ข้าราชการวัยเก๋า ผุดไอเดียกู้แล้วรวย! ทำเกษตรพอเพียง ต่อยอดเงินกู้สวัสดิการ

ข้าราชการวัยเก๋า ผุดไอเดียกู้แล้วรวย! ทำเกษตรพอเพียง ต่อยอดเงินกู้สวัสดิการ

หนี้สิน ปัญหาเรื้อรังของหลายครัวเรือนในประเทศไทย ไม่ว่าสาเหตุจะเกิดจาก รายได้ไม่แน่นอน ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพที่สูง สวนทางกับเงินเดือนที่ได้ ผลผลิตที่เป็นแหล่งรายได้ มีจำนวนไม่แน่นอน ทำให้รายได้ไม่คงที่ การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หรือเหตุผลอื่นๆ ก็สุดแท้แต่ หลายๆ คน เลือกที่จะแก้ปัญหาโดยการ กู้เงิน ทั้งในระบบของธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร รวมไปถึงกู้เงินนอกระบบ

คุณภัทธศาสน์ มาสกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยม เขต 28 ประจำจังหวัดศรีสะเกษ วัย 58 ปี

“เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” มีโอกาสได้สัมภาษณ์ คุณภัทธศาสน์ มาสกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยม เขต 28 ประจำจังหวัดศรีสะเกษ วัย 58 ปี ที่มีแนวคิดน่าสนใจ ที่ยอมให้ตัวเองเป็นหนี้ เพื่อเอาเงินที่กู้มาต่อยอดสร้างรายได้

เขาให้สัมภาษณ์ว่า ตนทำอาชีพรับราชการมาได้ 36 ปี โดยส่วนตัวเขาชื่นชอบด้านการเกษตร ผนวกกับทางบ้านมีที่ดินสวนที่พ่อแม่ยกให้อยู่จำนวนหนึ่ง และตนก็มองเห็นว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นปรัชญาที่หากเข้าใจอย่างถ่องแท้ ก็สามารถตอบโจทย์ชีวิตได้ดี อีกทั้งอาชีพรับราชการเอง ก็มีสวัสดิการช่วยเหลือด้านการเงิน อย่าง โครงการสวัสดิการเงินกู้ ชพค. ซึ่งให้สิทธิ์ดีและมีดอกเบี้ยถูก จึงคิดต่อยอดสวัสดิการที่มีสิทธิ์ใช้เข้ากับการทำการเกษตรที่ทำควบคู่กันมา

“ผมรับราชการมา 30 กว่าปี แล้วก็เริ่มมาทำสวนมะม่วงนอกฤดูกาลตอนปี 2532 ราชการเขาก็มีสวัสดิการที่ไว้ช่วยเหลือด้านการเงิน ซึ่งผมเองก็มีสิทธิ์ตรงนี้ก็เลยอยากจะใช้สิทธิ์ ก็ไปกู้เงินเขามาล้านสอง แล้วเอามาต่อยอดกับสวนมะม่วงที่ทำอยู่ เป็นการทำเกษตรพอเพียงแบบลงทุน แต่การขุดสระ เดินระบบน้ำ ซื้อพันธุ์มาปลูก มันใช้เงินเยอะ เงินจากการขายผลผลิตเมื่อได้มาก็ไม่เพียงพอกับความต้องการ แต่ก็ค่อยๆ เพิ่มเติมไปเรื่อยๆ พอทำได้ 3 ปี ก็ไปกู้เพิ่มอีกล้านแปด วงเงินเต็มเพดานแล้ว ก็เอาเงินที่ได้ มาต่อยอดทำปั๊มน้ำมัน” คุณภัทธศาสน์ กล่าว

อ่านข่าว  ฟังไว้! ถ้าอยาก “ผัดผักบุ้ง” ให้สีเขียวสด ไม่เหี่ยว น่ารับประทาน
อ่านข่าว  พาไปดูวิธีการเก็บ “แครนเบอร์รี่” แบบลอยน้ำที่สหรัฐอเมริกา

คุณภัทธศาสน์ เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า สวนมะม่วงนอกฤดูของเขา เป็นสวนที่มีมะม่วงอยู่ทุกสายพันธุ์กว่า 4,000 ต้น ปลูกในพื้นที่กว่า 100 ไร่รวมกับสวนยาง แม้รายได้จะไม่แน่นอน เพราะขึ้นอยู่กับราคาขายของผลผลิตที่ขึ้นลงอยู่ตลอด แต่สามารถสร้างรายได้ให้เขาได้ปีละประมาณ 500,000-800,000 บาท

จึงนำเงินมาหมุนเวียนทำ ร้านขายวัสดุทางการเกษตรเพิ่ม ต่อมาเขาได้แรงบันดาลใจจากคำกล่าวที่ว่า “แหล่งท่องเที่ยวสร้างได้” จึงพัฒนาต่อยอดมาทำเป็นแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรแบบพอเพียง เพื่อเดินตามรอยพ่อหลวง ร.9

