ผู้เขียน | ไมตรี ลิมปิชาติ |
---|---|
เผยแพร่ |
ปกติเวลาผมไปเที่ยวที่ต่างจังหวัด จะไปพักที่ไหนก็ตาม ไม่มีความคิดว่าจะนำมาเขียน
ทว่า พอได้ไปพักที่ เฮือนสวนดอนธรรม ซึ่งเป็นรีสอร์ตน่าไปพัก ตั้งอยู่ที่บ้านสะอาดใต้ ตำบลเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ เพียงได้เห็นที่พักและได้รู้เรื่องราวของผู้เป็นเจ้าของ ทำให้ผมเกิดความสนใจขึ้นมาทันที
จะไม่สนใจได้อย่างไรในเมื่อคนที่พาผมไปพักที่นี่ เล่าให้ฟังคร่าวๆ ว่า เจ้าของชื่อ โชฎึก (อ่านว่า โชดึก) คงสมของ แค่ชื่อก็น่าสนใจแล้ว
ก่อนที่คุณโชฎึกจะมาเป็นเจ้าของรีสอร์ตกว่า 20 หลัง อาคารสัมมนา และร้านอาหารอยู่บนเนื้อที่ 50 ไร่ นั้น
เขามาจากพ่อค้ารถเข็นขายส้มตำ
ที่ใช้รถเข็นขายส้มตำก็เพราะไม่มีทุนที่จะไปเช่าบ้าน หรือเซ้งตึกแถวขาย ปกติอีกนั่นแหละ คนที่เข็นส้มตำขายก็จะเข็นส้มตำขายอย่างเดียว แต่สำหรับเขานั้น
มีอาชีพหลักอยู่ที่การบินไทย ในตำแหน่งไม่ใหญ่โตอะไรมากนัก ได้เงินเดือนไม่มาก
เขาจึงใช้วิธีหารายได้เสริมด้วยการเข็นรถขายส้มตำดังกล่าว
เนื่องจากเขาเป็นคนจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นภาคอีสานของไทย จึงสามารถทำส้มตำได้อร่อยถูกคอคนกิน ส้มตำของเขาจึงขายดีมีรายได้โดยรวมมากกว่าการทำงานประจำที่การบินไทย ทั้งๆ ที่ขายส้มตำเฉพาะเวลาเลิกงานและวันหยุดงานเท่านั้น
ถึงตรงนี้ ทำให้เขามีเงินเหลือที่จะมาเริ่มต้นซื้อที่ดินเพื่อทำรีสอร์ตได้ คนที่พาผมไปพักได้ทิ้งเรื่องราวของเจ้าของรีสอร์ตไว้เพียงแค่นี้ โดยบอกกับผมว่า
“ถ้าอยากรู้เรื่องของเขาต่อก็ให้ไปถาม และสัมภาษณ์เขาโดยตรงได้”
เย็นนั้น ผมและผู้ร่วมเดินทางได้ไปกินอาหารที่ร้านคาวบอยลาว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรีสอร์ตเฮือนสวนดอนธรรม โชคดีได้พบกับเจ้าของคือ คุณโชฎึก ผมจึงได้รู้ประวัติของเขาเพิ่มเติมว่า
ชั้นประถมเขาเรียนหนังสือปกติ และตั้งแต่ มศ.3 ไปจนจบ มศ.5 เรียนศึกษาผู้ใหญ่ จากหนุ่มบ้านนอกเมืองกาฬสินธุ์ ได้ตรงเข้ากรุงเทพฯ โดยอาศัยอยู่วัด
สมัครเข้าทำงานที่การบินไทย ไม่ได้เป็นสจ๊วต หรือหน้าที่ดีๆ แต่อยู่แผนกขนถ่ายสินค้า ต้องออกแรงมากกว่าใช้สมอง เขาอยู่ที่การบินไทยถึง 25 ปี มีตำแหน่งก้าวหน้าพอสมควรแต่มีเงินเดือนเพียงแค่อยู่ได้เท่านั้น
จึงหารายได้พิเศษด้วยการเข็นรถขายส้มตำดังกล่าวข้างต้น
ต่อมาจากใช้รถเข็นขายส้มตำ เปลี่ยนเป็นเปิดร้านขายส้มตำ เห็นว่าพอไปได้จึงได้ลาออกจากการบินไทย
ถึงตรงนี้เขาสามารถมีร้านขายส้มตำถึง 2 ร้าน ตอนที่เขาอายุ 55 ปี เกิดมีความคิดขึ้นมาว่า ไม่อยากปล่อยชีวิตอยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งคงไม่มีอะไรดีไปกว่านี้แล้ว พร้อมอดคิดถึงอนาคตไม่ได้ว่า
ถ้าตายที่กรุงเทพฯ คงมีคนมางานศพไม่กี่คน สู้ไปตายที่บ้านเกิดไม่ได้ เพราะมีญาติพี่น้องเยอะ จะต้องมีคนไปงานศพเป็นร้อยๆ คนแน่
