ผู้เขียน | รัชรินธร บุตรกันหา |
---|---|
เผยแพร่ |
KTC (เคทีซี) หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ 5 พันธมิตรธุรกิจอีคอมเมิร์ซและช้อปปิ้งออน ไลน์ยักษ์ใหญ่ ลาซาด้า, ทีวี ไดเร็ค, ซิลิงโก้, ลอรีอัล และ พอลพ่า บาย ดามาคัน เปิดเวทีเสวนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนท่ามกลางกระแสดิจิทัล พร้อมเผยมุมมองการนำพาธุรกิจสู่ความสำเร็จ และชี้นำบริการออนไลน์ที่สะดวกสบายให้กับคนยุคใหม่
คุณพิทยา วรปัญญาสกุล – รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจบัตรเครดิต “เคทีซี” กล่าวถึงภาพรวมของการทำธุรกิจออนไลน์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาว่า มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด พร้อมทั้งช่วยสร้างรายได้ทางอาชีพและขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจให้หมุนเวียน ด้วยเทคโนโลยีและสื่อสังคมออนไลน์ที่ทันสมัยส่งผลให้เกิดโอกาสดีในการติดต่อสื่อสารแบบไร้ขีดจำกัด ทางเคทีซีได้เพิ่มช่องทางธุรกิจสู่ออนไลน์ ซึ่งกระแสตอบรับดี มียอดชำระเงินบัตรเครดิตผ่านช่องทางออนไลน์เติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีสมาชิกใหม่เข้ามาใช้จ่ายออนไลน์ในปี 2561 เพิ่มขึ้น 13% จากปี 2560 อีกด้วย
เคทีซีจึงสรรหาสิทธิประโยชน์มาตอบโจทย์ความต้องการไม่น้อยไปกว่าการใช้บัตร ณ เคาน์เตอร์ ถือได้ว่าเป็นแหล่งรวมโค้ดส่วนลดจากพันธมิตรออนไลน์มากที่สุดกว่า 80 พันธมิตรต่อเดือน ซึ่งขณะนี้เคทีซีได้สร้างแลนดิ้งเพจที่ www.ktc.co.th/shoponline เพื่อให้สมาชิกเข้าถึงข้อมูลสิทธิประโยชน์ได้ง่าย สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
ด้าน คุณธนิดา ซุยวัฒนา – ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย จำกัด กล่าวถึงภาพรวมของธุรกิจไปในทิศทางเดียวกันว่า มีการเติบโตอย่างน่าสนใจ เนื่องจากมีมาร์เก็ตเพลซรายใหม่จากต่างประเทศเข้ามาดำเนินธุรกิจ และมีสินค้าข้ามพรมแดนเข้ามาในไทยมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้การแข่งขันทางธุรกิจอีคอมเมิร์ซดุเดือดมากขึ้นด้วยแต่หากเทียบกับประเทศอื่น ๆ อย่างจีน เกาหลีใต้และอเมริกาแล้ว ตลาดในไทยยังค่อนข้างเล็กกว่ามาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโอกาสในการทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ของไทยยังมีช่องว่างอีกมากสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหม่
ส่วนการทำตลาดในประเทศไทยของลาซาด้า คุณธนิดา ระบุว่า มีการใช้งบประมาณจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้จะเน้นรูปแบบออฟไลน์มากยิ่งขึ้น รวมถึงกลยุทธ์ผลักดันผู้บริโภคที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ซื้อขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ได้มาทดลองใช้งาน โดยเฉพาะแพลตฟอร์ม “เสิร์ชอะไรก็เจอ” ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการบริการ ทำให้ยอดส่งสินค้าอยู่ที่ 5% ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยทางลาซาด้าให้ความสำคัญในทุกเรื่อง อาทิ เพิ่มช่องทางการชำระสินค้า-การขอเงินคืน และระบบขนส่งสินค้า เป็นต้น
