กรมเจรจาฯ ลงพื้นที่ ขยายตลาดผลิตภัณฑ์ “กาแฟห้วยตม” เตรียมส่งต่างประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และสภาเกษตรกรแห่งชาติ ลงพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง โดยเฉพาะที่ จ.สุโขทัย เพื่อพบปะเกษตรกร และแนะโอกาสขยายตลาดสินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดโลก ด้วยเอฟทีเอ( FTA ) ภายใต้โครงการ “การเพิ่มศักยภาพเกษตรกรไทยพร้อมรุกตลาดโลก” เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2562 พร้อมเสวนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ช่องทางรวยของสินค้าเกษตรจากเอฟทีเอ” และ “ทำอย่างไรให้สินค้าเกษตรสู่ตลาดต่างประเทศ” ณ โรงแรมสุโขทัย เฮอริเทจ รีสอร์ท

จังหวัดสุโขทัย มีผลิตภัณฑ์หนึ่งที่น่าสนใจคือกาแฟพันธุ์ โรบัสต้า ที่แปรรูปทำเป็นกาแฟสด ภายใต้เครื่องหมายการค้า แบรนด์ “ห้วยตม” และ ”ทิซา”(Thisa) ของกลุ่มแปรรูปการเกษตรบ้านห้วยตม ต.บ้านตึก อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย จุดเด่นคือมีรสชาติหวาน กว่ากาแฟทั่วไปโดยไม่ต้องใส่น้ำตาล และในบางช่วงฤดูกาลจะมีกลิ่นทุเรียนด้วย

คุณบุญเรือง ธิวงศ์ษา ประธานกลุ่มแปรรูปการเกษตรบ้านห้วยตม เล่าว่า อาชีพหลักที่สร้างได้ให้กับชุมชนนั้นคืออาชีพการทำสวนทุเรียนหมอนทอง และสวนทุเรียนพันธุ์อื่น เช่น หลิน – หลงลับแล, ชะนี และ พวงมณี เป็นต้น บางส่วนทำสวนลองกอง

สำหรับกาแฟพันธุ์โรบัสต้านั้น มีการปลูกมานานกว่า 60 ปี โดยปลูกผสมปะปนอยู่ในสวนทุเรียน และลองกอง ซึ่งเป็นสายพันธุ์พื้นเมืองแท้ สิ่งที่แปลกและถือเป็นความโดดเด่นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างหนึ่ง คือ กาแฟจะมีรสหวานกว่าปกติกว่ากาแฟทั่วไป

ต่อมาทางหมาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ ได้วิจัยพบว่า กาแฟที่บ้านห้วยตมมีปริมาณน้ำตาลมากเกินปกติของกาแฟทั่วไป ซึ่งปกติแล้วกาแฟทั่วไปมีน้ำตาลไม่เกิน 1.5 % ในขณะที่กาแฟที่บ้านห้วยตมมีน้ำตาลมากกว่า 1.9% ซึ่งเป็นน้ำตาลธรรมชาติ จากผลลองกองสุกที่หล่นใต้โคนต้นกาแฟ เมื่อมีปริมาณมากขึ้นอาจมีน้ำตาลเข้าในผลกาแฟ ซึ่งสิ่งนี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น

ด้วยรสหวานของกาแฟที่แฝงกลิ่นละมุนของทุเรียน ทำให้กาแฟห้วยตมมีคุณสมบัติพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ส่งผลให้ราคากาแฟมีมูลค่าสูงขึ้น เกษตรกรจึงรวมตัวกันฟื้นสวนกาแฟขึ้นมา พร้อมแปรรูปผลิตภัณฑ์ ในรูปแบบการคั่วด้วยเครื่อง พร้อมสร้างแบรนด์ “ห้วยตม” ส่วนวิธีการคั่วโดยใช้กระทะ เป็นกาแฟท้องถิ่น ภายใต้แบรนด์ “ทิซา” ปัจจุบันกาแฟกำลังกลายเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของ จ.สุโขทัย

