เจาะเทคนิคมัดใจลูกค้า ขายทุเรียนหลักหมื่น สร้างรายได้หลักล้านของ เจ๊นิด อ.ต.ก. ด้วย Storytelling

เรื่องเล่า เป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนเพลิดเพลิน หลงเชื่อ คล้อยตาม และมองว่าเรื่องราวที่กำลังฟังอยู่นั้นสำคัญ

Storytelling ก็เช่นกัน มันเข้ามาเป็นจุดสำคัญของการขายของออนไลน์ให้กับผู้ประกอบการในยุคนี้ อย่างปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งเราจะทำให้ Storytelling ที่ดีเป็นแบบไหน เล่าเรื่องอย่างไรให้สินค้าทะลุเป้า พร้อมกับเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าอย่างมีคุณภาพ เราจะอธิบายให้คุณเอง

*** บทความชิ้นนี้มีการอธิบายยาวพอสมควร***

สร้างความเข้าใจกับ Storytelling

เรามักจะเปิดรีวิวของสินค้านั้นๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนจ่ายเงิน ฟังเรื่องราวหรือเหตุผลของสินค้าตัวนั้นๆ ว่าที่มามาจากไหน ใครเป็นคนทำ มีคุณภาพอย่างไร เหมาะกับใคร มีคุณสมบัติอย่างไร แล้วมีเหตุผลอะไรที่ต้องรู้

นั่นแหละคือเรื่องเล่า

แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้เราคล้อยตามคือ ลักษณะของการเล่าเรื่อง (Narration) ว่าจะเล่าอะไรก่อนหลัง มีลำดับขั้นของเรื่องตามลำดับ

ซึ่งโดยทั่วไป เวลาเราจะเล่าเรื่องหนึ่งเรื่องจะเริ่มที่

การเปิดเรื่อง (Exposition) 

ความขัดแย้ง (Conflict)

จุดแตกหัก (Climax)

แล้วจบด้วย การคลี่คลาย (Denouement)

(ตัวอย่างที่ได้กล่าวมาเป็นทฤษฎี พีระมิดของเฟรย์แท็ก (Freytag’s Pyramid))

กรณี เจ๊นิด อ.ต.ก. ทุเรียนหลักหมื่น

ตัวอย่างง่ายๆ ที่เรามักจะเห็นกันผ่านตาคือ เจ๊นิด เจ้าของร้านทุเรียน อ.ต.ก. ที่มีไวรัลในติ๊กต็อกว่า

“ตอนนี้กระแสแรงก็คือว่ามีทุเรียนกิโลละหมื่นสองด้วยรึ”

“กิโลละหมื่นสองแปดพันตั้งแต่ต้นเดือนมีนา สายพันธุ์หมอนทองกับก้านยาว เวลากินมันจะได้อารมณ์มาก มันจะหอม มันจะฟิน มันจะละมุนมากเลย”

“พื้นที่เนินราบสูงที่เราส่งหมื่นสองเนี้ย เพราะว่าเป็นที่ต่ำรสชาติจะไม่ได้ พื้นที่ราบไม่ได้เลย ที่หนูยืนราบๆ เนี้ยไม่ได้ จะต้องเป็นพื้นที่เนินเท่านั้น เวลาฝนตกน้ำไหลดี เวลาลมโกรกลมผ่านดี ผ่านนอกผ่านในดี เกี่ยวกับอากาศ พื้นที่ทุกอย่างต้องได้องศาหมดเลย ตรงนี้สำคัญมาก”

“เพราะลูกค้าคือพระเจ้าสำหรับพี่นิด”

“หนูชอบทุเรียน ใจของหนูชอบก้านยาวหรือหมอนทอง หมอนทองมันจะหวานแหลมมันสามารถหวานหอมก็ได้ บางคนไม่ชอบหวานหอมเพราะไม่ชอบกลิ่น แต่บางคนชอบกลิ่นขึ้นจมูกเวลากินมันจะฟิน แต่บางคนชอบหมอนทองแบบแห้งๆ ฉีกเป็นเนื้อไก่ ฉีกเป็นอกไก่ บางคนชอบหมอนทองละมุนกินแล้วหอมมม ขึ้นจมูก หวานเข้ม เหมือนขนมหวาน”

“ขนมหวานที่หวานมันฉันคือเธอ แต่ตอนนี้เขาลดองศามาหอม หวานน้อยๆ (ยิ้ม) แต่ความมัน ความเข้มข้นเหมือนเดิม แต่ลดความหวานลงหน่อยหนึ่ง หนูบอกได้หมดเลย”

จากข้อความด้านบน เป็นหนึ่งในช่วงของการอธิบายว่าทำไมราคาทุเรียนถึงสูง หากสังเกตในเรื่องเล่า จะเปิดด้วยความสงสัยของราคาทุเรียนหลักหมื่น สร้างความขัดแย้งของเรื่องด้วยราคาที่ขายนั้นขายมานาน ตามด้วยการอธิบายสาเหตุของการนำทุเรียนจากที่ราบสูงมาขาย จุดแตกหักของเรื่องด้วยการพูดว่าลูกค้าคือพระเจ้า คลี่คลายเรื่องคล้อยตามด้วยการเอาใจใส่ลูกค้า
ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจากกรณีของเจ๊นิดคือการสร้างเรื่องเล่าเกี่ยวกับตัวสินค้า (Storytelling) ให้เห็นถึงความสำคัญของสินค้าว่ากว่าจะได้มาขายมีการคัดสรร เลือกสิ่งที่ดีที่สุดมาให้
เราไม่ต้องแปลกใจว่าเพราะอะไรทุเรียนหลักหมื่นถึงขายออก ซึ่งนี่ยังไม่นับกลวิธีภายนอก คือการยิ้ม การใส่อารมณ์ไปกับเรื่องที่เล่า การเห็นอกเห็นใจ มีน้ำเสียงขึ้นลง นับว่าเป็นองค์ประกอบเสริมในการขายยิ่งขึ้น
ไม่เพียงแค่เรื่องเล่าหรือกลวิธีภายนอก แต่ยังรวมถึงตัวตนของเจ๊นิดที่เอามาขายร่วมด้วย และนี่เองจึงมี คอมเมนต์จากผู้ใช้ติ๊กต็อกบอกไว้ว่า ‘ค่าทุเรียน 2,000 ค่า Storytelling หลักหมื่น’ เป็นคอมเมนต์ที่แซวสนุกๆ
หากไวรัลจะกระตุ้นยอดขาย
จากคลิปดังกล่าวได้เผยแพร่ออกไป ทำให้ผู้คนพูดถึงกันมากมาย มีการคัฟเวอร์เป็นเจ๊นิดหลายคลิปในติ๊กต็อก เช่น เพจ เลิ่กลั่ก เลียนแบบการแต่งกาย ลักษณะการพูดการขายของเจ๊นิด เพื่อสร้างเสียงหัวเราะในโลกออนไลน์ ไคลแม็กซ์ของเรื่องก็คือ ใช้ขนุนครึ่งลูกแทนทุเรียน
ดังนั้น หากเรานำตัวตน และนำมีวิธีการเล่าเรื่องที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองมาขาย ก็จะง่ายต่อการทำธุรกิจของเราได้มากขึ้น แต่อื่นใด สิ่งสำคัญที่เจ๊นิดนำมาใช้คือ ใส่ใจกับวัตถุดิบที่ส่งต่อให้ลูกค้าของเธอ