ทำพืชเชิงซ้อน “ปลูกไผ่ร่วมยาง” ช่วยเพิ่มคุณภาพปริมาณน้ำยาง สร้างรายได้งามสองทาง

คุณขวัญใจ กลับสุกใส เจ้าของสวนไผ่ขวัญใจ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า ได้ลงทุนทำสวนไผ่ มาเป็นปีที่ 10 จำนวน 15 ไร่ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงขณะนี้ ยังมีรายได้ที่มั่นคง มีเสถียรภาพ และมีผู้สนใจมาซื้อพันธุ์ไผ่นำไปปลูก ขยายตัวไปยังหลายจังหวัดในภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสงขลา จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดตรัง และจังหวัดกระบี่ สำหรับภาคใต้แล้ว จังหวัดพัทลุง ถือว่าเป็นต้นแบบในการปลูกไผ่

คุณขวัญใจ กลับสุกใส กล่าวอีกว่า ปี 2559 ที่ผ่านมา ทางการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีนโยบายให้ชาวสวนยางทำสวนเชิงซ้อนถ้ามีความประสงค์ ทำให้มีเกษตรกรสวนยางพาราจากหลายจังหวัดในภาคใต้ เดินทางเข้ามาอบรมดูแลที่สวนไผ่ขวัญใจแล้ว 7 รุ่น รุ่นละ 50 คน เพื่อนำความรู้กลับไปลงทุนปลูกไผ่ร่วมยาง โดยปลูกยาง 1 แถว ปลูกไผ่ 1 แถว

“การปลูกไผ่ร่วมยาง จะทำให้ต้นยางมีคุณภาพ และทำให้หน้ายางเกิดสีชมพู ให้ปริมาณน้ำยางที่เพิ่มขึ้น ซึ่งก่อนนั้นเกษตรกรได้ดำเนินการปลูกไปก่อนแล้ว จำนวนหลายราย ต่างประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะที่จังหวัดกระบี่ แต่ที่สงขลา ยังเป็นของใหม่”

คุณขวัญใจ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับสวนไผ่ขวัญใจ ปลูกสายพันธุ์ไผ่ตงลืมแล้ง และสายพันธุ์ซางหม่น ต้นไผ่เป็นทั้งอาหาร แปรรูปเป็นเครื่องนุ่งห่ม ทำอาคารบ้านเรือน ฟาร์มไก่ รั้ว นั่งร้าน ฯลฯ ปัจจุบัน สวนไผ่ขวัญใจ ยังมีตลาดใหม่ มีการสั่งจองไผ่ วันละ 1,000 กระบอก เพื่อไปเป็นภาชนะสำหรับใส่น้ำดื่มผลไม้ เช่น น้ำสับปะรด น้ำอัญชัน ฯลฯ จำหน่ายกระบอกละ 20 บาท

“กระบอกไม้ไผ่ เป็นจอกไม้ไผ่ ดำเนินการมาแล้วประมาณ 1 ปี ตลอดมามีการสั่งเข้าถึงโรงแรมใหญ่ๆ ด้วย น้ำผลไม้ในกระบอกไม้ไผ่ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยจำหน่าย กระบอกละ 8 บาท ล็อตละ 1,000 กระบอก ไม้ไผ่ 1 ต้น มี 30 ข้อ เท่ากับ 30 กระบอก ต้นไผ่ 1 ต้น มีรายได้ ประมาณ 240 บาท ในส่วนตรงนี้จะมีรายได้ ประมาณกว่า 40,000 บาท ต่อเดือน”

คุณขวัญใจ กลับสุกใส กล่าวอีกว่า ไผ่ที่ขายเป็นต้น จะขายเป็นเมตร เมตรละ 30 บาท ต้นสูงขนาด 15 เมตร ประมาณ 450 บาท ต่อต้น ส่วนหน่อไม้ ยังมีเปลือก ราคา 50 บาท ต่อกิโลกรัม สำหรับหน่อไม้ปลอดสารพิษ โดยภาพรวมราคาไม้ไผ่เฉลี่ยแล้วมีเสถียรภาพ การปลูกไผ่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นตามลำดับ และมีแนวโน้มการลงทุนปลูกสวนไผ่ขนาดใหญ่ พร้อมลงทุนสร้างรีสอร์ตในสวนไผ่