โอทอป เทรดเดอร์ เดินหน้าขายแฟรนไชส์โอทอปไลฟ์สไตล์-มินิมาร์ท

ปิดฉากไปเรียบร้อยแล้วสำหรับงานTHAILAND OTOP INTERTRADER GRAND OPENING 2016 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ที่ลานอเนกประสงค์ ชั้น 2 อาคารบี ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ  ถือเป็นงานใหญ่อีกงานของชาวโอท็อป เพราะเป็นครั้งแรกในการจัดงานดังกล่าวที่มีบรรดาเทรดเดอร์ของโอทอปเป็นเจ้าภาพจัด ภายใต้การดูแลของคุณวัชรพงษ์ ระดมสิทธิพัฒน์ ประธานโอทอป เทรดเดอร์ ไทยแลนด์ และประธาน บริษัท อยุธยา โอทอป อินเตอร์เทรดเดอร์ จำกัด

คุณอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมพัฒนาชุมชน กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานเปิดงานว่า รู้สึกสบายใจเพราะเป็นงานเดียวที่ทางกรมไม่ต้องเสียงบประมาณในการจัด  ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาสำคัญของสินค้าโอท็อปคือช่องทางการตลาด เพราะเรื่องการผลิตและคุณภาพสินค้านั้นเป็นที่ยอมรับอยู่แล้วในระดับสากล แม้กระทั่งจุดกำเนิดสินค้าโอทอปที่ทางไทยไปนำต้นแบบมาจากประเทศญี่ปุ่น ยังบอกว่าโอทอปของไทยพัฒนาก้าวหน้าไปมาก ไม่จำเป็นต้องไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นอีกต่อไปแล้ว

เทรดเดอร์เข้มแข็ง10 จังหวัด

อย่างไรก็ตามตอนนี้ปัญหาการตลาดของโอทอปมีทางแก้แล้วนั่นคือ โอทอป เทรดเดอร์ ซึ่งจะมาช่วยเพิ่มช่องทางการขายให้มากขึ้น และสอดรับกับนโยบายไทยแลนด์4.0 ของรัฐบาลชุดนี้ โดยเทรดเดอร์เหล่านี้จะไม่ผลิตสินค้าแข่งกับผู้ประกอบการ แต่มีหน้าที่ในการหาช่องทางจำหน่ายแบบมืออาชีพให้ผู้ประกอบการ ขณะที่ทางกรมยังจะช่วยพัฒนาโอทอปอย่างเต็มที่ให้พร้อมขาย  โดยจะพาไปขายยังประเทศอาเซียนบวกสามด้วย นอกเหนือจากการจัดที่ขายในหัวเมืองใหญ่และตามจังหวัดชายแดนต่างๆ  ซึ่งในปีนี้กรมจัดงานโอทอปภูมิภาค 5 แห่งทั่วไทย ภายใต้แนวคิด

%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b8%9b%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%9e-69

ปัจจุบันมีเทรดเดอร์ที่เข้มแข็งนำร่องทั้งหมด 10 แห่ง ได้แก่ สระบุรี กาญจนบุรี พัทลุง สุราษฎร์ธานี ร้อยเอ็ด ชุมพร ตาก เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา และกาฬสินธุ์
อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนบอกอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นอกจากมีนโยบายนำสินค้าโอทอปขายบนเครื่องการบินไทยที่ปีหนึ่งๆมีผู้โดยสารกว่า 20 ล้านคนแล้ว ยังมีนโยบายให้ทำโอทอปแบรนด์เนม  ซึ่งทางกรมได้ร่วมกับศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ทีซีดีซี)ในการพัฒนาผู้ประกอบการในทุกเรื่องตั้งแต่เรื่องวัตถุดิบ การผลิต การออกแบบและการสร้างเรื่องราวในสินค้านั้นตามอัตตลักษณ์ของชุมชน  โดยเริ่มทำในรูปของคลัสเตอร์กระเป๋า  ซึ่งทำให้ได้สินค้ามีคุณภาพเพิ่มมูลค่าได้อีก จากที่เคยขายอยู่ 1000 บาท เพิ่มเป็น4500 บาท และต่างชาติอย่างญี่ปุ่นมีคำสั่งซื้อครั้งละหลายร้อยใบ  ดังนั้นในปี 2560 นี้ จะทำคลัสเตอร์อาหาร อีกประมาณ 2 หมื่นกลุ่ม โดยร่วมมือกับสถาบันอาหาร

