How To การเงินไม่พัง ด้วย 5 สูตรลัดความสำเร็จ ที่ มนุษย์เงินเดือนทำได้สบายๆ

How To การเงินไม่พัง ด้วย 5 สูตรลัดความสำเร็จ ที่ มนุษย์เงินเดือนทำได้สบายๆ 

เมื่อพูดถึง การวางแผนการเงิน หลายคนมักเข้าใจว่าเป็นเรื่องของคนรวยเท่านั้น จึงทำให้คนส่วนใหญ่ละเลยในการวางแผนการเงินของตนเอง โดยเฉพาะเราๆ ที่ยังเป็นมนุษย์เงินเดือน มักคิดว่า ยังมีเงินเดือนน้อยอยู่เลย หรือยังไม่มีเงินเก็บเลย คงวางแผนการเงินไม่ได้หรอก

แต่อันที่จริงแล้ว การวางแผนการเงินส่วนบุคคล เกี่ยวข้องโดยตรงกับคนทุกระดับฐานะการเงินไม่ว่าจะมีหรือจน ตามหลักความเป็นจริงแล้ว ยิ่งจน ยิ่งมีหนี้ ยิ่งมีเงินน้อย หรือยิ่งไม่มีเงินเก็บเลยยิ่งต้องรีบวางแผนการเงิน เพราะถ้าคุณไม่รีบวางแผนการเงินตั้งแต่เดี๋ยวนี้ คุณจะหลุดพ้นจากวงจรความจนไปได้อย่างไร

นอกจากนี้ ‘การวางแผนการเงิน’ ให้ประสบความสำเร็จ ไม่ได้ยากอย่างที่คิดด้วย โดยที่บทความนี้ คุณนิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® นักวางแผนการเงินอิสระ นักเขียนและวิทยากร ได้นำเสนอ เคล็ดลับการบริหารเงินอย่างง่ายๆ ผ่าน เว็บไซต์ ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งคุณสามารถนำไปลงมือปฏิบัติได้ทันที ดังนี้

เคล็ดลับที่ 1 เงินออม คือ จุดตั้งต้นของความสำเร็จทางการเงิน

จุดเริ่มต้นง่ายๆ คือ การตั้งเป้าเงินออม โดยเปลี่ยนสมการเงินออมของคุณให้เป็น ‘เก็บก่อนใช้’ เมื่อเงินเดือนออก อยากให้คุณกันเงินเก็บของคุณออกมาเลยประมาณ 10% ของรายได้ สำหรับคนที่ไม่เคยมีเงินเก็บเลย หรือรู้สึกว่าการเก็บเงินเป็นเรื่องยาก อาจต้องอาศัยตัวช่วย ด้วยการสร้างระบบการเก็บเงินในแบบของคุณเอง เช่น ใช้วิธีการตัดเงินออมอัตโนมัติเพื่อไปลงทุนในเงินฝากประจำ 24 เดือน หรือ 36 เดือน (ที่ต้องลงทุนเท่าๆ กันทุกเดือน)

บางคนทำให้การออมเงินเป็นเรื่องสนุกด้วยการกำหนดกติกาการเก็บเงิน เช่น ออมเงินง่ายๆ ด้วยแบงก์ 50 โดยพยายามไม่ใช้แบงก์ 50 และเก็บออมไว้ ทำให้ทุกครั้งที่คุณไปจับจ่ายใช้สอย และได้เงินทอน คุณจะอยากได้เงินทอนเป็นแบงก์ 50 มากกว่าเป็นแบงก์อื่นๆ เพื่อจะได้เก็บออมไว้ หรืออาจจะใช้วิธีเก็บเงินตามวันที่ เช่น วันที่ 1 เก็บ 1 บาท วันที่ 2 เก็บ 2 บาทไปเรื่อยๆ จนถึงวันที่ 30 ก็เก็บ 30 บาท

พอขึ้นเดือนใหม่ วันที่ 1 ก็เก็บ 1 บาท วนไป หากวางแผนการเงินแบบนี้ได้ทั้งปี คุณจะมีเงินเก็บ 5,738 บาท ถ้าคิดว่ามีกำลังมากกว่านี้ก็อาจจะเติมศูนย์ตามหลังแทนก็ได้ เช่น วันที่ 1 เก็บ 10 บาท เป็นต้น แม้ว่าวิธีวางแผนทางการเงินวิธีนี้ อาจจะไม่ทำให้เรามีเงินเก็บอะไรมากมาย แต่จะเป็นการช่วยสร้างนิสัยการออมที่ดี เวลาใช้เงินก็จะมีสติและระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น และแน่นอนจะทำให้คุณรู้สึกว่าการเก็บเงินเป็นเรื่องสนุกขึ้นด้วย

