ผู้เขียน | ไมตรี ลิมปิชาติ |
---|---|
เผยแพร่ |
ผมไปเที่ยวภูเก็ตครั้งล่าสุดมีลาภปากที่ได้กินกุ้งมังกร ที่ต้องใช้คำว่า ลาภปากก็เพราะเป็นกุ้งที่มีราคาแพงเหลือเกิน
กุ้งชนิดอื่นๆ กิโลกรัมละ 1,000 กว่าบาท ก็ถือว่าแพงแล้ว ทว่ากุ้งมังกรกิโลกรัมละตั้ง 3,000 บาท และได้กุ้งเพียงตัวเดียวเท่านั้น เพราะแต่ละตัวหนักเป็นกิโล นี่ถ้าต้องซื้อกุ้งมังกรกินเองผมคงไม่ซื้อกิน เสียดายเงิน ที่ยอมกินก็เพราะมีเจ้ามือ แต่ก็เกรงใจเหมือนกันจึงกินเพียงพอประมาณ คือให้รู้ว่าเนื้อกุ้งมีรสชาติเป็นอย่างไรก็พอ
ผมได้รับทราบจากร้านขายอาหารทะเลว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมมากินกุ้งมังกรที่ภูเก็ต หากไม่ได้มากินกุ้งชนิดนี้ก็เหมือนไม่ได้มาเที่ยวภูเก็ต ก็ว่าได้ ก็เพราะอย่างนี้แหละจึงทำให้กุ้งมังกรราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ เพราะกุ้งตามธรรมชาติที่ชาวประมงจับได้มีน้อย ขณะที่คนกินมีมากขึ้น
ร้านอาหารที่ภูเก็ตจึงสั่งซื้อกุ้งมังกรมาจากพม่าเสียเป็นส่วนใหญ่ กุ้งมังกรนำเข้าไม่ค่อยจะดีเพราะกุ้งจะตายก่อนถึงผู้กินกว่าครึ่ง กุ้งตายกับกุ้งเป็นราคาต่างกัน กุ้งตายเนื้อจะเละไม่แน่นเหมือนกุ้งเป็น
ก็เพราะกุ้งมังกรมีราคา จึงทำให้ชาวประมงหันมาทำกระชังเลี้ยงกันหลายราย พอผมได้รับรู้ว่ากุ้งมังกรเลี้ยงได้ ทำให้ผมอยากไปดูขึ้นมาทันที
ในวันรุ่งขึ้น ผมจึงได้ให้คนที่นั่นพาไปดูการเลี้ยงกุ้งมังกร ซึ่งเป็นกระชังที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับสะพานสารสินที่เชื่อมต่อระหว่างแผ่นดินใหญ่กับเกาะภูเก็ต ไปง่ายและพบกับคนเลี้ยงก็ไม่ยากเพราะมักจะเฝ้ากระชังไม่ยอมไปไหนถ้าไม่จำเป็น
คนเลี้ยงกุ้งชื่อ สมชาย อุดมผล วัย 40 เศษ มีเมียคนแรกหลายปีมาแล้ว มีลูกด้วยกัน 1 คน
คุณสมชายเป็นคนภูเก็ต เกิดที่นี่โตที่นี่ ทำมาหากินอยู่ที่นี่ ส่วนจะตายที่ไหนยังไม่รู้ อาชีพหลักคือ การทำประมง มีเรือเล็กๆ จับปลาและงมกุ้งแบบเช้าไปเย็นกลับ งมได้เป็นกุ้งมังกรตัวเล็กบ้างใหญ่บ้าง แต่ส่วนใหญ่จะได้ตัวเล็กๆ หนักเพียง 1-2 ขีด พองมกุ้งมังกรได้ก็จะขาย ได้เงินเท่าไรก็เอา
ต่อมามีความคิดขึ้นมาเองว่า ควรเอากุ้งมังกรตัวเล็กๆ นี้เลี้ยงให้โตดีกว่า เพราะขายกุ้งตัวโตจะได้เงินมากกว่า เมื่อคิดได้ดังนี้ เขาจึงได้ลงมือทำกระชังเลี้ยงกุ้งไม่รอช้า การเลี้ยงกุ้งมังกรไม่ต้องใช้อาหารซีพีแต่ใช้ปลาตัวเล็กๆ ที่ตายแล้วมาโยนให้กุ้งกิน
ปลาตัวเล็กๆ ซื้อโดยตรงมาจากชาวประมงราคาถูก โดยเอาหอยกะพงให้ลูกกุ้งกินสัปดาห์ละครั้ง เพราะหอยกะพงราคาแพงกว่าลูกปลา