“ปี 2559 นี้ สินค้าโอท็อปสามารถสร้างยอดขายได้ถึง 125000 ล้านบาท คาดว่าไม่เกิน3 ปี จะขยับไปถึงปีละ  200000 ล้านบาท”

ด้านคุณวัชรพงษ์กล่าวว่า โอทอปของไทยดำเนินการมา 15 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2544  จุดเด่นคือ มีความหลากหลายของสินค้าที่มาจากชุมชนทั่วประเทศ มีอารยวัฒนธรรม หลายสินค้ามีคุณภาพที่สามารถไปถึงตลาดสากล และหาซื้อทั่วไปไม่ได้เป็นตลาดเฉพาะ

%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b8%9b%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%9e-73

สำหรับปัญหาที่ผ่านมาคือ ผลิตได้แต่ไม่รู้จะขายใคร ขายที่ไหนอย่างไร ชาวบ้านไม่ถนัดเรื่องการตลาด ไม่มีช่องทางจำหน่ายที่ชัดเจนถาวร บรรจุภัณฑ์ไม่สวย การผลิตไม่สม่ำเสมอ หากมียอดการสั่งซื้อที่มาก การติดต่อประสานงานไม่เป็นระบบ ต่างคนต่างแย่งกันขาย ไม่ได้รวมกัน สร้างช่องทางการขายถาวรของโอทอปเอง ไม่วิเคราะห์การตลาดนำการผลิต ไปสู่ระบบสากลต่างประเทศไม่ได้ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ตามกฎหมายไม่มี หรือมีไม่ครบ เช่นอย. เลขจดแจ้ง ฮาลาล เป็นต้น

2รูปแบบแฟรนไชส์

วันนี้OTOP TRADER จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการทำหน้าที่เชื่อมโยงสินค้าไปสู่ผู้บริโภค เพื่อหาช่องทางในการจำหน่ายสินค้าOTOP 77 จังหวัดทั่วประเทศ ให้สอดรับกับการตลาดยุคใหม่ที่เปลี่ยนไปโดยดำเนินการในรูปแบบ บริษัทโอทอป อินเตอร์ เทรดเดอร์ ของแต่ละจังหวัด ภายใต้สัญลักษณ์เดียวกัน ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทที่จดทะเบียนแล้ว 25 บริษัท ซึ่งเป็นชื่อเดียวกันหมดเปลี่ยนในส่วนจังหวัดเท่านั้น เช่น บริษัทอยุธยา โอทอปอินเตอร์เทรดเดอร์ จำกัด โดยมีโอทอป เทรดเดอร์มาร่วมงาน OTOP TRADER ครั้งแรกที่ศูนย์ราชการฯ กว่า 42 บริษัท  และคาดว่าในไตรมาสแรกของปี 2560 จะจดทะเบียนกันครบทั่วประเทศ 76 จังหวัด(ยกเว้นกทม.) รวมแล้วมีโอทอปเทรดเดอร์ 76 ราย

“แนวคิดเรื่องเทรดเดอร์ ทำให้เกิดการขยายผลต่อยอดไปสู่เอาท์เล็ท และแฟรนไชส์ มินิมาร์ท หรือร้านสะดวกซื้อของสินค้าโอทอปที่จะสามารถกระจายขยายสาขาไปสู่พื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ มีการเชื่อมต่อ แลกเปลี่ยนสินค้าของ 77 จังหวัดเข้าด้วยกัน ที่สำคัญสามารถขยายไปยังต่างประเทศได้”

ทั้งนี้บริษัทโอทอป อินเตอร์เทรดเดอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นการรวมตัวของบริษัท จังหวัด โอทอป เทรดเดอร์ จำกัด ทั้ง 76 จังหวัด รวมหุ้นลงขันกันจังหวัดละ 1 แสนบาท รวม 76 หุ้น

%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b8%9b%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%9e-70

ตัวอย่างร้านโอทอปมินิมาร์ท

คุณวัชรพงษ์อธิบายว่า ผู้จัดการฝ่ายจัดจำหน่ายสินค้าโอทอประดับจังหวัด หรือโอทอปเทรดเดอร์จังหวัด รวม 76 รายนั้น จะต้องได้รับการคัดสรรมาจากพัฒนาการจังหวัด บนพื้นฐานหลักการที่ว่า “ใครก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ผลิตโอทอป แต่เป็นผู้ที่เข้าใจด้านการตลาด” มีองค์ความรู้หลากหลายเช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ความเข้าใจในช่องทางการตลาด การจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับโอทอป  สร้างโอกาสทางการตลาดให้โอทอปได้ สามารถประสานงาน เชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆได้ และบริหารจัดการเป็น

สำหรับบทบาทและหน้าที่ของโอทอป เทรดเดอร์ มีหลักๆอยู่3 ขั้นตอน เริ่มจากขั้นตอนที่1 เตรียมตัวออกตลาด  โดยจะต้องรวบรวมสินค้าโอทอปทุกกลุ่ม ทุกประเภท จัดทำเป็นรายการสินค้าว่ามีอะไรบ้าง ราคาขายปลีกเท่าไหร่ ขายส่งอัตราการผลิตต่อวัน ต่อเดือน ต่อปี ฯลฯ

ขั้นตอนที่2 เดินหน้าหาตลาด แบ่งเป็นตลาดภายในจังหวัด ตลาดภายนอกจังหวัด ช่องทางการตลาดระบบอีคอมเมิร์ซ พร้อมวิเคราะห์โอกาสทางการตลาด ส่วนขั้นตอนที่3 สร้างเครือข่ายร้านค้า ขยายสาขาในจังหวัด แยกเป็นศูนย์โอทอปเดิมที่ดำเนินการอยู่ จะต้องปรับปรุงเรื่องป้ายหน้าร้านให้เป็นแนวทางเดียวกันทั่วประเทศ และสะดวกในการประชาสัมพันธ์รวม รวมทั้งต้องปรับปรุงการจัดวงสินค้าในร้านใหม่ ให้ดูดีน่าสนใจ

ส่วนการเปิดร้านโอทอปใหม่ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ รูปแบบมินิมาร์ท โอทอป ซึ่งใช้แนวทางร้านสะดวกซื้อทั่วไป โดยสินค้าในร้านเน้นภาพรวมของสินค้าโอทอป 70% นอกนั้นเป็นสินค้าปกติที่มีวางขายในร้านสะดวกซื้อ

ส่วนอีกรูปแบบเป็นร้านโอทอปไลฟ์สไตล์ เป็นการจัดรูปแบบไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับสถานที่และกลุ่มลูกค้าภายในร้าน เน้นจัดให้ดูดีสวยงาม อาจมีร้านกาแฟ ร้านอาหาร พร้อมมีที่นั่งสบายๆให้ลูกค้า   ซึ่งการจะจัดรูปแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่  อย่างไรก็ตามประมาณการว่าทั้งสองรูปแบบจะใช้เงินลงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท ทั้งในเรื่องอุปกรณ์ชั้นวางสินค้า ระบบคอมพิวเตอร์ รวมทั้งตัวสินค้าด้วย  งบประมาณตั้งร้านขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่ด้วย

