เอสเอ็มอี โอทอป เกษตรกร ตบเท้าขนไอเดียมาโชว์ในงาน “สุดยอด SMEs ส่งสุข ส่งท้าย ส่งความประทับใจ ตลาดคลองผดุง2560”

นับเป็นงานดีๆ ส่งท้ายปีของเหล่าบรรดาเอสเอ็มอี โอทอป และเกษตรกร ตบเท้าขนไอเดียมาโชว์ในงาน “สุดยอด SMEs ส่งสุข ส่งท้าย ส่งความประทับใจ ตลาดคลองผดุง2560”  ระหว่างวันที่ 12-27 ธันวาคม 2560  จัดโดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank)

งานตลาดคลองผดุงกรุงเกษมในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 38  ครั้งสุดท้ายก่อนที่จะส่งมอบพื้นที่คืนให้แก่ทำเนียบรัฐบาล รวบรวมสุดยอดสินค้าเด่นคุณภาพเยี่ยมจากผู้ประกอบการ SMEsกว่า 400 รายมาไว้รวมกันให้ได้ช้อปและชิมกันอย่างเพลิดเพลิน และยังมีสินค้าดีมาลดราคาอีก    เพื่อเป็นการส่งสุขและเก็บประทับใจของตลาดเพื่อประชาชนแห่งนี้

สำหรับตลาดคลองผดุงกรุงเกษมจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ม.ค.2558 มีภาครัฐและเอกชนสลับสับเปลี่ยนมาเป็นเจ้าภาพอย่างต่อเนื่อง จำนวน 24 หน่วยงาน  มีผู้ประกอบการเข้าร่วมจำหน่ายสินค้ากว่า 7.6 พันราย จำนวนผู้เข้าเที่ยวงานกว่า 3.6 ล้านคน  และสร้างยอดขายภายในงานมากว่า 1.9 พันล้านบาท หรือเกือบ 2 พันล้านบาท

การเดินทางของตลาดคลองผดุงฯ มานาน 3 ปี ถือว่าไม่สูญเปล่า เพราะนอกจากจะเป็นเวทีแสดงศักยภาพผลงาน และงานวิจัยของหน่วยงานภาครัฐแล้ว ยังเป็นช่องทางการเปิดตลาดที่ดีสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่นอกจากได้นำสินค้ามาจำหน่ายโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางแล้ว ยังเป็นการเปิดการตลาด หาคู่ค้าทางธุรกิจทั้งไทยและเทศเพื่อสานต่อในเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ภาครัฐฯ เตรียมนำโมเดลความสำเร็จของตลาดคลองผดุงกรุงเกษมไปใช้เป็นต้นแบบสู่การจัดตลาดประชารัฐตามจุดอื่นๆ อีก 6,527 แห่งทั่วประเทศต่อไป

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ฉายภาพการจัดงานในครั้งนี้ว่า เป็นงานที่ได้รวบรวมสินค้าดี มีคุณภาพมาตรฐานจากผู้ประกอบการที่มีศักยภาพทั่วประเทศกว่า 400 ราย ทั้งเอสเอ็มอี โอทอป กลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย วิสาหกิจชุมชน และท่องเที่ยวชุมชน แบ่งรูปแบบการจัดงานเป็น 2 สัปดาห์ คือ สัปดาห์ที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 12-18 ธันวาคม 2560 ใช้รูปแบบ “SMEs สินค้าดี 4.0 ท่องเที่ยวชุมชน” รวบรวมสินค้ามาตรฐานเยี่ยม มีนวัตกรรมจากเอสเอ็มอี โอทอป และธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวชุมชน เช่น แพ็คเกจท่องเที่ยวไทยปี 2561  สินค้าที่ระลึกจากท้องถิ่น เป็นต้น และในสัปดาห์ที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 19-27 ธันวาคม 2560 ใช้รูปแบบ “ของดี ของดัง ของขวัญปีใหม่” คัดสรรสินค้าคุณภาพดีเหมาะซื้อหาเป็นของขวัญในเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