ด้าน นางสาวบุณิกา แจ่มใส อำนวยการสำนักงานพัฒนาความพร้อมทางการค้า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมเจรจาฯ ได้ร่วมกับ สภาเกษตรฯ ลงพื้นที่ จ.สุโขทัย ครั้งที่ 4 ให้ความรู้แก่เกษตรกรในการใช้ประโยชน์จาก FTA โครงการครั้งนี้มุ่งเน้นในเรื่องของ สมุนไพร ผลไม้แปรรูป อาหารสุขภาพ โดยเฉพาะ จ.สุโขทัย ขึ้นชื่อในเรื่องของผลไม้ การลงพื้นที่ในครั้งนี้พบว่า กาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าของ จ.สุโขทัย มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะเรื่องรสชาติที่มีความหวานละมุน เพราะปลูกใต้ต้นทุเรียน และลองกอง ทำให้ได้รสชาติมีความโดดเด่นเฉพาะพื้นที่

กรมเจรจาฯ ได้มองเห็นความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์เกษตรในพื้นที่ จึงได้ส่งผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้แก่เกษตรกรตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ไปจนถึงช่องทางการตลาด ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรได้มองเห็นถึงความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพสินค้า มีการพัฒนาองค์ความรู้ ทำให้เพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้

อีกทั้งกรมเจรจาฯ และสภาเกษตรฯ ร่วมมือกันแนะนำเกษตรกรให้เห็นถึงความสำคัญของการใช้ประโยชน์จาก FTA ซึ่งกรมเจรจาฯ ได้ดำเนินการไปแล้วจำนวน 18 ประเทศ ส่งผลให้กำแพงภาษีลดลงซึ่งจะเอื้อประโยชน์ในการทำการค้าอย่างมาก

และทางกรมฯ ยังได้จัดเสวนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ช่องทางรวยของสินค้าเกษตรจากเอฟทีเอ” และ “ทำอย่างไรให้สินค้าเกษตรสู่ตลาดต่างประเทศ” เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากความตกลงเอฟทีเอ กฎระเบียบทางการค้า มาตรการทางภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า

รวมทั้งได้นำทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและการตลาดมาเปิดเวทีติวเข้มวิเคราะห์สินค้า และแนะนำตลาดส่งออกที่เหมาะสมให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ โดยเกษตรกรให้ความสนใจนำสินค้ามาวิเคราะห์และจำหน่ายกันอย่างคึกคัก อาทิ กาแฟ น้ำผลไม้ กล้วยตาก ผักผลไม้ออแกนิก เม็ดมะม่วงหิมพานต์ มะขามป้อม มังคุด ฝรั่ง มะเขือเทศ ข้าวอินทรีย์ น้ำมันรำข้าว และผ้าซิ่นตีนจก

นอกจากนี้ยังมีการจับคู่ธุรกิจ สร้างเครือข่ายเกษตรกรกลุ่มต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการผลิตผลิตภัณฑ์ เสริมเทคโนโลยี นวัตกรรม การตลาดและช่องทางการจำหน่าย โดยภายในงาน กลุ่มกาแฟโรบัสต้าภาคเหนือตอนล่างที่เป็นการรวมกลุ่มของบ้านห้วยตมสุโขทัย ได้จับคู่สร้างเครือข่ายกับกลุ่มดอยลับแล และกลุ่มลุ่มน้ำน่านอุตรดิตถ์ เพื่อเชื่อมโยงเครือข่าย ข้าวอินทรีย์นครสวรรค์กับสุโขทัย เป็นต้น

โดยกรมฯ เชื่อมั่นว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร และขยายช่องทางการจำหน่ายไปตลาดโลก โดยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ โดยเฉพาะการส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอ เช่น อาเซียน จีน อินเดีย และญี่ปุ่น ที่ได้ลดเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ให้ไทยแล้ว