นักวิชาการชี้ ฉีดน้ำบนตึกใบหยก แก้ปัญหาฝุ่นพิษไม่ได้ แนะ 4 วิธี บรรเทาวิกฤต

นักวิชาการชี้ ฉีดน้ำบนตึกใบหยก แก้ปัญหาฝุ่นพิษไม่ได้ แนะ 4 วิธี บรรเทาวิกฤต

กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมแก้ปัญหาวิกฤตฝุ่นละอองในพื้นที่ กทม. และ 5 จังหวัดรอบ กทม. ด้วยการฉีดพ่นน้ำจากตึกสูง เช่น จากตึกใบหยก

ต่อเรื่องดังกล่าว นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้แสดงความคิดเห็นว่า รัฐบาลกำลังจะลดฝุ่น 2.5 โดยการติดตั้งเครื่องพ่นน้ำบนอาคารสูงเช่น ตึกใบหยก เป็นต้น ซึ่งเป็นแนวคิดของผู้บริหาร

ผมเรียนอย่างนี้ในต่างประเทศทั้งในประเทศจีนหรือยุโรปก็ทำเช่นกัน แต่ไม่ใช่สเปรย์หรือฉีดน้ำเป็นฝอยลงมาจากตึกสูง เหมือนฝนตกเบาๆ ซึ่งจะไม่ช่วยในการจับฝุ่นขนาดเล็กที่แขวนลอยในอากาศเลย

1.วิธีการที่ถูกต้องคือ ต้องติดตั้งหัวกระจายน้ำเป็นฝอยบนหลังคาของตึกสูงไม่เกิน 100 เมตร เรียกว่า Skyscraper sprinkler system โดยจะพ่นละอองฝอยของน้ำขนาด 0.1-3 ไมครอน (ขนาดใกล้เคียงฝุ่น 2.5) ออกไปสู่บรรยากาศโดยรอบในรัศมีอย่างน้อย 50 เมตร จะสามารถจับฝุ่นดังกล่าวลงสู่พื้นดินได้ แต่ต้องทำพร้อมกันหลายๆ ตึกในระดับความสูงไม่เกิน 100 เมตร โดยทำในวันที่มีค่า PM 2.5 สูงเกินมาตรฐานและลมสงบ (Bad day)

2.การพ่นละอองน้ำต้องทำอย่างต่อเนื่องกันอย่างน้อย 30 นาที และเว้นระยะ 30 นาที – 1 ชั่วโมง จึงพ่นต่อได้ สามารถลดฝุ่นลงได้ถึงร้อยละ 70 ในบริเวณดังกล่าว

3.ในต่างประเทศตึกที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำหรือแม่น้ำที่สะอาดก็สามารถดูดขึ้นมาและพ่นออกไปเป็นฝอยเล็กๆ ได้ซึ่งจะประหยัด ใช้พลังงานน้อย และได้ผลกว่าที่คิด

4.เป็นวิธีการที่จะช่วยบรรเทาลดความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กลงได้มากแต่วิธีที่ดีที่สุดคือการไป x-ray พื้นที่และจัดการกับแหล่งกำเนิดจะดีและถูกต้องที่สุด