ทั้งนี้คาดว่าตลอดการจัดงานรวม 16 วันจะมีผู้เที่ยวงานไม่ต่ำกว่า 8,000-10,000 คน/วัน หรือกว่า 1 แสนคนตลอดการจัดงาน พร้อมมั่นใจจะมีเงินสะพัดภายในงานไม่ต่ำกว่า  50 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการกระจายรายได้ถึงมือผู้ผลิตโดยตรง และแผนต่อไปของรัฐบาล จะเตรียมนำโมเดลตลาดคลองผดุงเกษมไปต่อสานสู่ตลาดประชารัฐที่มีอยู่  6,527 แห่งทั่วประเทศ

“การจัดงานในครั้งนี้ทาง SME Development Bank ตั้งใจจำลองตลาดคลองผดุงฯ ให้เป็นห้องแห่งการเรียนรู้ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ไม่ใช่เพียงแค่ตลาดที่ให้มาจำหน่านสินค้าเพียงอย่างเดียว ดังนั้นเราจะคัดสรรสินค้าดี มีมาตรฐานที่พร้อมจะเปิดตลาดได้ทั้งในประเทศ และก้าวสู่สากลมาจัดแสดงไว้ ขณะเดียวกันยังเปิดเวทีเสวนา ด้วยการเชิญนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาให้ความรู้อ อย่าง ‘เจ๊เล้ง’ มาให้คำแนะนำผู้ประกอบการรุ่นน้องในการเปิดตลาดต่างประเทศ และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างความยั่งยืนแก่ธุรกิจอีกด้วย เพราะผมเชื่อว่าสิ่งทีดีที่สุด คือ ผู้ประกอบการ สอนผู้ประกอบการด้วยกันเอง” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย กล่าว

ตัวแทนผู้ประกอบการที่มาร่วมออกงานในครั้งนี้ คุณกมลทิพย์ สระทองล้อม หรือคุณปุ๊ก เจ้าของไอเดียน้ำดื่มกลิ่นดอกมะลิ เธอจบปริญญาโท และปิ๊งไอเดียทำน้ำดื่มกลิ่นดอกมะลิ พาสเจอไรซ์ หอม หวาน ชื่นใจ หวังเผยแพร่เรื่องราวทางวัฒนธรรมไทยผ่านเครื่องดื่ม ปลุกคนในยุคปัจจุบันให้หวนคิดถึงเรื่องราวในอดีต เมื่อครั้งอยู่กับ ปู่ย่า ตายาย ขณะเดียวกันก็เป็นเวลคัมดริ้งต้อนรับต่างชาติได้อีกด้วย

คุณปุ๊ก วัยเพียง 25 ปี เล่าว่า ที่มาของไอเดียน้ำกลิ่นดอกมะลิ คือ เมืองไทยเป็นเมืองร้อน อากาศอบอ้าวเกือบตลอดทั้งปี อยากทำเครื่องดื่มที่มีความสดชื่น ดับกระหาย ขณะเดียวกันอยากสอดแทรกเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทยลงไป

กลิ่นมะลิที่เจ้าของกิจการเลือกใช้ เธอเลือกใช้ 2 กลิ่น นำมาเบลนกัน จนได้กลิ่นที่มีความเป็นธรรมชาติมากที่สุด ใช้กระบวนการผลิตพาสเจอไรซ์  ปราศจากสารกันเสีย และน้ำตาล อายุการเก็บรักษานาน 1 ปี กลิ่นไม่เพี้ยน แช่เย็นจะมีรสชาติหวาน

ปัจจุบันน้ำกลิ่นดอกมะลิ ได้รับเครื่องหมายรับรอง HACCP และ อย. วางจำหน่ายตั้งแต่เดือนกันยายน – ธันวาคม รวมแล้วเกือบ 20,000 ขวด

