ย้ำอีกครั้ง ขั้นตอน ปลูก-ผลิตกัญชาทางการแพทย์ ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ

ย้ำอีกครั้ง ขั้นตอน ปลูก-ผลิตกัญชาทางการแพทย์ ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ

วันที่ 10 มิถุนายน 2562 องค์การเภสัชกรรม ได้เผยแพร่ข่าว ประเด็นเกี่ยวกับ การอนุญาตปลูก-ผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 เกิดคำถามว่า มีหน่วยงานใดบ้าง ที่มีคุณสมบัติตามกฎหมาย ที่สามารถปลูก-ผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ รวมทั้งการวิจัยพัฒนาได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองนั้น ได้มีความชัดเจนจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมาแล้วว่า มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง การขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

นอกจากนี้ ยังกำหนดคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตผลิต นำเข้า หรือส่งออก ให้จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา โดยการปลูกกัญชาต้องดำเนินการในสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตเท่านั้น ในการปลูกทุกครั้งต้องใช้เมล็ดพันธุ์ เนื้อเยื่อ หรือวิธีการอื่นตามที่ได้รับอนุญาตแล้ว และจัดทำแนวเขตพื้นที่การเพาะปลูกที่เห็นได้ชัด ซึ่งต้องจัดให้มีการสุ่มวิเคราะห์เพื่อตรวจสอบหาปริมาณสารสำคัญในกัญชา เช่น Cannabidiol (CBD) หรือ Tetrahydrocannabinol (THC) สารปนเปื้อน โลหะหนัก หรือสารอื่นๆ ในการปลูกทุกครั้ง ตามมาตรฐานที่กำหนด และเก็บหลักฐานการตรวจวิเคราะห์ดังกล่าว ณ สถานที่ที่ได้รับอนุญาตเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี ในกรณีที่ผู้รับอนุญาต ไม่สามารถดำเนินการด้วยตนเองได้ ต้องจัดให้มีการสุ่มวิเคราะห์ดังกล่าว โดยผู้รับอนุญาตอื่นที่รับผลผลิตจากผู้รับอนุญาตปลูกไปดำเนินการแปรรูปหรือผลิตต่อไป

รวมทั้งกำหนดให้ผู้รับอนุญาตผลิต หรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 จะผลิต หรือนำเข้า ซึ่งตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ ต้องขอการรับรองตำรับต่อผู้อนุญาตก่อน และเมื่อได้รับหนังสือรับรองผลิตภัณฑ์แล้ว จึงจะผลิตหรือนำเข้าซึ่งตำรับยาเสพติดให้โทษนั้นได้ ส่วนการศึกษาวิจัย ให้ยื่นคำขอต่อผู้อนุญาตตามแบบที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยากำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐาน เป็นต้น

ทั้งนี้ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 มีอีกหลายหน่วยงานที่สามารถทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ได้ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ได้ที่เป็นหน่วยงานของรัฐ หรือร่วมกับหน่วยงานของรัฐ สามารถทำได้หมด ในส่วนของการแจ้งเพื่อขอทำการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์นั้น ก็ยังสามารถทำได้ตลอด เนื่องจากกฎหมายมีการอนุญาตให้ขออนุญาตได้ แต่ต้องเป็นหน่วยงานรัฐ จะเป็นหน่วยงานรัฐใดก็ได้

ยกตัวอย่าง มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็สามารถดำเนินการ ซึ่งขณะนี้มีหลายมหาวิทยาลัยที่เตรียมยื่นขออนุญาต นอกจากนี้ หากต้องการทำวิจัยก็สามารถทำได้ เช่น โรงพยาบาล หรือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ยื่นเรื่องขอทำการวิจัยเช่นกัน แต่หากจะนำมาใช้ทางการแพทย์ ก็ต้องมีลักษณะโครงการที่จะนำไปใช้ทางการแพทย์ ที่ชัดเจน เช่น ในส่วนของมหาวิทยาลัย ต้องมีความสัมพันธ์กับ คณะแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ หรือโรงพยาบาล หรือใครก็ตามที่ต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เนื่องจากกฎหมายระบุชัดว่าต้องใช้ในการวิจัยทางการแพทย์

ทั้งนี้ หากสรุปโดยสังเขป ผู้ที่จะปลูกได้ ประกอบไปด้วย 1. หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวกับทางการแพทย์ 2. หน่วยงานที่เกี่ยวกับทางการเกษตร เช่น วิสาหกิจชุมชนไปร่วมกับมหาวิทยาลัยเพื่อศึกษาสายพันธุ์ว่าสายพันธุ์ไหนดีหรือไม่ดี ก็สามารถมาขออนุญาตได้ แต่ต้องมีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ขออนุญาต และ 3. หน่วยงานของรัฐร่วมกับเอกชน เป็นต้น

ส่วนการขออนุญาตปลูกนั้น ประกอบด้วย 1. สถานที่เพาะปลูก ต้องได้รับการตรวจสอบจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 2. ต้องระบุปริมาณการปลูก 3. ต้องผ่านการตรวจสอบประวัติการถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษของผู้ขอรับอนุญาต 4. มาตรการรักษาความปลอดภัยต้องมีรั้วรอบขอบชิด เพื่อป้องกันการรั่วไหลของกัญชา 5. รายละเอียดการดำเนินการ แบ่งเป็นกรณีปลูกเพื่อประโยชน์ของทางราชการ การแพทย์ และกรณีปลูกเพื่อศึกษาวิจัย

และ 6. ข้อมูลทั่วไปของผู้ขอรับอนุญาต หากปลูกต้องมีการระบุว่า จะนำสายพันธุ์กัญชามาจากที่ใด เช่น ขอมาจากของกลางจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ต้องมีการทำเรื่องขอของกลางจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือหากจะมีการนำเข้าสายพันธุ์ ก็ต้องมีการอนุญาตการนำเข้า ดังนั้น ขอย้ำว่าในการที่จะทำอะไรต้องขออนุญาตทุกขั้นตอน

*ขอบคุณข่าวจาก กองประชาสัมพันธ์ องค์การเภสัชกรรม