กระชังเลี้ยงกุ้งมีขนาดไม่ต้องกว้างยาวเท่ากับเลี้ยงปลากะพง แค่ 2x2 เมตร ก็พอ และไม่ต้องเลี้ยงมากๆ ก็ได้
เพียงกระชังละไม่เกิน 200 ตัว ก็พอ
ราคาขายส่งกิโลกรัมละ 2,500 บาท โดยเฉลี่ย หากมี 200 ตัว ก็จะขายได้เงินถึง 250,000 บาท ถือเป็นรายได้ที่เยอะมาก ดีกว่าใช้เรือออกจับปลาปกติ ที่ว่านี้ยังไม่หักเงินลงทุนค่าลูกกุ้งและอาหาร
ปัญหาใหญ่คือ หาลูกกุ้งค่อนข้างยาก เพราะลงงมได้บางเดือนเท่านั้น ฤดูมรสุมนั้นจะงมลูกกุ้งไม่ได้ และต้องงมหาลูกกุ้งมาเลี้ยงด้วยตนเอง เพราะไม่มีลูกกุ้งขายเหมือนเลี้ยงกุ้งกุลาดำ กุ้งก้ามกราม และกุ้งทั่วไป ราคาขายลูกกุ้งมังกรทั่วไปหนัก 1-2 ขีด ประมาณตัวละ 200-300 บาท
ถ้าต้องซื้อลูกกุ้งมาเลี้ยงก็ต้องลงทุนสูงมาก เพราะแค่ลงทุนซื้อลูกกุ้งอย่างเดียว 200 ตัว ก็ต้องใช้เงินหลายหมื่นบาท แต่ถึงจะมีเงินซื้อลูกกุ้งมังกรก็ซื้อยาก เพราะคนงมกุ้งมักจะนำไปเลี้ยงเสียเองไม่ขายให้ใคร การเลี้ยงกุ้งมังกรถ้ามีประสบการณ์จะเลี้ยงไม่ยาก รอดตายเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ที่กุ้งตายส่วนใหญ่เกิดจากกุ้งกินกันเอง คนเลี้ยงจึงต้องหาอาหารให้มันได้กินจนอิ่มทุกวัน
พอให้อาหารแก่กุ้งแล้วเกือบทุกครั้งจะต้องดำน้ำดูว่ามีกุ้งตัวไหนยังไม่ได้กินอาหารบ้าง ถ้าตัวไหนยังไม่ได้กินก็ต้องเอาปลาส่งให้มันกินถึงปาก ผมย้อนถามถึงวิธีงมลูกกุ้งมังกรมาเลี้ยง คุณสมชายบอกว่าใช้วิธีง่ายๆ แบบโบราณคือ ใช้สายยางเป็นสายอากาศเหมือนใช้ดำแร่ สมัยที่ใต้ทะเลยังมีแร่ดีบุก
เพียงแต่ลูกกุ้งมังกรอยู่ในน้ำไม่ค่อยลึกมาก ประมาณ 2 เมตรเท่านั้น และมันชอบอาศัยอยู่ตามซอกหินจับก็ไม่ยาก ขอให้ได้เห็นแล้วเอามือเข้าไปจับได้เลย กุ้งจะไม่หนีไม่ดิ้นเหมือนปลา
ขณะที่คุณสมชายเล่าถึงการเลี้ยงกุ้งมังกร เขายังได้พาผมลงเรือไปชมกุ้งมังกรในกระชังด้วย ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งไม่น่าจะเกิน 100 เมตร ทำให้สะดวกกับการดูแล เพราะเมื่อกุ้งมังกรราคาแพงก็เสี่ยงกับการถูกขโมยนั่นเอง
ก่อนกลับคุณสมชายบอกว่า กุ้งมังกรเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวมาก เขาจึงไม่ห่วงเรื่องการขาย เพราะจะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงบ้าน โดยคนเลี้ยงไม่ต้องจับกุ้งจากกระชังไปขายเอง
สรุปแล้วเขาไม่ห่วงเรื่องขายกุ้ง แต่ห่วงอยู่อย่างเดียวว่า ต่อไปถ้าหาลูกกุ้งมาเลี้ยงไม่ได้จะทำอย่างไร
ฉะนั้น ถ้าเป็นไปได้ เขาอยากให้กรมประมงเพาะเลี้ยงกุ้งชนิดนี้ให้ได้ เพื่อคนเลี้ยงกุ้งอย่างเขาจะได้ไปซื้อลูกกุ้งมาเลี้ยงได้เลย เพราะในอนาคตเป็นไปได้ที่น้ำในทะเลเปลี่ยนไปอาจไม่มีลูกกุ้งให้งมมาเลี้ยงก็ได้