ผู้เขียน | ไมตรี ลิมปิชาติ |
---|---|
เผยแพร่ |
ผมพบกับ กมล มงคล ชายหนุ่มอายุ 40 กว่านิดหน่อย ที่ริมอ่างเก็บน้ำเขาเต่า
อ่างเก็บน้ำเขาเต่าตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของตัวเมืองหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จากหัวหินนั่งรถไปประมาณ 20 นาทีก็ถึง
เป็นอ่างเก็บน้ำที่มีเนื้อที่กว้าง มองเหมือนเป็นทะเลสาบน้อยๆ
ปัจจุบันนอกจากอ่างเก็บน้ำเขาเต่าจะมีหน้าที่เป็นอ่างเก็บน้ำแล้ว ยังกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้วย เพราะนักท่องเที่ยวที่มาทำบุญบนเขาเต่าจะลงมารับอากาศบริสุทธิ์และถ่ายรูปกับอ่างเก็บน้ำที่มีเทือกเขาเป็นทิวทัศน์ที่สวยงามอยู่เบื้องหลัง
วันนั้น กมลพาตัวเองมาพร้อมกับเบ็ดตกปลาถึง 9 คัน
เบ็ดทุกคันได้เสียบเหยื่อหย่อนเบ็ดลงไปในอ่างเก็บน้ำเรียบร้อยแล้ว
ขณะที่กมลนั่งคอยให้ปลากินเหยื่อ เขาจะใช้เวลานั่งปั้นขนมปังเป็นก้อนกลมเท่าหัวแม่มือเตรียมไว้เป็นเหยื่อตกปลา
ตอนแรกผมนึกว่าเขาคงยังตกปลาไม่ได้แม้สักตัวเดียว แต่พอถามถึง เขาได้ลุกขึ้นยืนแล้วเดินไปสาวเชือกดึงตะกร้าที่ขังปลาขึ้นมาให้ดู จึงได้รู้ว่าเขาตกปลาได้แล้วกว่า 10 ตัว
เขาบอกว่า จะมาตกปลาตั้งแต่เช้ามืด ใช้เวลาตกปลาจนพอใจ แล้วก็กลับบ้าน ใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 4 ชั่วโมง ต่อวัน
คำว่าพอใจหมายถึงได้ปลาในจำนวนที่จะนำไปเป็นอาหารได้ หรือรู้สึกอยากพักผ่อน
ที่เขาทำเช่นนี้ได้ก็เพราะการตกปลาเป็นเพียงอาชีพเสริมเท่านั้น
อาชีพหลักของกมล ทำขนมปังสังขยาขายส่ง วันไหนมีคนสั่งเยอะก็จะทำขนมปังนานหน่อย
“วันไหน มีคนสั่งขนมปังน้อย ก็จะออกมาตกปลาเร็วขึ้น จะช้าหรือเร็วก็ออกมาตกปลาเกือบทุกวัน” เขาว่า
ปลาที่ตกได้แต่ละวัน ถ้าขายก็คงจะได้หลายร้อยบาท แต่ส่วนใหญ่ไม่ขายจะไว้กินเอง
ปลาที่ตกได้เกือบทั้งหมดเป็นปลานิล นอกนั้นเป็นปลาน้ำดอกไม้ และปลาสวาย
หากได้ปลาตัวโตจะใช้วิธีนึ่ง แต่ถ้าเป็นปลาตัวเล็กจะแล่เอาแต่เนื้อชุบน้ำปลาอย่างดีแล้วตากแดดทำเป็นปลาแดดเดียวเก็บไว้กินได้
ปลาที่ตกได้จากอ่างเก็บน้ำเป็นปลาที่โตโดยธรรมชาติ รสชาติจึงดี เนื้อแน่น อร่อยกว่าปลาเลี้ยงที่ซื้อตามตลาดทั่วไป แล้วยังไม่มีกลิ่นโคลนด้วย หากได้กินปลาจากธรรมชาติแล้วจะไม่อยากกินปลาที่ซื้อมาจากตลาด
นี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาอยากตกปลากินเอง
เมื่อผมถามว่าในอ่างเก็บน้ำทำไมมีแต่ปลานิล ปลาสวาย และปลาน้ำดอกไม้
