ผู้ป่วยหัวใจรพ.มงกุฎวัฒนะเฮ! สปสช. ขยายเวลารักษาฟรีอีก 1 ปี พร้อมเจรจา ’หมอเหรียญทอง’

เมื่อวันที่ 21 กันยายน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีวาระการหารือกรณีโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะทักท้วงหลักเกณฑ์ที่ระบุให้ รพ.รับส่งต่อผู้ป่วยโรคหัวใจต้องมีแพทย์ประจำอย่างน้อย 1 คน ส่งผลให้มีผู้ป่วยโรคหัวใจที่รอการผ่าตัดกว่า 45-50 คนในวันที่ 1 ตุลาคมนี้จะไม่สามารถใช้สิทธิรักษาและอาจต้องเสียเงินเอง ว่า มีความเป็นห่วงเรื่องนี้ จึงมีการประชุมหารือว่าจะดำเนินการแก้ไขอย่างไรให้เกิดความเข้าใจทั้งหมด โดยจากการหารือผู้บริหาร สปสช. ทราบว่าเกณฑ์ดังกล่าวเป็นข้อกำหนดของหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยวิธีการผ่าตัดในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

“ประกาศดังกล่าวมีข้อกำหนดอยู่หลายข้อ หนึ่งในนั้นคือกำหนดให้มีศัลยแพทย์ทางด้านหัวใจประจำ รพ. 1 คน เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยซึ่งส่วนใหญ่มารับบริการช่วงเวลาราชการอยู่แล้ว ทั้งนี้ ที่ผ่านมาก็มี รพ.หลายแห่งเข้ามาและผ่านเกณฑ์กำหนดดังกล่าว แค่ใน กทม. ประมาณ 8 แห่ง มีเพียง รพ.มงกุฎวัฒนะแห่งเดียวที่ไม่ผ่าน และเสนอให้เปลี่ยนเกณฑ์เพื่อให้ รพ.สามารถใช้แพทย์พาร์ตไทม์ได้นั้น ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าความปลอดภัยของประชาชนสำคัญที่สุด จะไปเปลี่ยนเกณฑ์คงไม่ได้ แต่เนื่องจากเพิ่งมีการประกาศใช้ เลยให้โอกาส รพ.ที่เคยทำอยู่ก่อนโดยยืดเวลาให้สามารถใช้แพทย์พาร์ตไทม์ได้ 1 ปี หลังจากนั้นต้องให้เป็นไปตามเกณฑ์คือมีแพทย์ประจำ และได้มอบหมายให้ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. ไปคุยกับ นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ เพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้” นพ.ปิยะสกล กล่าว

ด้าน นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นว่าเกณฑ์ที่ประกาศออกมากรณีเรื่องแพทย์ประจำนั้น ถือเป็นเกณฑ์ที่ดี เพราะทำให้เกิดความมั่นใจกับคนไข้ กับญาติ คงไม่แก้ไข แต่อาจเป็นเพราะช่วงเวลาที่ประกาศออกมามีความกระชั้นชิด ทำให้รพ. ปรับตัวไม่ทัน จึงจะมีการพูดคุยกับรพ.เอกชนทั้งหลายที่เคยผ่าตัดในบัตรทอง ซึ่งยังมีอีก 7 แห่งที่ไม่ได้ยื่นมา ถ้ารวม รพ.มงกุฏวัฒนะ เป็น  8 แห่ง โดยจะให้เวลาเตรียมตัวออกไปอีก 1 ปี เพื่อเตรียมตัว และคนไข้จะได้ไม่เดือดร้อน ไม่ตกใจ ไม่กังวล เพราะมาดูประวัติย้อนหลัง รพ.เอกชนแต่ละแห่งไม่เคยมีปัญหาอะไรเลย แต่เพื่อเป็นการป้องกันในภายภาคหน้า จึงต้องมีเกณฑ์นี้ แต่จะขยายเวลาออกไป โดยจะออกเป็นประกาศของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.)