เคล็ดลับที่ 2 เคล็ดลับบริหารเงินฝาก

เมื่อเริ่มเก็บเงินได้แล้ว คำถามถัดมาคือ แล้วเราควรเก็บเงินไว้ที่ไหน ยิ่งสมัยนี้ค่าครองชีพสูงกว่าสมัยก่อนมาก เราจึงต้องวางแผนการเก็บเงินของเราให้ดี เมื่อพูดถึงค่าครองชีพ ก็มีคำศัพท์ทางการเงินคำหนึ่งที่อยากให้ทุกท่านรู้จัก นั่นก็คือคำว่า ‘เงินเฟ้อ’ ซึ่งคือ ภาวะที่ข้าวของราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ค่าเงินของเราลดลง

หรืออีกนัยหนึ่งคือ เงิน 100 บาทในกระเป๋าของเราซื้อข้าวของได้น้อยลงกว่าเดิมนั่นเอง โดยที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 3% ต่อปี แปลว่า ถ้าเรามีเงินอยู่ 100 บาท ที่อัตราเงินเฟ้อ 3% ต่อปี เมื่อ 1 ปีผ่านไป เงินเราจะลดค่าลงเหลือ 97 บาท และถ้าเรายังคงไม่ทำอะไรกับเงินของเรา เมื่อปีแล้วปีเล่าผ่านไป เงินของเราก็จะลดค่าลงเรื่อยๆ ทำให้คุณอาจมีเงินไม่พอสำหรับการเกษียณอายุก็เป็นได้

ลองหันมาดูที่ผลตอบแทนที่ได้จากการฝากเงินไว้ที่บัญชีออมทรัพย์ ซึ่งเราได้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.5% ต่อปี จะเห็นว่าน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ นั่นแปลว่า ทุกวันนี้เราใช้ชีวิตแบบขาดทุนอยู่ หรือพูดง่ายๆ ว่า ‘ยิ่งออมยิ่งจน’ ดังนั้นเราจึงต้องหาบัญชีเงินออมที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ

ซึ่งบัญชีเงินฝากที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ เช่น ฝากประจำ 24 เดือน หรือ 36เดือน อัตราดอกเบี้ยก็จะดีกว่าเก็บเงินเฉยๆ ไว้ในบัญชีออมทรัพย์ แต่ก็ต้องยอมรับในเงื่อนไข เช่น ต้องมีขั้นต่ำในการฝาก ต้องฝากประจำสม่ำเสมอทุกเดือน หรือถอนได้เมื่อครบกำหนดเท่านั้น

ดังนั้น หากเรามีการวางแผนการเงิน เราจะรู้ว่าเราควรเก็บเงินสภาพคล่องไว้ประมาณ 3 เท่าของค่าใช้จ่ายที่บัญชีออมทรัพย์ เงินส่วนเกินจากสภาพคล่อง เราต้องเริ่มมองหาการออมหรือการลงทุนที่ให้ได้ผลตอบแทนอย่างน้อยมากกว่าเงินเฟ้อ เพื่อเป็นการรักษาอำนาจซื้อของเงินไว้นั่นเอง

เคล็ดลับที่ 3 เคล็ดลับการลงทุนผ่าน LTF/RMF

การเก็บออมได้นับว่าเป็นสิ่งดี อย่างไรก็ตาม การฝากเงินแต่ในบัญชีออมทรัพย์อย่างเดียวยังไม่เพียงพอ เพราะดอกเบี้ยที่ได้ ไม่ชนะเงินเฟ้อ และแม้ว่าคุณได้ขยับไปฝากเงินในบัญชีเงินฝากประจำแล้วก็ตาม ดอกเบี้ยที่ได้ก็อาจจะยังไม่ชนะเงินเฟ้ออยู่ดี

คุณจึงต้องมาทำความรู้จักกับการวางแผนการเงิน เช่นการลงทุนในสินทรัพย์การเงินประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากการฝากเงินด้วย ซึ่งการวางแผนการเงิน ด้วยการลงทุนที่เป็นประโยชน์ สะดวกและไม่ควรมองข้าม คือ การลงทุนผ่านกองทุนรวม

ซึ่งข้อดีของการลงทุนผ่านกองทุนรวม ได้แก่ ไม่ต้องใช้เงินลงทุนที่สูง มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลายให้เลือกลงทุน ทำให้สามารถกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนได้ง่ายกว่า มีผู้จัดการกองทุนที่คอยบริหารจัดการ เป็นต้น สิ่งที่เราควรพิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวมคือ เป้าหมายการลงทุน ระยะเวลาการลงทุน และระดับความเสี่ยงที่รับได้

