“ผักสวนครัว” จากปลูกกินเอง ขยับขยาย ส่งร้านอาหาร อาชีพเล็กๆ ง่ายๆ ที่คนมองข้าม

 ผมไปเที่ยวจังหวัดลำพูนเที่ยวนี้ พรรคพวกพาไปกินอาหารกลางวันที่บ้านของ ลุงบัณฑิต บุญมาลัย

เป็นบ้านที่ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 95 หมู่ 5 ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

ที่พรรคพวกพาไปกินกลางวันที่นี่ก็เพราะ นอกจากได้กินอาหารพื้นเมืองรสชาติดีแล้ว ยังได้กินผักสดๆ ที่เพิ่งเก็บ ที่สำคัญ ปลอดสารพิษอีกต่างหาก

ร้านอาหารที่ว่านี้จะว่าเป็นร้านก็ไม่น่าจะถูกต้องนัก เพราะไม่ได้เปิดเป็นร้าน แต่ได้จัดให้ลูกค้ากินอาหารกันที่บ้าน ซึ่งเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น

มองไปโดยรอบในบริเวณบ้าน สิ่งที่ได้เห็นก็คือ พืชผักสวนครัวเต็มไปหมด

ตอนไปกิน กำลังหิวไม่ได้เดินดู แต่หลังจากกินอาหารเสร็จแล้ว เราถือโอกาสเดินดูพืชผักสวนครัวที่มีอยู่ทั่วบริเวณบ้าน

แม้ริมรั้วก็ยังมีชะอม ตำลึง และกระถิน

เป็นสวนครัวที่ลุงบัณฑิตปลูกลงกระถางบ้าง ยกร่องปลูกลงบนดินก็มีไม่น้อย

พืชผักสวนครัวที่มองเห็นแล้วรู้จักชื่อทันทีโดยไม่ต้องให้เจ้าของบ้านบอกก็มี พริก ทั้งเม็ดเล็กเม็ดใหญ่ มะเขือ ทั้งเป็นพวงและมะเขือเปราะ

มะเขือเทศก็มีหลายสิบต้น เป็นทั้งมะเขือเทศลูกเล็กๆ สีแดงจัดและลูกโต

ตะไคร้ก็มีหลายกอ สะระแหน่ปลูกใส่โฟมหลายลัง

ผักโขม ผักคะน้า กะหล่ำปลี ลุงก็ปลูกไว้ ดูเหมือนจะมีผักบุ้งด้วย

ริมรั้วด้านหลังถัดไปมีมะละกอหลายต้น กล้วยหลายกอ

นอกนั้นเป็นผักเป็นพืชหลายชนิดที่ผมไม่รู้จักชื่อ ลุงบัณฑิตพยายามบอกชื่อ แต่ผมไม่ได้จดไว้ จึงลืม เมื่อลืมก็ไม่ควรเอามาเขียน

อ้อ! ยังมีอีกชนิดที่เห็นปั๊บก็รู้จัก ต้นที่ว่าก็คือต้นมะกรูดและผักหวานบ้าน ปลูกไว้เป็นแถวยาว

เห็นแล้ว น่ากินไปแทบทุกอย่าง เพราะทุกต้นงาม ใบสวย ไม้ชนิดที่เป็นดอกก็ดอกใหญ่

ลุงบัณฑิต บอกว่า เหตุที่ต้นไม้ทุกต้นงดงามก็เพราะได้ดูแลเป็นอย่างดี

เริ่มจากหาพันธุ์พืชผักที่ดีมาปลูก สิ่งสำคัญที่ทำให้ต้นไม้เจริญงอกงามได้ก็คือดิน

จะต้องเป็นดินดีและมีปุ๋ยผสมอยู่

ลุงบัณฑิตใช้วิธีทำปุ๋ยเอง โดยเอาเศษพืชทุกชนิดมาทำให้เน่า ที่เรียกว่าปุ๋ยคอกนั่นแหละ