คุณทรงพล ชัญมาตรกิจ – ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงธุรกิจออนไลน์ว่า ประเทศไทยและต่างประเทศมีความแตกต่างกันกันอยู่ เนื่องจากคนไทยมีความเชื่อถือคนแปลกหน้าสูงมาก เป็นประเทศแรก ๆ ที่นำแอปพลิเคชั่นโพสต์รูปภาพอย่างอินสตราแกรมมาเป็นช่องทางในการทำธุรกิจขายสินค้า แตกต่างจากในต่างประเทศเป็นการซื้อขายผ่านเว็บไซต์ ขายผ่านแอปพลิเคชั่นมากกว่า รูปแบบของอีคอมเมิร์ซระหว่างลูกค้ารายย่อยซื้อขายกันเองจะเติบโตสูงกว่าการซื้อขายระหว่างธุรกิจกับผู้บริโภคถึง 5 เท่า
“ทีวี ไดเร็ค คาดว่าปีนี้จะเติบโต 35% โดยสินค้าที่ลูกค้านิยมมากที่สุดในบริษัทเป็นสินค้าประเภทเครื่องครัว ชุดชั้นในสตรี กางเกงชั้นในบุรุษ ซึ่งสินค้าเฉพาะกลุ่มมีกลยุทธ์ดึงดูดลูกค้าโดยการใช้โปรโมชั่น กลุ่มผู้หญิงต้องมีการลดราคา สำหรับกลุ่มผู้ชายต้องมีของแถม”
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ไดเร็ค เผยกลยุทธ์ว่า ในปีนี้จะพัฒนารูปแบบการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต และบุกตลาดกลุ่มผู้สูงอายุ โดยสามารถชำระค่าสินค้าปลายทางได้ เป็นต้น
คุณนริสรา ลิมปนาทร – ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ซิลิงโก้ ประเทศไทย จำกัด (แพลตฟอร์มแฟชั่นออนไลน์) กล่าวเสริมว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตลาดออนไลน์ในประเทศไทยเติบโตค่อนข้างสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่มักใช้การแข่งขันทางราคามาเป็นกลยุทธ์ในการทำตลาด ในขณะที่กลุ่มประเทศทางโซนยุโรปจะคุ้นชินกับอีคอมเมิร์ซและการใช้บัตรเครดิตมากกว่า เรื่องของราคาจึงมีการแข่งขันกันไม่รุนแรงนัก
คุณนริสรา เเนะนำว่า ในยุคดิจิทัลผู้ประกอบการต้องปรับตัวหลายอย่างให้ทันกับตลาด โดยมี 3 ปัจจัยหลักที่สำคัญ 1. ต้องทราบปัญหาของลูกค้า และหาวิธีต่างๆ มาตอบโจทย์ลูกค้าอย่างที่ตลาดทั่วไปทำไม่ได้ เช่น การให้สินค้าก่อนการชำระเงินหรือการชำระเงินปลายทาง 2. การขยายสินค้าและกำหนดราคาให้เหมาะสม ดูว่าตอบโจทย์คนในพื้นที่มากน้อยเพียงใด สอดคล้องกับวัฒนธรรมหรือไม่ และ 3. การเก็บข้อมูลและวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้สามารถโฟกัสได้ตรงจุดว่าลูกค้าต้องการอะไร มีการซื้อสินค้าประเภทใดมากที่สุด พฤติกรรมของผู้บริโภคจึงเสมือนตัวกำหนดกลยุทธ์ของบริษัทในประเทศนั้น ๆ
“แนวโน้มการทำตลาดออนไลน์จากนี้ต่อไปคาดว่าจะสูงขึ้น และมีรายใหม่ ๆ เข้ามา ซิลิงโก้พยายามเข้าไปช่วยผู้ทำธุรกิจเชื่อมตรงกับโรงงานหรือซัพพลายเออร์โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง ทำให้ร้านค้าซื้อสินค้าได้ถูกลง ปลอดภัยกว่าและยังได้รับมูลค่าเพิ่มจากบริการที่ซิลิงโก้มี ในส่วนของโปรโมชั่นจะเน้นให้ลูกค้าได้สินค้าในราคาที่ถูกเสมือนได้ฟรี พร้อมทั้งคูปองโค้ดส่วนลดพิเศษสำหรับลูกค้าเมื่อใช้บัตรเครดิต นอกจากนี้ยังของขวัญต่าง ๆ แจกในโซเชียลมีเดีย สร้างแรงจูงใจให้กับผู้บริโภค เช่น เทรนด์สไตล์การแต่งกาย สินค้ายอดฮิต และการคืนเงินในซิลิงโก้ วอลเล็ต”
