เทรนด์สินค้าไซซ์พิเศษ ตอบโจทย์ลูกค้าไม่เพอร์เฟ็กต์

เดี๋ยวนี้มองไปทางไหนก็เห็นแต่เสื้อผ้าที่ผลิตออกมาเอาใจหนุ่มๆ สาวๆ หุ่นพิมพ์นิยม ทำให้บรรดาคนไซซ์พิเศษทั้งหลายแอบมองด้วยความอิจฉา เพราะกว่าจะหาเสื้อผ้าสักตัวที่พอดี มันช่างยากเย็นเหลือเกิน

แต่น่าสนใจว่า ระยะหลังๆ เริ่มเห็นเทรนด์สำหรับคนหุ่นไม่เพอร์เฟ็กต์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโฆษณาที่นำนางแบบสาวอวบมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ รวมถึงหนุ่มหุ่นกล้ามเป็นมัดๆ ที่เสื้อผ้าไซซ์ธรรมดาไม่ตอบโจทย์

โดยเฉพาะเทรนด์สาวอวบ หรือพลัสไซซ์ กำลังทวงพื้นที่ในโลกแฟชั่นและความงาม สะท้อนว่าแบรนด์ต่างๆ อ้าแขนรับความไม่สมบูรณ์แบบมากขึ้น อย่างกรณีของงานนิวยอร์ก แฟชั่น วีก ที่เปิดให้สาวพลัสไซซ์เดินแบบบนแคตวอล์ก หรือดีไซเนอร์บางคนที่สร้างสรรค์เสื้อผ้าสำหรับสาวไซซ์ใหญ่กว่ามาตรฐาน

plus-size7

 

“รีบอค” แบรนด์ผลิตภัณฑ์กีฬาชื่อดัง ก็ทำโครงการชื่อ “เพอร์เฟ็กต์ เนฟเวอร์” ที่ต้องการกระตุ้นให้ผู้หญิงภูมิใจกับความเข้มแข็งจากภายใน และยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบ หรือกรณีของ “โดฟ” ที่ออกแคมเปญความสวยที่แท้จริงหลายปีมาแล้ว เพื่อให้ผู้หญิงทำลายค่านิยมเดิมๆ และหันมามองเห็นคุณค่าของความงามในแบบที่ตัวเองเป็นอยู่

เมื่อเร็วๆ นี้ ห้างค้าปลีก “ไมเออร์” (Meijer) ในรัฐมิชิแกน เพิ่งปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ โดยพยายามลดการตีตราลูกค้าผู้หญิงไซซ์ใหญ่กว่ามาตรฐาน พร้อมๆ กับปลุกยอดขายในตลาดนี้ที่มีอยู่มหาศาล

ห้างไมเออร์ มีแผนจะรวมแผนกเสื้อผ้าสาวพลัสไซซ์ที่เคยแยกออกมา ให้รวมอยู่กับแผนกเสื้อผ้าผู้หญิงปกติ โดยแบ่งแค่ “ไซซ์ปกติ” และ “ไซซ์ใหญ่” แต่จะแขวนรวมอยู่ด้วยกัน รวมทั้งเสื้อผ้าทุกสไตล์จะมีไซซ์ให้เลือกตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนใหญ่พิเศษ

แนวคิดนี้จะนำไปใช้ใน 15 สาขาก่อน หลังจากนั้นจะขยายไปใช้ในทุกสาขา รวม 230 สาขา ภายในต้นปี 2560

plus-size3

“แอนเนตต์ รีแฟสช์” รองประธานบริษัทกล่าวกับวอลล์สตรีต เจอร์นัล ว่า ทางห้างเข้าใจความรู้สึกของลูกค้าเป็นอย่างดี และทุกๆ คนควรจะได้รับประสบการณ์แบบเดียวกัน ทั้งเรื่องสไตล์ของเสื้อผ้า ราคา และทำเลของสาขา ไม่ใช่ผลักไสลูกค้าไซซ์พิเศษไปอยู่หลังร้านเหมือนที่ผ่านๆ มา

ที่จริงแล้ว เสื้อผ้าสาวไซซ์ใหญ่พิเศษเป็นตลาดที่มีโอกาสมากสำหรับอุตสาหกรรมค้าปลีก ท่ามกลางช่วงเวลานี้ที่ผู้บริโภคมักยอมควักเงินซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และรับประทานอาหารในร้าน มากกว่าการซื้อเสื้อผ้า

บริษัทวิจัย “เอ็นพีดี กรุ๊ป” ประเมินว่า เม็ดเงินใช้จ่ายซื้อเสื้อผ้าพลัสไซซ์น่าจะแตะ 2.04 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปีนี้ เพิ่มขึ้น 17% จากปี 2556 เทียบกับยอดขายเสื้อผ้าโดยรวมที่โตแค่ 7%