เท่านี้ยังไม่พอ ยังตระเวนหาขี้วัวขี้ควายมาผสมด้วย

เมื่อปลูกพืชชนิดใดลงแล้วจะต้องดูแลอย่างดีด้วยการรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ และต้องรู้ด้วยว่าพืชชนิดใดชอบน้ำมากน้ำน้อย

พืชบางชนิดไม่ชอบน้ำมาก ถ้ารดน้ำบ่อยรากก็จะเน่า

ต้นไม้ที่ปลูกอยู่ในกระถางนานๆ จนดินแข็ง ลุงบัณฑิตจะเทดินออกมาผสมปุ๋ยปรับปรุงดิน แล้วปลูกต้นใหม่ลงไป 

ลุงบัณฑิต ยืนยันว่า นอกจากไม่ใช้ยาฆ่าแมลงแล้วยังไม่ใช้ปุ๋ยเคมีด้วย จึงรับรองว่ากินอาหารที่นี่ปลอดภัย หรือซื้อพืชผักสวนครัวจากที่นี่ไปกินก็จะปลอดภัยเช่นเดียวกัน

ถึงวันนี้ ลุงบัณฑิตสามารถขายพืชผักสวนครัวบนที่ดินประมาณ 300 ตารางวา มีรายได้สามารถนำมาใช้จ่ายส่วนตัวได้ไม่เดือดร้อน ส่วนลูกๆ ได้ออกจากบ้านไปทำงานที่อื่นกันหมดแล้ว เหลือเฝ้าบ้าน 2 คนตายาย

ลุงบัณฑิต เล่าความเป็นมาให้เราฟังว่า

เดิมทีมีอาชีพทำนาเหมือนกับคนอื่นในหมู่บ้านนี้

อาชีพทำนามีเวลาว่างหลายเดือนต่อปี ลุงจึงใช้เวลาว่างปลูกพืชผักสวนครัวที่บ้าน โดยตั้งความหวังครั้งแรกว่า ปลูกไว้กิน เพื่อจะได้ไม่ต้องไปซื้อให้เสียเงิน แล้วยังจะได้ของดีของสดที่เด็ดมากินกับมือด้วยความสบายใจเพราะรู้ว่าปลอดภัยแน่ๆ

จะปลูกพืชผักชนิดใดก็ศึกษาเรียนรู้จากคนอื่นๆ ที่ปลูกได้ผล

ปลูกไปปลูกมา พืชผักสวนครัวที่ปลูกมีมากเกินไป จึงนำไปขายที่ร้านอาหาร

ร้านอาหารเห็นว่าเป็นผักสดจึงได้สั่งซื้อเป็นประจำ ทำให้ขายได้ทุกวัน

ระยะหลังๆ มานี้นอกจากลุงบัณฑิตส่งพืชผักสวนครัวให้ร้านอาหารแล้ว ยังมีคนมาซื้อถึงบ้านด้วย

พืชผักสวนครัวขายดีเพราะเป็นของสด ราคาก็ไม่แพงกว่าซื้อที่ตลาดสด

ก็เท่ากับ จากที่ลุงบัณฑิตตั้งใจทีแรกว่า ปลูกไว้กิน ผลที่สุดได้มากกว่ากินคือได้ขายจนกลายเป็นอาชีพเล็กๆ ประจำตัว เวลาเดินไปไหน มักจะถูกชาวบ้านร้องถามว่า วันนี้มีพริกไหม มีโหระพาไหม พอบอกว่ามี เขาก็จะมาขอซื้อถึงบ้าน

ส่วนแม่ค้าขายส้มตำจะถามถึงมะเขือเทศ โดยบอกว่ามะเขือเทศของลุงบัณฑิตตำส้มตำได้อร่อย

นับเป็นเรื่องแปลกอยู่อย่างหนึ่งคือ ละแวกนั้นหรือทั้งชุมชน แทบไม่มีผู้ใดปลูกพืชผักสวนครัวเลย

กรณีนี้ ลุงบัณฑิต บอกว่า ก็ดีเหมือนกัน เพราะเมื่อไม่มีชาวบ้านคนอื่นปลูกพืชผักสวนครัว เวลาจะกินก็จะได้มาซื้อของลุง ทำให้ลุงมีรายได้