ทางด้าน คุณจุรีรัตน์ ก้องเกียรติวงศ์ – หัวหน้าสายงานดิจิทัล แผนกเครื่องสำอางชั้นสูง บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวถึงการทำธุรกิจออนไลน์ในไทยและต่างประเทศว่ามีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการพัฒนาและการครองตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ อย่างที่สามารถเห็นได้ชัด คือ พฤติกรรมของลูกค้าในประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะคำนึงถึงความสะดวกสบายจากการซื้อขายทางออนไลน์เป็นสำคัญ ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาจะพิจารณาถึงความคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายหรือส่วนลดต่าง ๆ เป็นสำคัญ แต่เทรนด์ธุรกิจออนไลน์จะเกิดขึ้นเช่นเดียวกันทั่วโลก คือ เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว โดยที่ผู้ประกอบการในตลาดจะนำเทรนด์ใหม่ ๆ เข้ามาในแพลตฟอร์ม เพื่อช่วยให้ผู้ซื้อสามารถตัดสินใจได้รวดเร็วขึ้น
ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดของการทำธุรกิจออนไลน์ในยุคดิจิทัล คือ การคำนึงถึงผู้บริโภคเป็นหลัก วิเคราะห์ทำความเข้าใจว่าจะเข้าถึงลูกค้าแต่ละกลุ่มอย่างไร และมอบประสบการณ์แก่ผู้บริโภคในช่องทางดิจิทัลให้ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งทางลอรีอัลได้จับมือกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสและทดลองสิ่งใหม่กับพันธมิตรเหล่านี้ รวมถึงการสร้างโอกาสในการขยายช่องทางการขายใหม่ ตลอดจนปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อรองรับกระแสดิจิทัล
คุณกีรติ โรจนกีรติกานต์ – ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท พอลพ่า บาย ดามาคัน จำกัด (จำหน่ายสินค้าพรีเมียมเพื่อสุขภาพ) แสดงความคิดเห็นว่า ธุรกิจออนไลน์ในประเทศไทยต้องใช้การเข้าถึงตัวบุคคลค่อนข้างมาก เพราะคนไทยชอบการรีวิวและการเข้าถึงโลกออนไลน์ได้ง่าย เช่น การทำธุรกิจบนแอปพลิเคชั่นไลน์ที่ได้สื่อสารกับผู้ขายโดยตรง
และการที่ผู้คนอยู่กับโลกดิจิทัลถือเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจทุกประเภท ในแง่ของธุรกิจหันมาทำออนไลน์อย่างมากไม่ว่าจะเป็นรายย่อยหรือรายใหญ่ ความท้าทายจึงเกิดขึ้น เพราะคู่แข่งเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดการแข่งขันในเรื่องของราคาสูง แต่ในด้านบริการยังต้องคงคุณภาพให้ดีเสมอ
“พอลพ่า เป็นสตาร์ตอัพจำหน่ายสินค้าพรีเมียมเพื่อสุขภาพ และยังเป็นการรวมตัวของบุคลากรที่มีความสามารถพร้อมทั้งมีประสบการณ์จากธุรกิจชั้นนำ พอลพ่าจึงเป็นบริษัทเดียวที่ให้บริการอาหารดีลิเวอร์รีที่ทำงานเองทุกอย่างแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่ทำอาหารเอง ทำเว็บไซต์ รวมไปถึงแอปพลิเคชั่น และมีพนักงานจัดส่งเป็นของทางบริษัทเอง ซึ่งกิจกรรมการตลาดที่พอลพ่าจัดและได้รับความสำเร็จมากในไทย คือ การลดราคา การแจกของรางวัลชิ้นใหญ่โดยให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในสิ่งง่าย ๆ และมีขั้นตอนไม่มาก เช่น การแนะนำเพื่อนใช้บริการผ่านแอปพลิเคชั่น แล้วลุ้นรับสมาร์ทโฟน”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันนี้การซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์จะสะดวก สบาย สำหรับคนส่วนใหญ่ แต่ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่ยังมีความกังวลในการใช้บริการออนไลน์ ดังนั้นผู้บริโภคจึงควรระมัดระวังการให้ข้อมูลสำคัญผ่านสื่อ และทางผู้ประกอบการเองควรมีมาตรการป้องกันข้อมูลของลูกค้าที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ รวมไปถึงพัฒนาธุรกิจออนไลน์ซึ่งเป็นที่น่าจับมองตาในไทยขณะนี้ให้ก้าวไกลทันกระแสโลกาภิวัตน์มากยิ่งขึ้น คุณกีรติทิ้งท้ายไว้