แต่เรื่องนี้ไม่สำคัญ สิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนให้เขาตัดสินใจว่าควรพาตัวเองไปอยู่ต่างจังหวัด เกิดจากกระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับการทำเกษตรแบบพอเพียงของในหลวง
เขาตัดสินใจอยู่ไม่นานก็เดินทางกลับบ้านที่กาฬสินธุ์ ใช้เงินสะสมจากการขายส้มตำ หาซื้อที่ดินเพื่อดำเนินชีวิตตามกระแสพระราชดำรัส เนื่องจากที่ดินเดิมเป็นทุ่งนาราคาจึงถูกมาก สามารถซื้อที่ดินด้วยเงินสดได้เลย
จากนั้นได้พัฒนาที่ดินโดยขุดสระ เอาดินจากการขุดมาถมที่นาให้สูงขึ้น ส่วนที่เป็นสระได้เลี้ยงปลา ที่ดินที่ถมแล้วได้ปลูกต้นไม้ยืนต้น และปลูกผัก ทั้งผักทั่วไปและผักสวนครัว
โดยได้แบ่งที่ส่วนหนึ่งไว้ทำนาและปลูกบ้านพัก
เขาปลูกต้นไม้ยืนต้นเกือบทุกชนิดที่งอกงามได้ในภาคอีสาน รวมทั้งปลูกไผ่ด้วย เพียงไม่กี่ปี เฉพาะต้นไม้ยืนต้น เขาสามารถปลูกได้เป็นหมื่นต้น โดยคาดว่าต้นไม้ยืนต้นเหล่านี้พออีก 20-30 ปีข้างหน้า แค่ตัดขายก็จะได้เงินหลายล้านบาท
แทบทุกอย่างที่เขาปลูกเขาเลี้ยงนำมากินมาใช้เหลือก็ขาย โดยยึดหลักปลูกทุกอย่างที่กินได้ กินทุกอย่างที่ได้ปลูก
ระยะที่กำลังรอให้ต้นไม้เติบโต เขาได้ความคิดว่า ควรทำบ้านพัก หรือรีสอร์ต เพื่อรับนักท่องเที่ยว จากนั้นจึงได้เริ่มก่อสร้างบ้านพักไปปีละหลังสองหลัง พร้อมกับเปิดร้านอาหารด้วย
เป้าหมายของการเปิดร้านขายอาหารก็เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวที่มาพัก ทว่าพอทำร้านอาหารขึ้นมาจริงๆ มีคนภายนอกเข้ามากินอาหารวันละไม่น้อย เขาไม่ได้แค่ตั้งชื่อร้านว่าคาวบอยลาวเท่านั้น ตัวเขาเองยังแต่งกายเป็นคาวบอยด้วย โดยมีม้าล่ามอยู่กับเสาหน้าร้านเพื่อเป็นสัญลักษณ์
ขณะที่เขากำลังทำทุกอย่างบนที่ดินผืนนี้ เขาก็ไม่ได้ทิ้งร้านส้มตำที่กรุงเทพฯ เพียงแต่ได้มอบหมายให้ญาติคอยดูแล จึงเป็นรายได้ประจำอีกทางหนึ่ง
คุณโชฎึกใช้เวลาทำงานตามความฝัน ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากในหลวง เพียง 10 กว่าปีสามารถมีบ้านพักเป็นหลังๆ 20 กว่าหลัง ที่พักรวมอีก 2 หลัง จุคนได้เป็นร้อย
ปัจจุบันมีผู้คนได้มาขอเรียนรู้เป็นจำนวนมากเกี่ยวกับการทำนา ปลูกต้นไม้ เลี้ยงปลา ทำปุ๋ย และอื่นๆ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
ฉะนั้น ผู้อ่าน และไม่ได้อ่านท่านใดอยากไปพัก หรือไปเรียนรู้ ติดต่อจองที่พักได้ที่ โทร.(082) 801-8885, (089) 896-2495
จากวันนั้นถึงวันนี้ คุณโชฎึกใช้เวลาเพียง 10 กว่าปี ถือว่าพบกับความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ เขายอมรับว่าที่สามารถมามีวันนี้ได้ เกิดจากการมีอาชีพขายส้มตำนั่นเอง
เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ : 22 ต.ค. 2017