ในกรณีของตลาดเสื้อผ้าสหรัฐมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า เนื่องจากเสื้อผ้าเซ็กเมนต์นี้มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยข้อมูลจากวารสารการออกแบบ เทคโนโลยี และการศึกษาด้านแฟชั่น ระบุว่า ปัจจุบัน เสื้อผ้าของสาวอเมริกันมีขนาดเฉลี่ยอยู่ที่ไซซ์ 16-18 เพิ่มจากก่อนหน้านี้ที่อยู่ที่ไซซ์ 14

plus-size6

ส่วนข้อมูลของเอ็นพีดี พบว่า ลูกค้าวัยรุ่นหญิงซื้อเสื้อผ้าพลัสไซซ์อยู่ที่ 34% ในปีนี้ เพิ่มจากระดับ 19% จากเมื่อปี 2555

ความเคลื่อนไหวของห้างไมเออร์ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในตลาดเสื้อผ้าสาวอวบ เพราะทางห้างจะแยกรับต้นทุนบางส่วนจากการตั้งราคาเสื้อผ้าเท่ากันทุกไซซ์ ในขณะที่ผู้ผลิตมักจะคิดราคาเสื้อผ้าพลัสไซซ์แพงกว่าไซซ์ปกติ เนื่องจากใช้วัตถุดิบและแรงงานในการผลิตมากกว่า

plus-size2

ห้างค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐ “วอลมาร์ต” ก็เพิ่งเปลี่ยนกลยุทธ์สำหรับเสื้อผ้าไซซ์ใหญ่พิเศษ อย่างเสื้อเชิ้ตบางรุ่นก็วางขายที่ราคา 8 ดอลลาร์ เท่ากันทุกไซซ์ ทั้งที่ไซซ์ใหญ่เคยขายที่ราคา 11.76 ดอลลาร์ เทียบกับไซซ์ปกติที่ราคา 9.76 ดอลลาร์

“เจมส์ รี” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร “แอชลีย์ สจ๊วร์ต อิงค์” ผู้ผลิตเสื้อผ้าสาวพลัสไซซ์ บอกว่า การปรับเปลี่ยนของผู้เล่นรายใหญ่อาจจะส่งผลกระทบต่อบริษัทต่างๆ รวมถึงแอชลีย์ สจ๊วร์ต อิงค์ เพราะตอนนี้เสื้อผ้าพลัสไซซ์กำลังเป็นที่สนอกสนใจ แต่บริษัทต่างๆ จะต้องมีกลยุทธ์ที่ตอบโจทย์จริงๆ

รี มองว่า เพราะกลยุทธ์ที่ไม่ชัดเจนและเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า ก่อนหน้านี้ หลายๆ แบรนด์ลดการผลิตเสื้อผ้าไซซ์ใหญ่พิเศษลง ทำให้สาวๆ กลุ่มนี้หันไปพึ่งพาธุรกิจอีคอมเมิร์ซมากขึ้น เพราะมีความหลากหลาย และสม่ำเสมอมากกว่า

plus-size5

ด้าน “เลน ไบรอัน” ฝ่ายการตลาดของโครงการ “Plus is Equal” บอกว่า บรรดาห้างค้าปลีกจะหันมาเอาใจลูกค้าพลัสไซซ์มากขึ้น โดยลูกค้ากลุ่มนี้มีศักยภาพ และมีความต้องการไม่แตกต่างจากสาวไซซ์ปกติ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าสีสันสดใส และสวมได้พอดีตัว ต่างจากเสื้อผ้ายุคก่อนๆ ที่มีแต่เสื้อผ้าสีทึมๆ เพื่ออำพรางรูปร่าง

ส่วนหนุ่มๆ ที่ไซซ์ไม่มาตรฐานก็ไม่ต้องกังวล เพราะเริ่มมีเสื้อผ้าที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะมากขึ้น รวมถึงหนุ่มๆ ที่ความสูงน้อยกว่าปกติ ก็มีร้านเสื้อผ้าที่ช่วยทำให้การแต่งกายออกมาดูดี

“ปีเตอร์ แมนนิ่ง” หนุ่มที่มาพร้อมความสูง 5 ฟุต 8 นิ้ว เคยรู้สึกไม่มั่นใจกับความสูงที่น้อยกว่าปกติของตัวเอง ทั้งที่ตลาดนี้มีโอกาสมหาศาล เฉพาะในสหรัฐก็มีคนที่ความสูงเฉลี่ย 5 ฟุต 7.3 นิ้ว หรือเตี้ยกว่านั้นมากถึง 160 ล้านคน

เขาเลยเกิดไอเดียเปิดเว็บไซต์ขายเสื้อผ้าสำหรับคนไซซ์พิเศษที่หาได้ยากในห้างทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นหนุ่มสูงใหญ่เกินปกติ หนุ่มความสูงน้อยกว่ามาตรฐาน สาวร่างอวบ และสาวตัวเล็กเกินไป โดยเฉพาะหนุ่มที่ไม่ค่อยสูงที่ตลาดมีศักยภาพสูง

ที่มาภาพ

https://bossip.files.wordpress.com/ https://media1.fdncms.com/ http://plus-size-modeling.com/ https://www.bloomberg.com/ http://fm.cnbc.com/