เจ้าพ่อค้าปลีก วรวุฒิ อุ่นใจ แนะ ร้านขายยาปรับตัว ชี้ทางรอดให้ ก่อนล่มสลาย

เจ้าพ่อค้าปลีก วรวุฒิ อุ่นใจ แนะ ร้านขายยาปรับตัว ชี้ทางรอดให้ ก่อนล่มสลาย

คุณวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคกล้า ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาธุรกิจค้าปลีก กล่าวในคลับเฮาส์ ในหัวข้อ ร้านขายยาของวรวุฒิจะเป็นอย่างไร โดยมีเภสัชกร และสตาร์ตอัพ สาย HealthTech เข้ารวมฟังเป็นจำนวนมาก ว่า ส่วนตัวแล้วเมื่อไปต่างประเทศ มักชอบเข้าร้านยา และพบว่าร้านขายยาที่ญี่ปุ่น น่าสนใจที่สุด เพราะไม่ได้เน้นเพียงการขายเท่านั้น แต่ขายสินค้าอื่นๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีความหลากหลายและน่าสนใจ

ที่สำคัญ คือ ฉลากยา อาหารเสริมและไอเทมเพื่อสุขภาพ มีคิวอาร์โค้ดที่สามารถอ่านได้ถึง 7 ภาษา ซึ่งรวมภาษาไทยด้วย และเมื่อสามสี่ปีที่ผ่านมา อเมริกาก็ปรับตัวในลักษณะเดียวกันจากเดิมที่เน้นการขายยาอย่างจริงจังเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ชัดเจนว่าร้านขายยาเป็นหน่วยบริการที่คนเข้าหามากที่สุด มีการถามหาหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์เป็นจำนวนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ร้านขายยา เป็นหนึ่งในความจำเป็นในชีวิตของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข ที่คนตัวเล็กผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงได้

“ร้านขายยา ทำให้เป็นแหล่งช็อปปิ้งได้ ในญี่ปุ่นเขาเอาโจทย์ลูกค้าเป็นตัวตั้ง แล้วถ้าเป็นบ้านเรา อะไรคือโจทย์ความต้องการของไทย เราต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับบุคลิกและโจทย์นั้น รากฐานการค้าปลีก ภาพเริ่มไม่ชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป สมัยผมทำร้านหนังสือ มีการวิเคราะห์กันว่าร้านหนังสืออีก 8 ปีข้างหน้าจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป มันกำลังจะล่มสลาย ถามว่าหนังสือยังขายได้ไหม คำตอบคือได้ แต่รูปแบบจะเปลี่ยนในรูปของออนไลน์

ยกตัวอย่าง อเมซอน เขาเริ่มจากการขายหนังสือออนไลน์มาก่อน แล้วขยายตัวเป็นสินค้าอื่นๆ แต่หนังสือต้องมีและมีจำนวนมากๆ ด้วย ร้านขายยาก็เช่นกัน ถ้าไม่ปรับตัวในอนาคตตัวเภสัชกรเอง อาจตกงานได้ เพราะมีการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาทำหน้าที่แทน มีการตรวจวินิจฉัยโรคเบื้องต้น ตอนนี้มีทั้ง Smart watch ที่สามารถเช็กสุขภาพได้ในหลายรายการ และหากต่อไปสามารถตรวจน้ำลายได้ ซึ่งเชื่อว่าสักวันกฎหมายจะเปิดช่องให้ทำได้ ทุกคนก็ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวเพราะเทคโนโลยีไปไวมาก อย่างไรก็ตาม โอกาสในการเติบโตก็ยังสูง เพราะการขายออนไลน์มีข้อดีคือสามารถขายได้ในจำนวนที่มากขึ้น นอกจากนี้การทำ Telemedicine หรือการพบหมอหน้าจอ ก็ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันด้วย” คุณวรวุฒิ กล่าว

ตอบโจทย์ สวย หล่อ ตลาดใหญ่มาก

ถ้าต้องเปิดร้านขายยาเป็นของตัวเองในสไตล์จะทำอย่างไร คุณวรวุฒิ กล่าวว่า จะทำร้านเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของชีวิตคน เราจะไม่หยุดแค่ร้านขายยา เราจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านร่างกายมนุษย์ ซึ่งอาจหมายถึง Health and Beauty เชื่อว่า ตลาดที่ตอบโจทย์ สวย หล่อ และสมรรถภาพทางเพศ ยังมีตลาดที่ใหญ่มาก เหมือนร้าน Boots วัตสัน ที่มีการขยายไลน์ที่ใกล้เคียงกันออกไป แม้แต่ร้านเครื่องเขียน สุดท้ายก็มีแคนทีน มีร้านกาแฟ สิ่งของจำเป็นในชีวิต แม้แต่เฟอร์นิเจอร์บางอย่าง

