เผยแพร่ |
---|
ยกระดับ ถั่วเขียว สู่ กรีนทีน เครื่องดื่มโปรตีนทางเลือก นวัตกรรมสุขภาพฝีมือคนไทย เอาใจสายสุขภาพ
ถั่วเขียว ถือเป็นผลผลิตทางการเกษตรไทยที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น เพาะปลูกได้ง่ายในทุกสภาพดิน ทั้งยังมีคุณสมบัติสำคัญในการฟื้นฟูและสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรดิน นอกจากนั้น ยังเป็นวัตถุดิบสำคัญในการรังสรรค์เมนูขนมหวาน อาทิ ถั่วเขียวต้มน้ำตาล ขนมกง ฯลฯ ขณะที่ต่างประเทศอย่าง อินเดีย ได้มีการนำถั่วในตระกูลเดียวกันทำเมนูอาหารคาว
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ SCI-TU เปิดตัว “GreenTien” (กรีนทีน) แบรนด์เครื่องดื่มโปรตีนทางเลือกใหม่ สกัดจากถั่วเขียว 100% เจาะตลาดกลุ่มผู้รักสุขภาพ ผู้แพ้กลูเตน-แลคโตส และวีแกน ด้วยคุณสมบัติเฉพาะตัว ไม่มีสารประกอบที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ท้องอืด ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพในห้องแล็บและทดสอบรสชาติพบ ‘GreenTien ดื่มง่ายกว่านมถั่วเหลือง ด้วยรสสัมผัสที่หวานน้อย ไม่แต่งกลิ่น-รส แคลอรีต่ำ’ ตอกย้ำศักยภาพด้วยรางวัลเหรียญทอง จากเวทีประกวดและแข่งขันสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ITEX 2023 ด้วยเงื่อนไข SDG2 มุ่งขจัดความหิวโหยและความอดอยากทุกรูปแบบ

รองศาสตราจารย์ ดร.เทพปัญญา เจริญรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. เปิดตัว ‘GreenTien’ (กรีนทีน) เครื่องดื่มโปรตีนทางเลือกสกัดจาก ‘ถั่วเขียว’ เอาใจคนรักสุขภาพ สายวีแกน หรือมังสวิรัติ รวมถึงผู้บริโภคที่แพ้โปรตีนกลูเตนจากธัญพืชและน้ำตาลแลคโตสในนม ได้รับแรงบันดาลใจจากการมองหาแหล่งโปรตีนใหม่ทดแทน ‘ถั่วเหลือง’ ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงแต่มีกลิ่นเฉพาะตัวที่แตกต่าง
โดยจากการศึกษาพบว่า ‘ถั่วเขียว’ มีกลิ่นหอมอ่อนตามธรรมชาติ มีปริมาณโปรตีนประมาณ 24 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ถั่วเหลืองจะมีปริมาณโปรตีนประมาณ 34 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้น ถั่วเขียวยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินที่หลากหลาย ใยอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่ม ‘สารประกอบฟีนอลิก’ (Phenolic Compounds) รวมถึงยังปราศจากกลูเตน นอกจากนั้น ยังพบว่า ถั่วเขียวเป็นธัญพืชที่มีฤทธิ์เย็นและเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นที่นำมาใช้เป็น ‘อาหารยาตำรับโบราณ’ ที่สอดแทรกวัฒนธรรมอาหารในหลากหลายเชื้อชาติ อาทิ จีนและเกาหลี
‘GreenTien’ (กรีนทีน) หรือ ‘Alternative plant-based protein drink for healthiness’ ผ่านการวิเคราะห์คุณค่าทางอาหาร รวมถึงทดสอบทางประสาทสัมผัส พบว่า ‘GreenTien 1 ขวด (240 มล.) มีโปรตีน 5.3 กรัม ซึ่งนมวัวปริมาตรเท่ากันมีโปรตีน 8.0 กรัม อย่างไรก็ตาม ด้วยกรรมวิธีผลิตที่พัฒนาขึ้นทำให้ ‘GreenTien มีแคลอรีต่ำ โดยมีคาร์โบไฮเดรตเพียง 1.7 กรัม และไขมันเพียง 0.2 กรัม ซึ่งน้อยกว่านมวัวที่มีคาร์โบไฮเดรตมากถึง 12 กรัม และไขมันมากถึง 9 กรัม
นอกจากนี้ ด้วยกลิ่นที่เฉพาะและรสหวานน้อยๆ ทำให้ ‘GreenTien เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้บริโภคโปรตีนจากพืช ทั้งนี้ GreenTein เป็นผลผลิตจากการนำถั่วเขียวมาผ่านกระบวนการทางเทคโนโลยีเอนไซม์ เพื่อเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบในถั่วเขียวให้ดูดซึมได้ง่าย มีรสหวานตามธรรมชาติโดยไม่ต้องใส่น้ำตาลหรือสารเพิ่มความหวาน ซึ่งกระบวนการดังกล่าว ได้รับการจดอนุสิทธิบัตร เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภายใต้ความร่วมมือกับทีมวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. และ รองศาสตราจารย์ ดร.สร้อยสุดา พรภักดีวัฒนา คณะอุตสาหกรรมเกษตร (สาขาวิชาเทคโนโลยีการหมัก) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)
สำหรับ ‘GreenTien’ สามารถคว้ารางวัลเหรียญทอง จากเวทีประกวดและแข่งขันสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม “The 34th International Invention, Innovation & Technology Exhibition” (ITEX 2023) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย ด้วยเงื่อนไขของการพัฒนานวัตกรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และสังคม รวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG ในเป้าหมายที่ 2 (SDG 2 : Zero Hunger) ที่มุ่งขจัดความหิวโหยและความอดอยากทุกรูปแบบ เนื่องจาก ‘โปรตีน’ เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยเฉพาะในวัยเด็กและผู้สูงอายุ โปรตีนช่วยเสริมสร้างพัฒนาการที่ดีในวัยเด็ก
ขณะที่ผู้สูงอายุหากขาดสารอาหารประเภทโปรตีน อาจส่งผลกระทบให้สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ภาวะสมองถดถอยและนำไปสู่โรคอัลไซเมอร์ในที่สุด โดยคาดว่าในปี 2573 ไทยจะมีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์สูงถึง 1,117,000 ราย ดังนั้น ทีมวิจัยจึงได้นำถั่วเขียวมาพัฒนาเป็น เครื่องดื่มโปรตีนจากพืชแบบบรรจุขวด เพื่อเพิ่มทางเลือกสำหรับความต้องการบริโภคโปรตีนที่หลากหลายของผู้คน
ดังนั้น หากภาครัฐมีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตถั่วเขียวที่เหมาะสมในแต่ละฤดูกาล คณะวิทย์ มธ. คาดว่าถั่วเขียวจะสามารถก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สร้างผู้ประกอบการเกษตรยุคใหม่ ตลอดจนยกระดับภาคการเกษตรไทยให้เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ทั้งนี้ ปัจจุบันมูลค่าการส่งออกถั่วเขียวในช่วงครึ่งปีแรก 2566 (เดือนมกราคม-เดือนพฤษภาคม) 535.29 ล้านบาท หรือราว 15,447.50 เมตริกตัน (ข้อมูล : กองมาตรฐานสินค้านำเข้าส่งออก กรมการค้าต่างประเทศ, มิถุนายน 2566)