สสว. ต่อยอดโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตั้งเป้าดันผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เจาะอุตสาหกรรมการบินเต็มรูปแบบ

การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ นับเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ผลักดัน เพื่อเพิ่มรายได้และยกระดับศักยภาพให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย โดยร่วมมือกับ บริษัทอุตสาหกรรมการบินไทย จำกัด (TAI) และกองทัพอากาศนำผู้ประกอบการในสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (Thai Subcontracting Promotion Association) เข้าเยี่ยมชมศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในพื้นที่ต่างๆ ได้แก่ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานตาคลี จ.นครสวรรค์ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานลพบุรี จ.ลพบุรี เพื่อนำร่องเข้าสู่อุตสาหกรรมการบินของประเทศ ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 4.5 พันล้านบาทต่อปี และเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม New S-Curve ที่รัฐบาลให้การสนับสนุน 

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดเผยว่า จากการนำผู้ประกอบการเข้าเยี่ยมชมศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานลพบุรี ซึ่งเป็นแหล่งซ่อมบำรุงเฮลิคอปเตอร์ที่สำคัญของประเทศไทย ที่มีขีดความสามารถในการซ่อมบำรุง ตรวจซ่อมโครงสร้าง รวมทั้งปรับปรุงระบบเอวิออนิกส์ของเฮลิคอปเตอร์ระดับมาตรฐานโลก พบว่าผู้ประกอบการไทยมีขีดความสามารถในการผลิตอะไหล่ ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในการสร้างและผลิตสายไฟ ท่อทาง และสายเคเบิลที่ใช้กับระบบต่างๆ ของเฮลิคอปเตอร์ แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบการต้องปรับตนด้านมาตรฐานตามที่กำหนด เนื่องจากอุตสาหกรรมการบิน เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง โดยคาดว่าในช่วงแรก ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเข้าผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับ ทีเอไอ ไปได้ประมาณ 30% ของเฮลิคอปเตอร์ทั้งลำ และสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้นในอนาคต” 

โดยปัจจุบัน ทีเอไอ ถือเป็นหน่วยงานหลักที่สนับสนุนการซ่อมบำรุง และการฝึกอบรมให้กับนักบินและช่างเครื่องของเฮลิคอปเตอร์ทางทหารและหน่วยราชการต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันได้ดูแลและซ่อมบำรุงอากาศยานที่ประจำการอยู่ทั้งสิ้น 64 เครื่อง แบ่งเป็นเครื่องบินทางทหาร 53 เครื่อง และพลเรือน 11 เครื่อง และกำลังต่อยอดเป็นศูนย์ประกอบเฮลิคอปเตอร์ เพื่อรองรับการพัฒนาเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงเฮลิคอปเตอร์ของแอร์บัส ตลอดจนขยายความร่วมมือไปสู่ภาคอุตสาหกรรมการบินระดับโลก โดยสามารถซ่อมบำรุงเฮลิคอปเตอร์ให้กับภาคพลเรือนภายในประเทศ และประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนต่อไป

“หากผู้ประกอบการไทยสามารถเจาะตลาดอุตสาหกรรมอากาศยานดังกล่าว ก็จะสามารถต่อยอดไปสู่อุปกรณ์อากาศยานด้านอื่นๆ เช่น การผลิตโดรนเพื่อใช้ในการขนส่ง และโดรนด้านการเกษตรต่างๆ ทั้งการฉีดยา การตรวจสอบสภาพพื้นที่การเกษตร เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะเป็นยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการ ยังจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ลดการพึ่งพาการนำเข้าอะไหล่และอุปกรณ์จากต่างประเทศ อันจะเป็นการประหยัดทั้งทรัพยากร เวลา และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล” นายวีระพงศ์ กล่าว