ด้านตัวแทนผู้ประกอบการจาก ต.น้ำเกี๋ยน อ.ภูเพียง จ.น่าน ผลิตภัณฑ์สมุนไพร แบรนด์ “ชีวาร์ – ชีวาน่า” เล่าว่า ในอดีตบ้านน้ำเกี๋ยน ประสบปัญหาชาวบ้านลักลอบตัดไม้ทำลายป่า เล่นการพนัน ปัญหายาเสพติด อาชีพหลักทำนา ปลูกข้าวโพด ปลูกยางพารา ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรขายขาดทุนมาตลอด ราวปี 2534 เลยรวมกลุ่มกัน 70 คน รวบรวมเงินทุนได้ 60,000 บาท นำสมุนไพรในท้องถิ่นมาทำเป็นผลิตเป็นแชมพู สบู่ น้ำยาล้างจาน ใช้กันในครัวเรือนเพื่อลดรายจ่าย ปรากฏผลตอบรับดีเกินคาด เริ่มมีลูกค้าขอซื้อ ปี 2549 จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน สร้างแบรนด์สินค้าชีวาร์ มาจากคำว่า “ชีวะวิถี” หรือ วิถีชีวิตแบบธรรมชาติ เริ่มจำหน่ายจริงจังปี 2550

จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ ชีวาร์ – ชีวาน่า คือ ใช้สมุนไพรปริมาณมาก ใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด ได้วัตถุดิบที่ใหม่สดเก็บวันต่อวัน ส่งผลให้ชุมชนเริ่มมีชื่อเสียง สินค้าเป็นที่นิยม ขณะเดียวกันได้รับโอกาสจาก ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต  เซ็นทรัล เซเว่นอีเลฟเว่น ให้นำสินค้าเข้าไปจำหน่าย

สำหรับสมุนไพรที่ใช้มีหลายชนิด อาทิ ใบหมี่ ดอกอัญชัน มะเฟือง มะกรูด มะขาม ขมิ้นชัน ขิง ทุกกระบวนการเน้นความสะอาด ได้รับการควบคุมคุณภาพการผลิตจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลน้ำเกี๋ยน โดยการทดสอบค่า PH ทุกครั้งที่ผลิต มีการส่งตรวจคุณภาพการผลิตทางห้องปฏิบัติการ มีการบันทึกคุณภาพทุกรอบ มีการกำหนดคุณภาพเคมีภัณฑ์ตามเกณฑ์มาตรฐาน อาคารผลิต สะอาดถูกสุขลักษณะ แบ่งเป็นสัดส่วน ได้แก่ ห้องเตรียมวัตถุดิบ (ล้าง หั่น) ห้องต้มสมุนไพร ห้องผลิต และผลิตบรรจุ

อีกหนึ่งผู้ประกอบการจากจังหวัดน่าน คือ เครื่องเงินทำมือชมพูภูคาเป็นเครื่องประดับที่มีมาตั้งแต่โบราณของชนเผ่าม้งและเมี่ยน โดยงานเครื่องเงินจะเป็นฝีมือของชาวเขาเผ่าเมี่ยน (เย้า) และม้ง (แม้ว)

คุณนเรศ อิทธิกุล ผู้ประกอบการจากจังหวัดชัยภูมิ จำหน่ายเครื่องประดับจากหินสะเก็ดดาว เป็นหินหายาก ถูกยกย่องให้เป็นเครื่องรางนำโชค นำมาเจียระไนเป็นเครื่องประดับ

ในโซนอาหารมีเมนู ข้าวเกรียบยาหน้า เมนูทานเล่น 2 วัฒนธรรม หนึ่งเดียวในไทย บ้านน้ำเชี่ยว จ.ตราด สำหรับที่มาของเมนูข้าวเกรียบยาหน้า ตัวแทนชุมชน  บอกว่า ในสมัยโบราณ ชาวมุสลิม ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านน้ำเชี่ยว ได้นำวัฒนธรรมการกินเข้ามาด้วย นั่นคือ ข้าวเกรียบปากหม้อ ประกอบกับที่บ้านน้ำเชี่ยวนั้นมีมะพร้าว มีกุ้งเยอะ เลยทดลองนำมาดัดแปลงทำเป็นขนม  โดยมีส่วนผสมของ น้ำตาลอ้อย  มะพร้าว กุ้ง และแผ่นแป้ง