ศิลปินแห่งชาติ “เดชา วราชุน” ผู้มีอาชีพรอง เหนือ อาชีพหลัก

ศิลปินแห่งชาติ “เดชา วราชุน” ผู้มีอาชีพรอง เหนือ อาชีพหลัก

ผมได้พบกับอาจารย์เดชา วราชุน ที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อไม่นานมานี้

อาจารย์เดชาไปพบหมอตามปกติ ผมก็ไปพบหมอตามนัดเช่นกัน

บังเอิญเป็นหมอคนเดียวกัน ผมจึงได้รู้ว่าอาจารย์เดชาป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะเหมือนผม

ผมโชคดีที่เบิกค่ารักษาพยาบาลได้เพราะภรรยาผมเป็นอาจารย์เช่นเดียวกับอาจารย์เดชาก็เบิกได้เช่นกัน

สำหรับอาจารย์เดชาดีกว่าผมตรงที่เบิกได้สองทาง ทางหนึ่งเบิกในฐานะเคยรับราชการเป็นอาจารย์มาก่อน และอีกทางหนึ่งท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ซึ่งมีสิทธิเบิกได้เช่นกัน

เมื่อเอ่ยถึงศิลปินแห่งชาติ ต้องยอมรับว่า อาจารย์เดชาพบกับความสำเร็จในชีวิตถึงสามอย่าง

อย่างแรก อาจารย์มีฝีมือในการทำงานศิลปะที่เป็นแนวทางของตัวเองอย่างชัดเจน

อย่างที่สอง อาจารย์เดชาเป็นอาจารย์สอนหนังสือจนได้เป็นศาสตราจารย์

อย่างสุดท้าย อาจารย์เดชาได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์

ท่านจึงมีสามอย่างอยู่ในตัวซึ่งปัจจุบันท่านได้เกษียณอายุแล้วแต่ก็มีเงินใช้อย่างสบายเพราะมีทั้งเงินบำนาญและเงินเดือนที่ได้รับในฐานะศิลปินแห่งชาติ

อาจารย์เดชา วราชุน ปัจจุบันอายุ 77 ปี

เกิดวันที่ 6 พฤศจิกายน 2488 ที่กรุงเทพมหานคร สำเร็จการศึกษาด้านศิลปะครั้งแรกโดยได้รับประกาศนียบัตรฝึกหัดครูประถมการช่าง จากโรงเรียนเพาะช่าง เมื่อ พ.. 2507 แล้วเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยศิลปากร รับปริญญาศิลปบัณฑิต ภาพพิมพ์ (เกียรตินิยมอันดับ 2) จากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ เมื่อปี 2512 และ ปริญญาโทมหาบัณฑิต สาขาภาพพิมพ์ ในปี 2522 ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ เมื่อปี 2550

โดยส่วนตัว ผมรู้จักกับอาจารย์เดชามานานมาก ที่รู้จักก็เพราะคุณสุเทพ สังข์เพ็ชร ศิลปินวาดรูปผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งของไทย และเป็นเพื่อนรักของผมได้พาผมไปพักที่บ้านของคุณกมล ทัศนาญชลี ที่สหรัฐอเมริกา

ผมจึงได้รู้จักกับคุณกมลเป็นอย่างดี และบังเอิญว่าคุณกมลเป็นเพื่อนสนิทกับอาจารย์เดชา

ทุกครั้งที่คุณกมลมาเมืองไทยก็จะไปพักที่บ้านอาจารย์เดชา จึงเป็นสะพานทำให้เราได้คุ้นเคยกัน

ผมเคยไปที่บ้านอาจารย์เดชาที่ถนนรัชดาภิเษกหลายครั้ง แต่ส่วนใหญ่จะไปกินอาหารด้วยกัน

เมืองไทยมีการจัดงานที่เรียกว่าเวิร์กช็อปเกี่ยวกับศิลปะเกือบทุกปี จัดที่โรงเรียนเพาะช่างบ้าง ที่มหาวิทยาลัยบูรพา บางแสนบ้าง ที่เชียงรายบ้าง ผมจะตามไปดูศิลปินที่ได้รับเชิญมาทำเวิร์กช็อปเกือบทุกครั้ง

ผมจึงมีโอกาสได้ชมการทำงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับศิลปินแห่งชาติหลายคน นอกจากอาจารย์เดชาแล้ว ก็มี ถวัลย์ ดัชนี ประหยัด พงษ์ดำ และ กมล ทัศนาญชลี

 คำประกาศเกียรติคุณในวาระที่ได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี 2550 ได้พูดถึง การสร้างสรรค์ผลงานของอาจารย์เดชาไว้ว่า

