ใช้อี-คอมเมิร์ซโตพรวด เตือนเอสเอ็มอีไทยเข้าขบวน เอกชนห่วงถูกรีดภาษี

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ตลาดอี-คอมเมิร์ซ ทั้งในไทยและอาเซียน มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ตามกระแสผู้บริโภคหันซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้นแทนการไปเลือกซื้อสินค้าตามร้านค้า และการผลักดันการใช้อินเตอร์เน็ตเข้ายุค 4.0 ซึ่งจากข้อมูลสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) คาดภาพรวมตลาดอี-คอมเมิร์ซของไทยปี 2560 เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% จากปี 2559 ที่มีมูลค่า 2.52 ล้านล้านบาท เติบโต12.5% ในจำนวนนี้เป็นตลาดอี-คอมเมิร์ซกลุ่มเอสเอ็มอีและร้านค้าออนไลน์รายย่อย มูลค่า 509,998 ล้านบาท แต่เติบโตถึง 43% สูงกว่าปีก่อนโต 37.2% ส่วนใหญ่เป็นการค้าออนไลน์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (โซเชียลคอมเมิร์ซ) ประมาณ 2.7 แสนล้านบาท เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ฯลฯ

“สิงคโปร์ระบุว่าปี 2561 ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของไทย จะสูงถึง 10 ล้านล้านบาท และในอีก 3 ปี หรือปี 2563 จะมีรายได้เพิ่มเป็น 16 ล้านล้านบาท ขณะที่ธนาคารโลก ระบุปี 2568 ตลาดอี-คอมเมิร์ซภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมกันถึง 6,810 ล้านล้านบาท ถือว่าเป็นตลาดที่เติบโตเร็วและแรงมาก “

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ยื่นจดทะเบียนกับกรมค่อนข้างน้อยเพียง 25,311 ร้านค้าออนไลน์  กรมจึงมีแผนกระตุ้นผ่านการจัดงานThailand e-Commerce Day ระหว่างวันที่ 15-17 มิถุนายนนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นางสาวกุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จอยฟูลเนส จำกัด บริษัทผู้ให้คำปรึกษาด้านอี-คอมเมิร์ซ กล่าวถึงกรณีกรมสรรพากรมีแนวคิดเก็บภาษีธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ว่า ต้องการให้ภาครัฐเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องนี้ให้รอบด้านก่อน จากข้อมูลปี 2559 ตลาดอี-คอมเมิร์ซไทย มีผู้ประกอบการประมาณ 5 แสนราย รายได้ต่อปีไม่เกิน 5 แสนบาท ตรงนี้ก็จะเสียภาษีบุคคลธรรมดากันเป็นปกติอยู่แล้ว หากภาครัฐจะมาเก็บกับผู้ทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่มีรายได้ประมาณนี้ อาจจะกลายเป็นเก็บภาษีซ้ำซ้อนหรือไม่ ขณะที่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่เป็นนิติบุคคล มีรายได้ต่อปีกว่า 1.8 ล้านบาท ก็เสียภาษีให้กับกรมสรรพากรเช่นกัน ดังนั้นจึงรอดูความชัดเจนของแนวคิดเก็บภาษีภาครัฐก่อน ซึ่งการออกมาตรการอะไร ต้องการให้คำนึงถึงการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจด้วย เพราะหากมีข้อจำกัดมากธุรกิจเหล่านี้จะไม่เติบโต