ลาออกจากงานอาจารย์ มาทำอาชีพ “จัดแสดง แสง สี เสียง” มีงานทำทุกเดือน

ผมไปเที่ยวที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขณะที่ทางจังหวัดกำลังจัดให้มีการแสดง แสง สี เสียง เล่าขานตำนานเมืองไชยาสู่อารยธรรม ที่วัดพระบรมธาตุไชยา มีกำหนด 3 วัน

ที่จังหวัดจัดงานก็ด้วยจุดประสงค์นอกจากให้ผู้ชมได้ตื่นตาตื่นใจกับแสง สี เสียง ที่จัดทำอย่างสวยงามตระการตาแล้ว ยังต้องการให้ผู้ชมได้รู้ความเป็นมาของไชยาในอดีตว่าเป็นมาอย่างไร และมีคุณค่ามากแค่ไหน

การจัดงานใหญ่อย่างนี้ จังหวัดไม่สามารถทำเองได้ หรือทำได้ก็คงต้องใช้เวลาและมีค่าใช้จ่ายสูง เพราะอุปกรณ์ทุกอย่างต้องซื้อใหม่หมด แล้วจะต้องระดมคนมาฝึกการแสดงอีก ที่สำคัญ ขาดความรู้และความชำนาญด้วย

เจ้าของงานจึงต้องว่าจ้างมืออาชีพให้มาจัดการแสดง แสง สี เสียง ดังกล่าว

ผมมารู้ตอนหลังว่าผู้ที่มารับงานครั้งนี้คือ บริษัท ไดมอนด์ อิมเมจิน โดยมี อาจารย์พรชัย ประมวลสุข เป็นเจ้าของและผู้จัดการ

เนื่องจากผมพักอยู่ที่รีสอร์ตเพื่อนเดินทาง ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับสวนโมกข์ของท่านพุทธทาส พอตกกลางคืนผมจึงได้ไปชมการแสดง แสง สี เสียง เพราะอยู่ห่างกับวัดพระบรมธาตุไชยาประมาณ 5 กิโลเมตรเท่านั้น

มีการแสดง แสง สี เสียง 3 คืน หรือ 3 รอบ นั้นแหละ

คืนที่ผมไปชมมีคนมากันเยอะมาก บริเวณวัดไม่พอให้จอดรถ ต้องไปจอดตามถนนใหญ่ยาวเหยียด

ทราบมาว่า คนที่มาชมนั้น มาจากตัวจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดใกล้เคียงด้วย

แสดงให้เห็นว่า การแสดง แสง สี เสียง กำลังเป็นที่นิยมของคนทั่วไป

มีนักแสดงหลายร้อยชีวิตออกมาเแสดงโดยมีเสียงบรรยายเพื่อให้ผู้ชมรู้อดีตของเมืองไชยาว่าเป็นเมืองที่มีความรุ่งเรืองมาแต่โบราณ

เมืองไชยาเป็นเมืองแห่งอารยธรรมศรีวิชัยที่ถูกสืบทอดกันมายาวนาน ทั้งศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และความเชื่อทางศาสนา คนรุ่นหลังโดยเฉพาะคนไชยาจะภูมิใจในอดีตของตัวเอง

การแสดงแต่ละฉากน่าดูและสวยงามมากเพราะมีแสง สี เสียง ประกอบ อีกทั้งยังให้ผู้แสดงแต่งกายเข้ากับสมัยโบราณ ดูแล้วทำให้มีอารมณ์ร่วม นึกถึงไชยาในอดีตขึ้นมาโดยพลัน

ผมจึงอดที่จะชื่นชมผู้ที่จัดให้มีการแสดง แสง สี เสียง ครั้งนี้ไม่ได้ และคนที่น่ายกย่องในความสามารถก็คือ อาจารย์พรชัย ผู้กำกับการแสดง เพราะไม่ง่ายเลยที่ทำให้การแสดงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สวยงาม และดูแล้วรู้เรื่อง คงจะเป็นที่พอใจทั้งผู้ว่าจ้างและผู้ชม

อาชีพการรับจัดแสดง แสง สี เสียง คงไม่มีโรงเรียนสอน แต่ผู้ใดที่มายึดเป็นอาชีพนี้ได้จะต้องมีความสามารถพิเศษ หรือไม่ก็ต้องมีความชอบเป็นทุนเดิม

บังเอิญว่า อาจารย์พรชัยกับผมพักอยู่ที่รีสอร์ตเดียวกัน ผมจึงมีโอกาสสัมภาษณ์พูดคุยกับท่านในวันรุ่งขึ้นขณะนั่งกินอาหารเช้าที่รีสอร์ตเพื่อนเดินทาง