%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b8%9b%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%9e-71

ยันไม่ได้เปิดร้านแข่งกับเซเว่นฯ

ประธานโอทอป เทรดเดอร์ ไทยแลนด์ บอกอีกว่า ผู้ที่ต้องการจะเปิดร้านโอทอปแต่ละรูปแบบนั้นจะต้องไปเจรจากับทางโอทอปเทรดเดอร์ของจังหวัดนั้นๆก่อน ซึ่งตามหลักการแล้วการทำธุรกิจแฟนไชส์แบบนี้ไม่ได้เอากำไรสูงสุดเป็นตัวตั้ง  เพราะเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) อันเป็นการสร้างช่องทางการขายอย่างถาวรให้กับผู้ประกอบการโอทอป  ไม่ใช่ต่างคนต่างขาย

“ต้องคิดว่าร้านโอทอปไม่ได้ไปแข่งหรือไปสู้กับร้านสะดวกซื้อย่างเซเว่นฯ หรือห้างไหนๆก็ตาม เป็นเพียงการหาที่หายใจหรือหาที่ยืนให้กับบรรดาโอทอปเอง ซึ่งถ้าไม่รวมตัวกันไม่ลุกขึ้นยืนจะอยู่ได้อย่างไร การตั้งบริษัทขึ้นมาก็เพื่อจะเริ่มนับหนึ่งใหม่ให้ถูกต้อง ชัดเจนมีระบบ ก่อนที่จะก้าวไปนับสองนับสาม ไม่ใช่ทำแบบจิตอาสา  ถ้าไม่รวมตัวไม่ช่วยกันโอทอปก็จะไปไม่รอด ที่ผ่านมามีเพียงไม่กี่รายที่ยืนอยู่ได้อย่างยั่งยืน จะเห็นว่าส่วนใหญ่ผู้ประกอบการโอทอปรายเล็กรายน้อยตายหมด เนื่องจากมีแต่จะแย่งกันขายอย่างเดียว”

คุณวัชรพงศ์บอกอีกว่า  แม้จะเป็นประธาน บริษัท อยุธยา โอทอป อินเตอร์เทรดเดอร์ จำกัด  แต่ไม่มีสินค้าเป็นของตัวเองเลย เป็นการนำสินค้าโอทอปของบ้านเราไปออกบูธในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่จีนไปในหลายมณฑลแล้ว  ซึ่งผู้ที่ได้ประโยชน์ก็คือ ผู้ผลิตสินค้าโอทอปนั่นเอง

%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b8%9b%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%9e-65

“ผมลงทุนประมาณ 80 ล้านบาท ก่อสร้างศูนย์โอท็อป เอาต์เลต (ประเทศไทย) ขนาด 6,000 ตารางเมตร บนพื้นที่ 20 ไร่ บริเวณ กม.44 ติดถนนสายเอเชีย หน้าโครงการพุทธอุทยานมหาราช (หลวงปู่ทวดองค์ใหญ่) ต.บ้านใหม่ อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา คาดว่าเปิดบริการในเดือนมีนาคม 2560 ตั้งเป้ายอดขายปีแรกไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท เพราะมีเป้าหมายเปิดสาขาด้วยระบบแฟรนไชส์ทั่วประเทศ รวมถึงในประเทศเพื่อนบ้าน ขยายไปถึงจีนด้วย เพราะคนจีนเชื่อถือสินค้าไทยมาก ตอนนี้ตลาดเป้าหมายคือ เมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน มีประชากร 100 ล้านคน และมณฑลกุ้ยโจว ประชากร 35 ล้านคน”

จากนี้คงต้องติดตามกันว่าโอทอป เทรดเดอร์ทั้งหลาย จะเข้ามามีบทบาทในการเพิ่มช่องทางการขายให้กับเหล่าผู้ประกอบการโอทอปได้มากน้อยแค่ไหน