คาดวันแรงงานเงินสะพัด 2,200 ล้าน – แรงงานอ่วมหนี้พุ่งเฉลี่ย 158,000 บาท/ครัวเรือน

คาดวันแรงงานเงินสะพัด 2,200 ล้าน – แรงงานอ่วมหนี้พุ่งเฉลี่ย 158,000 บาท/ครัวเรือน

แรงงานอ่วมหนี้พุ่ง – นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจ สถานภาพแรงงานไทย : กรณีศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท” ว่า ทางศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ทำการสำรวจ 1,200 ตัวอย่างทั่วประเทศ ในกลุ่มอาชีพข้าราชการ รับจ้าง พนักงานเอกชนรัฐวิสาหกิจ และรับจ้างรายวัน พบว่า ส่วนใหญ่จะมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 10,000-15,000 บาท โดยสัดส่วน 86.2% ไม่มีเงินออม ทำให้แรงงานถึง 95% มีภาระหนี้สินจากการกู้ยืมมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ที่อยู่อาศัย และยานพาหนะ โดยเฉลี่ยจำนวนหนี้สินต่อครัวเรือนประมาณ 158,000 บาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 15% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ยังมีสัดส่วนการกู้เงินในระบบสูงกว่า ซึ่งต้องผ่อนชำระประมาณเดือนละ 7,200 บาท และในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ยังคงเจอปัญหาผิดนัดชำระหนี้ เพราะมีค่าใช้จ่ายเดือนชนเดือน และรายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย จากราคาสินค้าและค่าครองชีพที่สูงขึ้น

รวมทั้งยังมองว่าเศรษฐกิจในประเทศยังทรงตัว ทั้งนี้ แรงงานส่วนใหญ่ เห็นว่าค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบัน มีความเหมาะสมในระดับปานกลางเท่านั้น จึงอยากให้มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แม้จะไม่ได้ตามที่คาดหวังไว้ แต่อย่างน้อยก็ปรับเพิ่มให้เท่ากับค่าสาธารณูปโภค ค่าเดินทาง และราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น

ส่วนกิจกรรมในช่วงวันแรงงาน จะไปท่องเที่ยวตามสถานที่จัดงานแรงงาน ดูหนัง สังสรรค์และไปซื้อของ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 2,164 บาท ทำให้คาดว่ามูลค่าการใช้จ่ายในวันแรงงานปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 2,232 ล้านบาท ขยายตัว 1.8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ต่ำสุดในรอบ 3 ปี โดยยังต้องติดตามประเด็นภาระหนี้ต่อครัวเรือน ที่แม้จะยังมีสัดส่วนการกู้ยืมในระบบที่สูงกว่า แต่เริ่มมีการกู้นอกระบบมากขึ้นจากปีก่อนหน้า ที่ 34% เพิ่มขึ้นเป็น 41.8% ในปีนี้ เนื่องจากแรงงานมีการกู้ในระบบเต็มแล้ว จากปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่รายได้ยังพอดีกับรายจ่าย หรือรายได้ยังน้อยกว่ารายจ่าย ทำให้ยังต้องกู้ยืมเงิน ซึ่งรัฐบาล ควรแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ เช่น การปรับโครงการธงฟ้าเฉพาะในกลุ่มที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อแรงงาน

อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจแรงงานที่ออกมาถือว่าปีนี้แม้ลูกจ้างยังต้องการค่าจ้างแรงงานเพิ่ม แต่ทุกคนก็เข้าใจนายจ้างมากขึ้น เพราะหากปรับค่าจ้างแรงงานเพิ่มจะกระทบต่อนายจ้างและไม่เป็นผลดีกับลูกจ้างหากให้ออกจากงานการหางานใหม่จะลำบากมากในช่วงนี้ แต่ก็อยากให้รัฐบาลชุดใหม่ที่คาดว่าจะได้ภายในสิ้นปีนี้ช่วยดูแลเรื่องค่าแรงงานและสวัสดิการอื่นๆ

“หลายปัจจัยที่เกิดขึ้นยอมรับว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกน่าจะเติบโตเพียง 3.2-3.3% ซึ่งอยู่ในช่วงซึมลงจากหลายสาเหตุ ทำให้คนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย โดยใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น แต่เมื่อทุกอย่างดีขึ้นครึ่งปีหลังมีรัฐบาลใหม่เศรษฐกิจน่าจะเติบโตถึง 4% ทำให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมทั้งปีอยู่ที่ 3.5-3.8% และยังมองว่าประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านด้านการท่องเที่ยวและภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยผ่านมาตรการต่างๆ อย่างเหมาะสมกันต่อไป” นายธนวรรธน์ กล่าว