“พอทำปั๊มเสร็จก็ทำเป็นร้านขายของ แล้วก็ต่อยอดไปเป็นแหล่งการเรียนรู้แบบพอเพียง โดยทำเป็นสวนผลไม้เศรษฐกิจนานาชนิด อาทิ เงาะ, ลองกอง, มังคุด แล้วก็ทุเรียน ซึ่งทุเรียนที่ขึ้นชื่อของศรีสะเกษ ก็คือทุเรียนภูเขาไฟ ที่ปลูกได้แค่ 3 อำเภอ คือ อำเภอกันทรลักษ์, อำเภอขุนหาญ และ อำเภอศรีรัตนะ ซึ่งบ้านผมก็อยู่ในอำเภอกันทรลักษณ์ ก็เลยปลูกทุเรียนภูเขาไฟเข้าไปด้วย” คุณภัทธศาสน์ กล่าวมาอย่างนั้น

ทุเรียนภูเขาไฟในสวนของเขา มีอยู่ประมาณ 800 ต้น ให้ผลผลิตประมาณ 100-200 ตัน โดยคุณภัทธศาสน์เก็บค่าเข้าสวนคนละ 40 บาท สามารถเลือกทานได้ทุกอย่าง ยกเว้นทุเรียน ซึ่งตั้งแต่เปิดสวนมา มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมสวน 10,000 คน ต่อปี จากนั้นเขาก็ต่อยอดพัฒนาไปเรื่อยๆ จนเมื่อปี 2545 เกิดเป็นธุรกิจ “ปั่นคูณ โฮมสเตย์” รองรับเข้ากับสวนผลไม้ ที่ดึงดูดให้คนเข้ามาเยี่ยมชมมากมาย และแยกย่อยออกมาทำร้านกาแฟและห้องประชุมเพิ่มเติม

โฮมสเตย์ มีทั้งหมด 12 ห้อง ในช่วงที่เป็นเทศกาลผลไม้ เขาบอกว่า จะมีคนเข้ามาเที่ยวสวนกันเยอะ สวนผลไม้กับโฮมสเตย์ และร้านกาแฟ จึงกลายเป็นธุรกิจที่รองรับกันและกัน ทำให้เกิดรายได้ที่เขากล่าวว่า สามารถเลี้ยงตัวเองได้ในระดับหนึ่ง

“ยิ่งรายได้ผมมีมากเท่าไหร่ หักลบเงินที่ไปกู้เขามาแล้ว ผมก็เอาไปลงทุนกับสิ่งที่ทำให้ครบวงจรมากขึ้น ส่วนห้องประชุม ก็สร้างหลังทำโฮมสเตย์ได้ไม่นาน ผมมองว่าในศรีสะเกษ ยังไม่มีใครทำห้องประชุมใหญ่ๆ เลย มองยังไงมันก็ต้องมีที่รองรับการประชุมหรือสัมมนาบ้าง เลยสร้างห้องประชุมเพิ่ม ให้มีสระน้ำ นาข้าว จนปี 2555 ก็เสร็จหมด แล้วก็ต่อเติมนิดๆ หน่อยๆ มาเรื่อย จริงๆ ผมวางแผนไว้ว่า อยากให้ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบครบวงจร เป็นที่ขึ้นชื่อของศรีสะเกษ ตอนนี้ก็มีคนเข้ามาดูงานในแต่ละวันค่อนข้างเยอะ ก็ภูมิใจและดีใจที่คนให้ความสนใจกันขนาดนี้” คุณภัทรศาสน์ กล่าว

เห็นอย่างนั้นจึงอดถามด้วยความสงสัยไม่ได้ว่า ครูส่วนใหญ่ทำไมถึงเลือกที่จะเป็นหนี้เงินกู้ คุณภัทธศาสน์ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ออกมาว่า ตนเองก็ถือว่าเป็นหนี้เงินกู้เช่นเดียวกัน แต่เป็นหนี้ชั่วคราว เพราะเขากู้เงินมาต่อยอดสร้างรายได้

“การกู้เงินไปทำอะไรก็ตาม ถ้าไม่เอาไปต่อยอด การกู้เงินมาตรงนั้นก็จะทำให้เราเป็นหนี้ไปตลอดชีวิต ไม่ว่าจะกู้มาจากไหน ดอกร้อยละเท่าไหร่ คุณต้องวางเป้าหมายในการกู้ของคุณด้วย ว่าจะเอาเงินไปทำอะไร แล้วลงมือทำ พอมันสำเร็จใช้หนี้หมด คุณไม่ต้องมากังวลแล้วว่าจะหาเงินมาใช้หนี้” คุณภัทธศาสน์ กล่าวทิ้งท้าย

หากใครสนใจอยากไปดูงาน เที่ยวสวนผลไม้ หรือเข้าพักโฮมสเตย์ ของคุณภัทธศาสน์ สามารถเข้าไปสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เพจ ปั่นคูณ โฮมสเตย์ & สวนปั่นคูณ

เผยแพร่ครั้งแรก วันพฤหัสที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2562