ขายของต้องรู้! เทคนิคสร้างแบรนด์ เพิ่มอิทธิพลการซื้อ ในธุรกิจอาหาร

ขายของต้องรู้! เทคนิคสร้างแบรนด์ เพิ่มอิทธิพลของการซื้อในอุตสาหกรรมอาหาร

สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่อยากสร้างธุรกิจให้เติบโต จึงต้องแยกให้ออกว่า อะไรคือ “อิทธิพลแห่งการซื้อ” ตามลำดับ เพื่อสร้างไอเดียนำเสนอสินค้า และทำในสิ่งที่ควรทำก่อนหลัง โดยเฉพาะแบรนด์ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร เพราะความยากของวงการนี้คือ สินค้ามักมีคุณสมบัติคล้ายๆ กัน

ถึงแม้ว่าคุณภาพทางวัตถุดิบจะสามารถทดแทนกันได้ แต่จะไม่สามารถสร้างจุดแข็งได้ในระยะยาว ในขณะที่การสร้างจุดแตกต่างที่เน้นเรื่องของแบรนด์แบบชัดเจน จะทำให้เกิดจุดยืนและสร้างการแข่งขันได้แบบเหนือกว่าคู่แข่ง โดยหนึ่งในอิทธิพลของการซื้อ ของอุตสาหกรรมอาหาร 2022 คือ “การมีแบรนด์บนสินค้า”

เว็บไซต์ ttb เผยว่า จากการศึกษาของ Foodmix Marketing Communications พบว่า ลูกค้า 68% มักซื้อเนื้อสัตว์ ผัก หรืออาหารที่มี ‘ตราสินค้า’ หรือ ’แบรนด์’ มากกว่าสินค้าที่ไม่มีแบรนด์ประทับในผลิตภัณฑ์ เพราะคนรุ่นใหม่มักให้ความสำคัญและตระหนักถึงความปลอดภัยต่อการบริโภคสินค้า ยิ่งเป็นในเรื่องของอาหาร ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพโดยตรง ผู้บริโภคต้องการมาตรฐานและการตรวจสอบแหล่งที่มาได้

จุดนี้จึงสามารถสร้างเป็นจุดขายใหม่ที่ทำให้เจ้าของธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารสามารถปรับใช้เป็นกลยุทธ์การขายที่แตกต่าง เหนือกว่าคู่แข่งได้ โดยเทคนิคสำหรับ SMEs รายย่อย สามารถใช้เทคนิคนี้ทำได้เช่นกัน โดย เทคนิคสร้างแบรนด์ เพิ่มอิทธิพลของการซื้อในอุตสาหกรรมอาหาร ปี 2022 ดังนี้

1. ทุกสินค้าควรมี ฉลาก และตราสินค้าลงไปในผลิตภัณฑ์ หรือแพ็กเกจจิ้ง

จากพฤติกรรมการเลือกซื้อในยุคนี้ ไม่ว่าผลิตภัณฑ์สินค้าของคุณ จะเป็นประเภทไหน ควรจะมี ฉลากแบรนด์แบบชัดเจน อาจจะแสดงเป็นชื่อร้าน หรือรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติมได้ เพราะ ‘ภาพลักษณ์แบรนด์’ คือด่านแรกแห่งความประทับใจ ดีไซน์ที่ทันสมัย ผู้ผลิตคือใคร ยึดมั่นในเรื่องอะไร จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและเป็นผลดีในการสร้างความแตกต่าง แม้หากลูกค้าไม่เคยรู้จักหรือเห็นแบรนด์นี้มาก่อนเลย ก็จะมีความมั่นใจมากกว่าในผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีฉลาก วิธีการสร้างความน่าสนใจนี้ไม่ได้ทำเพียงแค่มีฉลากแปะ แต่ควรทำบนช่องทางออนไลน์เผื่อไว้ด้วย เพราะมีโอกาสที่ลูกค้าจะหยิบขึ้นมาและเสิร์ชทันทีเพื่อทำความรู้จักแบรนด์ให้มากขึ้น

2. วางรากฐานข้อมูลเป็นสิ่งที่ต้องทำ โดยเฉพาะบนเว็บไซต์ออนไลน์ เพื่อแสดงตัวตนของแบรนด์ให้ผู้บริโภครู้จัก

หลังจากมีป้าย ฉลากแสดงตัวตนแล้ว สิ่งต่อมา คือการสร้างตัวตนที่ตรวจสอบได้บนออนไลน์ เพราะลูกค้าจะมีการค้นหาบนออนไลน์เป็นช่วงทางแรกๆ การปรากฏตัวตนของแบรนด์ลงบนเว็บหรือโซเชียลมีเดีย เป็นวิธีที่เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายที่สุดและใช้ต้นทุนไม่มาก ซึ่งสามารถบอกรายละเอียด ข้อมูล แหล่งผลิต ที่โน้มน้าวมากกว่าภาพสินค้าตรงหน้า หากแบรนด์บอกข้อมูลอย่างครบถ้วน ก็จะทำให้ลูกค้าหมดข้อสงสัย เกิดเป็นความเชื่อมั่นและตัดสินใจซื้อได้ทันที

3. จุดยืนของแบรนด์อุตสาหกรรมอาหารที่ผู้บริโภคคาดหวัง คือ “ความปลอดภัย” และ “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

สินค้าและผลิตภัณฑ์ทางอาหารนั้นมีผลโดยตรงกับเรื่องสุขภาพ ผู้บริโภคจึงคาดหวังในเรื่องของความปลอดภัยเป็นหลัก ทั้งในกระบวนการผลิต การขนส่ง ฯลฯ ดังนั้น เจ้าของธุรกิจ จึงควรสื่อสาร บอกเล่าเรื่องราวที่มาที่ไป เริ่มตั้งแต่วัตถุดิบจนถึงการส่งมอบ โดยแทรกแนวทางที่ยึดถือในการปฏิบัติ ที่แสดงให้เห็นถึงความปลอดภัยทั้งต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจ

ทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่เจ้าของธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารสามารถทำได้ทันที เพื่อสร้างจุดขายที่โดดเด่นและตรงกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์มาเป็นอันดับหนึ่ง