดกลางและขนาดย่อม โดยมีหน้าที่พัฒนาศักยภาพของธุรกิจ และเสริมสร้างความรู้ในการทำธุรกิจ ตลอดจนทำการเชื่อมโยงตลาด (Business Matching)

ที่อยู่ 563 ถ.นนทบุรี ต.บางกระสอ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 โทรศัพท์ 1570 อีเมล [email protected] และเว็บไซต์ www.dbd.go.th 

2) กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ผู้ประกอบการที่จะทำธุรกิจแฟรนไชส์ จะต้องติดต่อกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อขอจดทะเบียนธุรกิจของตนก่อนจะขายแฟรนไชส์ให้กับผู้อื่น เพื่อป้องกันไม่ให้มีใครสามารถลอกเลียนแบบธุรกิจของตนได้

ผู้ประกอบการสามารถจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ซึ่งหมายถึง แบรนด์ โลโก้ ของสินค้าหรือบริการ ได้ที่ เว็บไซต์ www.ipthailand.go.th ที่อยู่ 563 ถ.นนทบุรี ต.บางกระสอ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 สายด่วน 1368 อีเมล [email protected]

3) ThaiFranchiseCenter.com เว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกิจแฟรนไชส์อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการอบรม สัมมนา งานแสดง สินค้า ช่องทางในการโฆษณาธุรกิจ และข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์ รวมถึงเป็นแหล่งรวบรวมรายชื่อพร้อมช่องทางในการติดต่อร้านค้าที่ทำธุรกิจแฟรนไชส์ เว็บไซต์ www.thaifranchisecenter.com ที่อยู่ 97/6 หมู่ 1 ซ.วัดเลา ถ.พระราม 2 แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร 10150 โทรศัพท์ 02 896 7330 อีเมล [email protected] Line ID : thaifranchise

4) World Franchise Associates (WFA) เป็นหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์ระดับโลก โดยมีการให้ข้อมูลความรู้ การจัดงานมหกรรมเพื่อรวบรวมผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจแฟรนไชส์ และจัดแสดงสินค้าหรือบริการไปตามประเทศต่างๆ ทั่วโลกเป็นประจำทุกปี เว็บไซต์ www.worldfranchiseassociates.com ที่อยู่ International Office26 :York Street, London, W1U 6PZ, UK