เช่น สมัยที่ตนทำร้านออฟฟิศเมท ยังมีความคิดที่จะขายตู้ยา ในขนาดที่เหมาะกับบริษัท เล็ก กลาง ใหญ่ เพราะคิดว่า ยาคือ สิ่งสำคัญในชีวิต หรือแม้แต่แนวคิดทำเป็น Community mall มีทั้งร้านขายยา ร้านอาหาร และร้านสะดวกซื้อ อยู่ในที่เดียวกัน ชีวิตมนุษย์มันวนเวียนและจบอยู่กับความจำเป็นพื้นฐานนี้ อย่างร้านสะดวกซื้อเซเว่นฯ มีแนวคิดในลักษณะนี้ คนถึงนิยมเพราะมีทุกอย่างที่เขาต้องการ สิ่งที่ร้านค้าปลีกต้องมอง คือ สินค้าสำหรับคนที่เดินมาหา และสินค้าที่เราต้องเดินไปหาคน คือ การขายออนไลน์

นอกจากนี้ คุณวรวุฒิ ยังย้ำว่า สิ่งสำคัญของร้านค้าปลีกคือ การทำบัญชีสต๊อก ร้านยาก็เช่นกัน มีแบรนด์ยามากมายหลายหมื่นชนิด ก็ต้องมีการจัดเป็นกลุ่มยา และใช้เอไอเข้ามาช่วย และหากเป็นไปได้ ถ้าเป็นในชุมชนมีร้านขายยาหลายแห่ง ก็ใช้กลไกแชร์ฐานข้อมูลยาร่วมกันเป็นเครือข่ายความร่วมมือของร้านยาเดี่ยว ในญี่ปุ่น ระบบดีพาร์ตเมนต์สโตร์เขาทำกันมา 400 กว่าปีแล้ว ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาบ้านเรา เขารู้หมดว่าตระกูลไหนใครทำอะไร เติบโตมาแบบไหน เขามีความเหนียวแน่นและเข้มแข็งมาก

แต่บ้านเรายังมองเครือข่ายเป็นคู่แข่งกัน อาจต้องปรับตัวเพื่อให้ร้านขายยาไปต่อได้แบบไม่ต้องล้มหายตายจากกันไป นอกจากนี้ การจัดร้านก็สำคัญ ร้านขายยาความน่าเชื่อถือต้องมาก่อน บางคนซื้อยาเพราะติดเภสัช ถึงแม้ว่าจะมีการปรับเป็น Modern trade แล้วก็ตาม แต่ประสบการณ์ในการซื้อสินค้านั้น อีคอมเมิร์ซ อาจยังไม่ตอบโจทย์ เพราะติดปัญหาด้านกฎหมาย พ.ร.บ.ยาที่กำหนดขึ้นเมื่อ 50 ปีก่อน แต่อย่างไรเสีย เทรนด์ออนไลน์มาแน่ นั่นหมายความว่ารายขายยาขนาดเล็กหรือร้านขายยาเดี่ยวต้องรวมตัวกันเพื่อความอยู่รอดทั้งด้านการแบ่งปันความรู้ สร้างฐานข้อมูล และทำงานร่วมกันเพื่อเสนอนโยบายที่ช่วยกำหนดทิศทางในวิชาชีพของตน

ดังนั้นการปรับตัวในปัจจุบันจึงอาจต้องใช้ระบบ O2O Model  คือ การผสมผสานการซื้อขายผ่านทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อสร้าง ความได้เปรียบต่อคู่แข่งที่นำเสนอประสบการณ์การซื้อสินค้า ดังนั้นต้องพัฒนาระบบเพื่อให้ระบบช่วยในการพัฒนาทักษะของคนได้ง่ายขึ้น ต้องพัฒนาคนด้วยการอบรม ระบบฐานข้อมูล คอนเทนต์ของแต่ละชนิดยาที่มีจำนวนมาก ต้องค่อยๆ ที่บันทึกลงไปในระบบ เรายังมีเวลาที่จะรอให้กฎหมายเปิดช่องร้านขายยาทำออนไลน์ได้มากขึ้น ส่วนหน้าร้านแบบ Walk in ยังคงความน่าเชื่อถือในรูปของตัวบุคคลต่อไป สามารถทำแบบคู่ขนานได้ การแข่งขันอย่าพยายามที่จะไปแข่งกับคนอื่นมันเหนื่อย  แต่ให้แข่งกับตัวเองจะทำให้เรามีกำลังใจอย่างน้อยทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวานก็พอ