สำหรับมนุษย์เงินเดือน ต้องไม่พลาดการลงทุนในกองทุนรวม LTF และ RMF เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยเราสามารถซื้อ LTF ได้ 15% ของรายได้ สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท และซื้อ RMF ได้ 15% ของรายได้ เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วไม่เกิน 500,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจซื้อกองทุนรวมประเภทต่างๆ ควรศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมมาประกอบการพิจารณา ซึ่งคุณสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.morningstarthailand.com หรือ จาก Fund Fact Sheet (หนังสือชี้ชวน) ของกองทุนที่คุณสนใจ ซึ่งจะบอกถึงรายละเอียดการลงทุนที่สำคัญ เช่น กลยุทธ์การลงทุน อัตราผลตอบแทนย้อนหลัง หรือประเภทของธุรกิจที่กองทุนนั้นๆ เลือกลงทุน รวมไปถึงอัตราความเสี่ยง และค่าธรรมเนียมการจัดการต่างๆ

ขาดสภาพคล่องทางการเงิน อยากกู้เงินสักก้อน ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง
ภาพจาก https://www.freepik.com/

เคล็ดลับที่ 4 เคล็ดลับลงทุนด้วยประกัน

กำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการทำประกันที่ชัดเจน เช่น เพื่อการออมเงินระยะยาว เพื่อคุ้มครองรายได้ เพื่อสร้างความมั่นคงแก่ครอบครัว เป็นหลักประกันสุขภาพ หรือแม้แต่การสร้างมรดก เมื่อเรากำหนดเป้าหมายการทำประกันที่ชัดเจนจะทำให้เราสามารถเลือกซื้อประกันที่ตอบโจทย์ความต้องการของเราได้มากที่สุด เช่น หากต้องการออมเงินระยะยาว เราก็สามารถเลือกทำประกันแบบสะสมทรัพย์หรือแบบบำนาญ หากต้องการคุ้มครองรายได้และสร้างความมั่นคงให้แก่ครอบครัว เราก็เลือกทำประกันแบบตลอดชีพ หรือหากต้องการหลักประกันเรื่องสุขภาพ ก็เลือกซื้อประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง เป็นต้น

นอกจากเราได้ทำประกันที่ตรงกับความต้องการแล้ว เราสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตสูงสุด 100,000 บาท หรือนำเบี้ยประกันสุขภาพไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วไม่เกิน 100,000 บาท และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ 15% ของรายได้ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท มาลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน จะเห็นว่า ‘วางแผนการเงินดี มีชัยไปกว่าครึ่ง’ จริงๆ

เคล็ดลับที่ 5 การลงทุนที่ดีที่สุด คือการลงทุนให้กับตัวเอง

แท้จริงแล้วเป้าหมายของการสร้างฐานะไม่ใช่การมีเงินเป็นจำนวนมากๆ แต่เป็นการเติบโตขึ้นไปจนถึงขีดสูงสุดของศักยภาพที่คุณสามารถบรรลุได้ อันที่จริงการพัฒนาตนเองคือเป้าหมายที่สำคัญที่สุดเหนือเป้าหมายทั้งปวง เพราะตัวเราเองนั้นเป็นสินทรัพย์ที่มีค่ามากที่สุดแล้ว แล้วเราควรจะลงทุนให้กับตัวเองอย่างไรบ้าง เราสามารถลงทุนกับตัวเองได้ดังนี้

1. การพัฒนาตนเองคือเป้าหมายที่สำคัญที่สุดเหนือเป้าหมายทั้งปวง ดังนั้น จงลงทุนให้กับการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพตัวเองตลอดชีวิต เปิดโอกาสให้ตัวเองได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรามีโอกาสได้เรียนกับคนเก่ง คนดี และเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ เราจะได้รับแรงบันดาลใจมากมาย เพราะแค่คำบางคำ ประโยคบางประโยค อาจเปลี่ยนชีวิตเราไปตลอดกาล

2. เมื่อตัวเราเป็นสินทรัพย์ที่มีค่ามากที่สุด ดังนั้น จงลงทุนให้กับการดูแลสุขภาพของตัวเราเป็นอย่างดี และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะจะมีประโยชน์อะไร ถ้าวันนี้มีเงินร้อยล้าน พันล้าน ร่ำรวยล้นฟ้า แต่มีสุขภาพที่ไม่ดีไปเสียแล้ว เท่ากับว่าเงินทองที่หามาได้มากมาย ต้องเอาไปจ่ายเป็นค่ายา ค่าหาหมอ ซึ่งนั่นไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นชีวิตที่ประสบความสำเร็จ

3. การเป็นผู้ให้และพร้อมจะแบ่งปัน เพราะการที่เราสามารถให้ได้ แปลว่า เรารู้สึกว่าเรามีอย่างเหลือเฟือ เราจึงพร้อมที่จะให้และแบ่งปัน แล้วกฎแห่งแรงดึงดูดก็จะทำงาน ยิ่งให้ก็ยิ่งมี ที่สำคัญ เราไม่รู้หรอกว่าการให้และแบ่งปันของเรานั้นจะไปเปลี่ยนชีวิตของใครบางคนขนาดไหน ในท้ายที่สุด สิ่งดีๆ ก็จะสะท้อนกลับมาสู่ตัวเราเอง