เขาอธิบายว่า ที่จริงในอ่างเก็บน้ำมีปลาน้ำจืดหลายชนิดมาก จะตกได้ปลาชนิดใดขึ้นอยู่กับการใช้เหยื่อ
อย่างนักตกเบ็ดบางคนใช้เหยื่อเป็นเขียด หรือเป็นเหยื่อปลอมก็จะได้ปลาช่อน และปลากินเนื้อหลายชนิด
เท่าที่ผมเคยรู้มา อ่างเก็บน้ำทุกแห่งห้ามไม่ให้มีคนมาจับปลา เพราะแต่ละปีกรมประมงจะเอาลูกปลามาปล่อยเหมือนเป็นการอนุรักษ์ปลาน้ำจืดไว้
สำหรับเรื่องนี้เขาอธิบายว่า
ปกติทางการจะห้าม ไม่ให้จับปลา แต่อนุญาตให้ตกปลาได้
ที่ว่านี้ หมายถึง ห้ามใช้อวน ห้ามทอดแห และห้ามใช้เครื่องมือจับปลาทุกชนิด เพราะจะทำให้ปลาขยายพันธุ์ไม่ทัน ปลาอาจหมดอ่างได้
ที่ทางการอนุญาตให้ตกปลาได้ ก็เพราะการใช้เบ็ดตกปลาได้ปลาไม่มากจนทำให้ปลาหมดไปจากอ่าง
วันที่ผมไปยืนคุยกับกมลนั้น มีเพียงเขาคนเดียวที่มาตกปลา ซึ่งเป็นเหตุบังเอิญ เพราะตามปกติ เขาบอกว่าจะมีคนมาตกปลากันมาก รวมแล้วใช้เบ็ด 100 กว่าคัน
แต่ละคนจะใช้เบ็ดคนละหลายคัน เพราะถ้าใช้เบ็ดคันเดียวจะรอนานกว่าปลาจะกินเบ็ด บางทีรอจนเบื่อ ต้องกลับบ้านมือเปล่าก็มี
ส่วนการใช้เบ็ดหลายคันมีโอกาสได้ปลาติดเบ็ดมากขึ้น จะมีปัญหาอยู่บ้างก็ตรงที่มีปลามาติดเบ็ดพร้อมๆ กันทีเดียวหลายคัน
ถ้าปลาติดเบ็ดพร้อมๆ กันหลายคันก็ต้องใช้ความชำนาญเฉพาะตัว ถึงจะสามารถนำปลาขึ้นมาได้ครบทุกตัว
ถึงอย่างไร ตอนแรกๆ กมลได้ใช้เบ็ดเพียงคันเดียว ซึ่งคนอื่นๆ ก็เป็นเช่นนี้ พอเกิดความชำนาญจึงค่อยเพิ่มจำนวนเบ็ดมากขึ้น
เบ็ดแต่ละคันซื้อมาในราคาคันละ 1,000 กว่าบาท นี่ถือเป็นราคาปกติที่พอใช้งานได้ ถ้าเบ็ดดีๆ ราคาคันละหลายพันบาท ถึงหมื่นบาทก็มี
อย่างไรก็ตาม ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมกมลมีบ้านอยู่ที่หมู่บ้านเขาเต่า ที่มีด้านหนึ่งติดกับทะเล ทำไมเขาไม่ไปตกปลาในทะเล ซึ่งน่าจะได้ปลามากกว่าและได้ราคาดีกว่าด้วย
สำหรับเรื่องนี้ เขาให้เหตุผลว่า การตกปลาในทะเลจะต้องมีเรือเองหรือเช่าเรือ ต้องลงทุนสูงและต้องใช้เวลามากด้วย ที่สำคัญ เขาสารภาพว่าเขาไม่ได้เป็นคนเขาเต่า แต่เป็นคนอุตรดิตถ์ เพิ่งมาอยู่ที่นี่เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว จึงกลัวทะเล อีกทั้งเขามีอาชีพหลักทำขนมปังขาย ขืนออกไปตกปลากลางทะเลเป็นวันๆ ก็จะไม่มีเวลาทำขนมปังขาย
สุดท้าย ผมถามกมลว่า ถ้าให้เขาเลือกอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างทำขนมปังกับตกปลา เขาจะเลือกทำอะไร
“ผมขอเลือกอาชีพตกปลาครับ ถึงแม้ได้เงินไม่มากแต่สนุก” เขาตอบอย่างไม่ต้องคิด
เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2561