เมื่อผมอยากรู้ถึงรายละเอียดของคนที่ทำอาชีพ แสง สี เสียง

อาจารย์พรชัยจึงกรุณาเล่าความเป็นมาให้ฟังคร่าวๆ ว่า

หลังจากจัดแสดงที่ไชยาเสร็จ เดือนหน้าก็จะไปจัดแสดงที่ชุมพรต่อ

เท่าที่ผ่านมามีงานให้ทำเกือบทุกเดือน

เมื่อต้นปีมีงานใหญ่คือ จัดพิธีเปิดและปิดกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ชุมพร-ระนอง เกมส์

ผลงานที่ผ่านมามีหลายสิบแห่ง ที่ทำให้มีชื่อเสียงก็มีการแสดงพระยาจักรี จังหวัดอุทัยธานี งานสะพานข้ามแม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี งานยุทธหัตถีดอนเจดีย์ เขื่อนกระเสียว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น

งานแสดงทุกแห่ง อาจารย์พรชัยใช้วิธีทำโครงการโดยละเอียดเสนอไปทางเจ้าของงาน เช่น ให้มีฉากอะไรบ้าง มีผู้แสดงกี่คน มีการเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เรื่องใดบ้าง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นประวัติศาสตร์ความเป็นมาของแห่งนั้นๆ และจะทำแสง สี เสียง ประกอบการแสดงอย่างไรบ้าง รวมทั้งเพลงประกอบด้วย

เมื่อเจ้าของงานพิจารณาเสร็จอาจจะให้แก้ไขหรือปรับปรุงบ้างก็ได้ แต่ส่วนใหญ่ผู้ว่าจ้างจะพอใจ เพราะอาจารย์พรชัยก่อนเขียนแผนงานและบทการแสดงแต่ละฉาก ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างละเอียด โดยหาข้อมูลทั้งในหนังสือและคนเก่าคนแก่ของเมืองนั้นๆ จากนั้นจะเพิ่มเติมบางอย่างเท่าที่จำเป็น

ถ้าต้องใช้ผู้แสดงมากๆ ก็จำเป็นต้องใช้คนในท้องที่ อาจจะเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือทหาร ถ้าเป็นฉากที่ต้องมีช้าง ก็ต้องจ้างควาญช้างร่วมแสดงด้วย เช่น การแสดงยุทธหัตถีดอนเจดีย์ เพราะจะต้องทำให้ช้างชนช้างเหมือนของจริง

อาจารย์พรชัยแบ่งความรับผิดชอบให้แต่ละคน เช่น การจัดฉาก การแสดง การจัดหาเครื่องแต่งตัว และดูแลทั่วไปในเรื่อง ค่าใช้จ่าย ค่าที่พัก ค่ายานพาหนะ เพราะรับแสดง แสง สี เสียง ไปทั่วประเทศ

ที่จำเป็นก็คือต้องมีนักแสดงตัวหลักที่ทำงานประจำอยู่กับบริษัทอีกหลายสิบคน

เดิมทีการให้แสง สี เสียง เพื่อประกอบการแสดงจะต้องจ้างให้อีกบริษัทมาช่วยทำ

ทว่า ปัจจุบัน ทำเองทั้งหมด ทำให้สะดวก ประหยัด และได้ตามที่เราต้องการ มีปัญหาบ้างเกี่ยวกับการขนย้ายอุปกรณ์เครื่องไฟฟ้า แต่แก้ได้ด้วยการมีรถบรรทุกไว้ใช้

การมีอาชีพจัดแสดง แสง สี เสียง ยอมรับว่าเหนื่อยมากแต่ก็สนุก เพราะประวัติความเป็นมาแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน ทำให้ได้ศึกษาค้นคว้า

ถูกแล้ว การประกอบอาชีพอย่างนี้ถ้าไม่สนุกกับงานจะก้าวหน้าไม่ได้เลยเพราะมีปัญหาหยุมหยิมให้ต้องแก้ทุกวันและทุกงาน ถ้าท้อหรือถอยก็จะจบ โอกาสที่จะกลับมารับงานอีกยากมาก

ที่คุณพรชัยมีคำว่าอาจารย์นำหน้าชื่อ ก็เพราะอดีตเคยเป็นอาจารย์มาก่อนนั่นเอง

อาจารย์พรชัยเรียนสำเร็จจากโรงเรียน วิทยาลัยพละอ่างทอง ก่อนลาออกมาประกอบอาชีพนี้ ท่านเป็นผู้อำนวยการ ศูนย์พัฒนากีฬาสู่ความเป็นเลิศ จังหวัดสุพรรณบุรี

ลาออกจากการเป็นอาจารย์เมื่ออายุ 55 ปี ปัจจุบัน 63 ปี

อาจารย์พรชัยเคยเป็นครูสอนฟันดาบ และช่วยงานสร้างภาพยนตร์กับ ส.อาสนจินดา มาก่อน

รับงานครั้งแรกเป็นการแสดง แสง สี เสียง เกี่ยวกับมรดกโลกที่อยุธยา ส่วนรับงานครั้งสุดท้ายจะเป็นที่ไหนไม่รู้ รู้แต่เพียงว่าเป็นอาชีพที่ตัวเองชอบ จึงทำให้มีความสุขกับการทำงาน