_______________________________________________________________________

ในระยะแรกเป็นการใช้รูปทรงที่เรียบง่ายน้อยชิ้น รูปทรงเรขาคณิตแสดงถึงความนิ่งสงบเป็นสิ่งแทนของวัตถุ และรูปทรงอินทรีย์แสดงความเคลื่อนไหวของชีวิต โดยการใช้เทคนิคภาพพิมพ์ซิลค์สกรีน ผลงานได้รับรางวัลจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติหลายครั้งจนได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม สาขาภาพพิมพ์ พุทธศักราช ๒๕๒๕ ต่อมาได้เปลี่ยนแนวคิดจากงานภาพพิมพ์มาเป็นงานสื่อผสมเพื่อต้องการแสดงออกทางความคิดและความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงก้าวหน้าขึ้น ผลงานสื่อผสมดังกล่าว เป็นผลงานที่โดดเด่นเป็นตัวของตัวเอง โดยการค้นพบเทคนิคการสร้างพื้นผิวบนทองแดง ที่ไม่เคยมีศิลปินคนใดทำมาก่อน ทำให้ได้รับรางวัลดีเด่นจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยลาสเวกัส ประเทศสหรัฐอเมริกา พุทธศักราช ๒๕๔๗ นอกจากนั้นยังเป็นผู้เผยแพร่ความรู้ โดยสร้างสถานที่ทำงานให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางศิลปะแก่นักศึกษาได้เข้ามาศึกษาหาความรู้จนได้รับคัดเลือกให้เป็นอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ของประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย สาขามนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ พุทธศักราช ๒๕๔๗ นับได้ว่า เป็นศิลปินและอาจารย์สอนศิลปะที่มีความมุ่งมั่นต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะ และมีคุณูปการต่อวงการศิลปะอย่างยิ่ง

_______________________________________________________________________

ปัจจุบัน อาจารย์เดชาใช้เวลาเกือบทั้งหมดช่วยงานเกี่ยวกับศิลปะวาดภาพ ทั้งนำผลงานไปแสดงและเป็นอาจารย์สอน แนะนำผู้ที่สนใจงานศิลปะไปทั่วประเทศ ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ และได้รับเชิญไปแสดงผลงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา หลายครั้ง โดยร่วมกับศิลปินคนอื่น

ผลงานของอาจารย์เดชาเป็นแบบที่มีชื่อว่า สื่อผสม โดยเอาโน่นเอานี่สิ่งละอันพันละน้อยมาประกอบเป็นงานศิลปะที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร เป็นแบบของอาจารย์เดชาแต่เพียงผู้เดียวในโลก

ส่วนงานแต่ละชิ้นจะเป็นอย่างไร ผมวิจารณ์ไม่ถูก เพราะเป็นงานที่เรียกว่า นามธรรม ที่ผู้สร้างงานต้องการให้คนจินตนาการเอาเอง

พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องการให้คนดูรู้สึกมากกว่ารู้เรื่อง

ถ้างานชิ้นใด คนดูแล้วรู้สึกมีอารมณ์ร่วมก็ถือว่างานชิ้นนั้นเป็นงานที่ดี เพียงแต่ดีของคนนี้อาจไม่ดีของอีกคน ก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะทุกคนจะชอบไม่เหมือนกัน

เหมือนคนชอบดอกไม้ บางคนก็ชอบดอกกุหลาบ บางคนก็ชอบดอกบัว บางคนก็ชอบดอกหน้าวัว

ผลงานที่อาจารย์เดชาภูมิใจที่สุด เป็นผลงานที่ท่านเขียนครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตใหม่ๆ

เป็นภาพขนาดใหญ่ กว้างยาวหลายเมตร มีการเขียนลายเส้นถึงโครงการตามพระราชดำริและที่พระองค์ทรงงาน ณ สถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ส่วนภาพนอกเหนือจากนี้ก็เป็นแนวสื่อผสมตามที่ท่านถนัด

ผลงานของท่านมีผู้สนใจมาขอซื้อไปประดับสถานที่ทำการ และบางคนเช่น คุณบุญชัย เบญจรงคกุล ได้ซื้องานของอาจารย์เดชาไปไว้ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะส่วนตัวหลายชิ้น

ผมก็ไม่ทราบว่างานแต่ละชิ้นมีราคาเท่าไร แต่เชื่อว่าชิ้นละหลายแสนบาทแน่ๆ

ครั้งที่ผมเป็นนายกสมาคมนักเขียน ผมได้นำผลงานศิลปะเปิดประมูลเพื่อหาเงินสร้างบ้านนักเขียน ผมได้รับความกรุณาจากอาจารย์เดชามอบงานให้ประมูลด้วย เพียงรูปเดียวก็ได้เงินเป็นแสน

ที่ผมเอาตัวเลขราคามาพูดก็เพื่อจะวกเข้าเรื่องว่า คนที่มีอาชีพในการทำงานศิลปะสมัยนี้ สามารถมีชีวิตอยู่ได้สบาย บางคนก็ร่ำรวยเป็นเศรษฐีไปเลย เช่น เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ หรือ ถวัลย์ ดัชนี เป็นต้น

แต่สำหรับอาจารย์เดชานั้น ไม่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติเท่านั้น ยังเป็นศิลปินพิเศษในแง่ที่มีงานหลักเป็นอาจารย์สอนศิลปะระดับมหาวิทยาลัย ส่วนงานศิลปะเป็นเหมือนงานอดิเรกเท่านั้น ทว่าทำให้ท่านมีชื่อเสียงและได้รับการยกย่องมากกว่าอาชีพหลักหลายเท่า