“จากนี้จะมีการหารือกับทางรพ.เอกชนที่เคยเป็นหน่วยบริการส่งต่อ แต่ด้วยเมื่อมีประกาศเกณฑ์ดังกล่าวออกมา ทางรพ.เอกชนเหล่านี้ได้พิจารณาและพบว่าอาจไม่เข้าเกณฑ์ด้วยเหตุผลบางประการ จึงไม่ได้มีการต่อ แต่ทาง สปสช. จะเข้าหารือว่า เมื่อมีการขยายเวลาเพื่อให้ปรับตัวน่าจะมีความพร้อมมากขึ้นหรือไม่ ไม่ใช่ว่าจะหารือแค่รพ.มงกุฏวัฒนะ แต่จะหารือรพ.เอกชนอื่นๆ ที่เคยอยู่ในระบบส่งต่อของเราด้วย ส่วนรพ.อื่นที่เข้ามาใหม่ก็จะให้ใช้ตามเกณฑ์นี้เลย” นพ.ประจักษวิช กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า สำหรับรพ.อื่นๆ อีก 7 แห่งที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์นั้น เป็นหน่วยบริการประจำและหน่วยบริการส่งต่อเหมือนรพ.มงกุฎวัฒนะ หรือไม่ นพ.ประจักษวิช กล่าวว่า เดิมก่อนมีประกาศใหม่นี้ มีรพ. ทั้งหมด 57 แห่ง มี 50 แห่งส่งมาเพื่อขอประเมินขึ้นเป็นหน่วยบริการส่งต่อของบัตรทอง โดยพบว่า 7 แห่งที่ไม่ได้ส่งมา   ส่วนใหญ่เป็นหน่วยบริการส่งต่อทั้งหมด ยกเว้น 1 แห่งที่เป็นทั้งหน่วยบริการส่งต่อและหน่วยบริการประจำ ซึ่งไม่รวมกับรพ.มงกุฎวัฒนะ สรุปตอนนี้มีหน่วยบริการส่งต่อที่ผ่านประเมิน 49 แห่ง

เมื่อถามว่าเพราะเหตุใดต้องแยกหน่วยบริการประจำและหน่วยบริการส่งต่อให้มีเกณฑ์แตกต่าง ทั้งที่รักษาได้เหมือนกัน นพ.ประจักษวิช กล่าวว่า หน่วยบริการประจำจะดูแลทุกเรื่อง ทั้งส่งเสริมป้องกัน คนไข้นอก คนไข้ในที่รักษาทั่วไป หากรักษาไม่ได้ก็ต้องส่งต่อ ก็จะมีส่งต่อทั่วไป หรือส่งต่อเฉพาะโรค เช่น โรคหัวใจ เพราะเป็นเรื่องจำเพาะ เด็กน้ำหนักน้อย ยกตัวอย่าง รพ.หนึ่งผ่าตัดข้อเข่าไม่ได้ ก็ต้องส่งต่อทั่วไปที่มีแพทย์ศัลยแพทย์ ซึ่งแม้หน่วยบริการประจำจะมีศักยภาพในการผ่าตัดรักษาเฉพาะโรคได้ รู้ว่าทำได้ แต่ก็เพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้น และมีความมั่นใจกับประชาชนด้วย ไม่ใช่ว่าหน่วยบริการประจำจะทำได้ทุกเรื่อง จึงจำเป็นต้องแยกเช่นนี้

“ผมขอย้ำว่าผู้ป่วยบัตรทองยังรักษาได้เหมือนเดิมทั้งหมด อย่างผู้ป่วยโรคหัวใจก็ยังรักษาได้ตามเดิม ส่วนเรื่องของระบบการบริหารจัดการ ทาง สปสช. จะเข้าเจรจาหารือกับทางรพ.เอกชน และไม่ต้องห่วง ทุกอย่างจะไม่กระทบกับผู้ป่วยแน่นอน และขอย้ำอีกว่าส่วนผู้ป่วยบัตรทองในรพ.มงกุฏวัฒนะท่านอื่นๆ ก็รักษาได้ตามปกติ” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว