สสว. กับภารกิจ พลิก SMEs ไทยสู่อนาคต

      จากความรู้ความสามารถและการที่เป็นคนเอสเอ็มอีมาก่อน ดังนั้นจึงทำให้ “สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จึงมองการพัฒนาขับเคลื่อนเอสเอ็มอีไทยในภาพกว้างและลึกและให้ภารกิจนี้เป็นโจทย์ใหญ่ระดับประเทศ ด้วยการสร้างความสามารถทางการแข่งขัน เพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจ บ่มเพาะแบบเจาะลึกด้วยกลยุทธ์และบิสิเนสโมเดลใหม่ๆ ล้อไปกับการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจในปัจจุบัน ด้วยการเชื่อมโยงและประสานการทำงานกับกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ โดยมี สสว. เป็นคนกลาง 

      สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล กล่าวว่า สสว.ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเอสเอ็มอีไทย มุ่งมั่นผลักดัน สนับสนุน พัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง ผ่านการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยภาพรวมความสำเร็จของการดำเนินงานของ สสว.ในปี 2562 มี SME ที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาแล้วกว่า 280,000 ราย และเกิดมูลค่าเพิ่มมากกว่า 4,000 ล้านบาท ด้วยนโยบายที่ท้าทายและกระตุ้นผู้ประกอบการให้รอบรู้ในข้อมูล ต่อยอดเชิงลึก ทำงานเชิงรุก มีประสิทธิภาพ มีเอกลักษณ์ สร้างความแตกต่าง และพร้อมปรับเปลี่ยนสู่การแข่งขันในยุคดิจิทัล ยกตัวอย่างโครงการที่ประสบความสำเร็จ และเป็นความภูมิใจของ สสว. คือ โครงการ SME Provincial Champion หรือสุดยอดเอสเอ็มอีระดับจังหวัด วัตถุประสงค์เพื่อการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอสเอ็มอีระดับจังหวัด 

      “โครงการนี้จะดึงของดีของเด็ดแต่ละจังหวัดขึ้นมา ในแต่ละปีจะมีสุดยอดเอสเอ็มอีระดับจังหวัด จำนวน 462 ราย ที่ผ่านเข้ารอบ จากนั้นทำการคัดเลือกจังหวัดละ 2 ราย เพื่อนำมาบ่มเพาะเชิงลึกเพื่อให้ผู้ประกอบการศึกษาและพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ตลาดได้ และสุดท้ายคือช่วยหาตลาด โดยในปี 2561 เลือกพื้นที่ศูนย์การค้าฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต และในปีนี้ใช้กลไกเดิมแต่กระจายตลาดในพื้นที่เขตเมืองมากขึ้น ซึ่งในปีนี้ สสว. มีการทดสอบตลาดมากกว่า 10 ครั้งแล้ว และในปี 2562 โจทย์ใหม่คือพา SME ไทยสู่ตลาดต่างประเทศให้ได้ โดยคัดเลือกผู้ประกอบการ 10 ราย ที่ธุรกิจน่าสนใจ มีรายได้ และมีการกระจายรายได้สู่ชุมชนรอบข้าง และมีเป้าหมายเพื่อการค้ากับต่างประเทศ นำไปศึกษาดูงานและจับคู่ทางธุรกิจกับต่างประเทศ เช่น ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ประสบความสำเร็จในประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น” 

      ผู้อำนวยการ สสว. กล่าวเพิ่มเติมว่า ภารกิจที่ สสว. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง คือ การมอบรางวัลสุดยอด SME แห่งชาติ และการประกวดรางวัล SME Start up ประจำปี 2562 รวมทั้งสิ้น 128 รางวัล โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เพื่อสรรหา SME ต้นแบบที่มีความสามารถในการดำเนินธุรกิจตามแบบมาตรฐานที่ดี มีความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับผู้ประกอบการ SME รายอื่นๆ ใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงวิธีดำเนินธุรกิจ และการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ

      ด้านองค์ความรู้ที่ สสว.พัฒนาเพื่อ SME มีตั้งแต่การจัดตั้งศูนย์ข้อมูล Knowledge center เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ในรูปแบบต่างๆ ให้ผู้ประกอบการและผู้สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายขึ้นด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงจัดทำแอปพลิเคชัน SME CONNEXT ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงกิจกรรมของ สสว. 

      พร้อมกันนี้ยังได้จัดทำเว็บไซต์ SME ONE (www.smeone.info) เพื่อเป็นช่องทางการเข้าถึงข่าวสาร อัพเดทสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในทุกมิติ เชื่อมโยงเอสเอ็มอีในความดูแลของทุกกระทรวงไว้ในเว็บเดียว นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ SME ให้ความสำคัญกับงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมควบคู่กับเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ โดยร่วมมือกับนักวิชาการจาก 8 มหาวิทยาลัยชั้นนำจากทั่วทุกภูมิภาค

      “การพัฒนาเครือข่ายของผู้ประกอบการ เกิดการเชื่อมโยงทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ผ่านโครงการพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบการ SME หรือ Cluster เช่นตัวอย่างความสำเร็จของการร่วมกันพัฒนากลุ่มคลัสเตอร์ปลากัด ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด เกิดพัฒนาการของกลุ่มธุรกิจแบบบูรณาการทุกภาคส่วน ทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 600 ล้านบาท พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมผลักดันปลากัดเป็นสัตว์ประจำชาติและเป็นสัญลักษณ์ของ SMEs ที่บอกว่าเราอึด เราสู้ไม่ถอย ต่อให้เจอปัญหาหรืออุปสรรคก็จะฝ่าฟันไปให้ได้

      “เคล็ดลับสู่ความสำเร็จของเอสเอ็มอี คือต้องคิดตั้งแต่วันแรกเลยว่า ฝันจะส่งออกไปไหน แต่ต้องศึกษา Global Niche ในแต่ละพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งตลาดอันเป็นหัวใจหลักของ สสว. ตอนนี้คือ 10 ประเทศกลุ่มอาเซียน รวมถึงญี่ปุ่น จีน เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย โดยในปี 2562 เพิ่มตลาดยุโรปคือ เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ ยกตัวอย่างจากจุดเริ่มต้นของการส่งออกปลากัด เพิ่มองค์ความรู้ด้านการประมง โลจิสติกส์และอีคอมเมิร์ซให้ผู้ประกอบการ ทำให้การจัดส่งไปได้ไกลกว่าเดิม สามารถขยายเชิงธุรกิจทำให้ผู้ประกอบการเติบโต สามารถส่งออกไปจีน ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง และสหรัฐอเมริกา จนเกิดเป็นคลัสเตอร์มีเครือข่ายธุรกิจในกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งในปีนี้มีคลัสเตอร์ใหม่ๆ ขึ้น เช่น แอนิเมชั่น ที่สร้างรายได้กว่า 400 ล้านบาท Smart Farming และ Creative and Entertainment ที่ไปจับคู่ธุรกิจในงานแฟร์ระดับภูมิภาค เริ่มต้นจากประเทศจีน” สุวรรณชัย กล่าว

      ทางคุณสุวรรณชัย กล่าวอีกว่า การเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมายด้วยโลกออนไลน์จะขยายฐานลูกค้าต่างประเทศได้ ผ่าน อีคอมเมิร์ซ หรือแพลตฟอร์มซึ่งเน้นไปที่กลุ่ม Global Niche หรือลูกค้ากลุ่มย่อยในแต่ละประเทศเป้าหมาย ดังนั้น สสว.จึงมีระบบส่งเสริมที่แตกต่างกันผ่านการสร้างระบบเทรนเนอร์ เพื่อตอบโจทย์แต่ละกลุ่มที่ไม่เหมือนกัน จึงเกิดกิจกรรมพัฒนาโค้ช ในกิจกรรม “Train the Coach” เพื่อเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถพัฒนาตัวเอง จนมีการเปลี่ยนแปลงธุรกิจให้ทันกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในยุค 4.0 เป้าหมายการสร้างเทรนเนอร์ คือ 2,200 ราย เพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอี 11,000 เคส ภายใน 3 ปี

      ผู้อำนวยการ สสว. ทิ้งท้ายว่า “การค้าของ SME ในยุคที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทอย่างสูงนี้ สิ่งที่เอสเอ็มอีต้องตระหนักคือ ตื่นตัวและปรับตัวเองให้ทัน ใช้ความรู้เพิ่มมูลค่าให้สินค้าตรงใจกลุ่มลูกค้า ต้องแตกต่าง โดดเด่น และโดนใจ จึงจะประสบความสำเร็จ สิ่งที่เราคาดหวังคือ เมื่อ สสว. มอบองค์ความรู้ให้แล้ว ผู้ประกอบการจะต้องลงมือทำ ต่อยอดสร้างรายได้ให้ตัวเองได้อย่างเข้มแข็ง เพื่อที่รัฐจะได้สร้างกลไกเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่มใหม่ๆ ต่อไป นี่คือโมเดลของการทำงานในปีนี้ ซึ่งจากผลงานที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าความสำเร็จอยู่ในมือของเอสเอ็มอีอย่างแท้จริง”