พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ “บางกอกแอร์เวย์ส” เปลี่ยนเกมธุรกิจ บุก Non-Aero ดึงคู่แข่งเป็น “ลูกค้า”

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ “บางกอกแอร์เวย์ส” เปลี่ยนเกมธุรกิจ บุก Non-Aero ดึงคู่แข่งเป็น “ลูกค้า”

จากการขยายตัวของกลุ่มธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ หรือโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ธุรกิจสายการบินต้องเพิ่มศักยภาพการแข่งขันเป็นอย่างมาก เพราะกลุ่มโลว์คอสต์แอร์ไลน์ต่างทุ่มทำการตลาดชิงส่วนแบ่งการตลาดจากสายการบินประเภท full service โดยเฉพาะตลาดเส้นทางบินภายในประเทศ

เห็นได้ชัดจากที่ทุกสายการบินต่างหันมาทำการตลาดและสร้างมาร์เก็ตแชร์ด้วยการหั่นราคาตั๋ว สู้กันที่ “ราคา” บวกกับความผันผวนของราคาน้ำมันโลก ส่งผลให้ผู้ให้บริการสายการบินทุกรายต่างประสบปัญหาด้านอัตราผลตอบแทนหรือกำไรต่อที่นั่งที่ลดลง

และลดลงมากกระทั่งปัจจุบันสายการบินตกอยู่ในภาวะ “ขาดทุน” กันเป็นจำนวนมาก รายที่ขาดทุนอยู่แล้วก็ยิ่งขาดทุนมากยิ่งขึ้น ส่วนรายที่เคยมีกำไรมหาศาล กำไรก็ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เฉพาะสายการบินในประเทศไทย แต่สายการบินต่างประเทศจำนวนมากก็ตกที่นั่งเดียวกัน

“พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ยอมรับว่า ปัจจุบันการบริหารธุรกิจสายการบินให้มีกำไรนั้นเป็นอะไรที่ค่อนข้างยากมาก

เนื่องจากการแข่งขันรุนแรงขึ้นทุกปี ขณะเดียวกันยังมีผู้ให้บริการรายใหม่ ๆ เกิดขึ้น และเป็นทางเลือกใหม่ให้ผู้บริโภคเป็นระยะ ๆ ประกอบกับปัจจัยเรื่องราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของธุรกิจสายการบิน ซึ่งผู้ประกอบการไม่สามารถควบคุมได้ ยิ่งทำให้ธุรกิจสายการบินมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น

ปี 2560 ที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวม 28,493.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.5% แต่กำไรสุทธิเหลือแค่ 846.4 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 53.9% สาเหตุหลักที่ทำให้กำไรลดลงค่อนข้างมากเกิดจาก 2 ส่วนหลัก คือ การแข่งขันอย่างรุนแรงในเรื่อง “ราคา” และต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มขึ้น จากที่รัฐบาลปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน

โจทย์สำคัญคือการรักษาอัตรากำไรต่อที่นั่ง

“พุฒิพงศ์” ระบุว่า ปีนี้โจทย์สำคัญของบางกอกแอร์เวย์สคือ การรักษาอัตราผลตอบแทนหรือกำไรต่อที่นั่ง ไม่ให้ลดลงไปกว่าเดิม พร้อมกับวางแผนขยายสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ นอกเหนือธุรกิจสายการบิน (non-aero) เพื่อสร้างการเติบโตของรายได้และกำไรอย่างต่อเนื่อง

เรียกได้ว่าเป็นการกระจายความเสี่ยงและสร้างพอร์ตรายได้ใหม่จากธุรกิจ non-aero ถือเป็นโมเดลธุรกิจที่เปลี่ยน “คู่แข่ง” เป็น “ลูกค้า” เพราะทิศทางของอุตสาหกรรมการบินยังคงเติบโตอย่างมาก

นอกจากพยายามขยายฐานลูกค้าจาก “ธุรกิจบริการภาคพื้น” ของบริษัท บางกอกไฟลต์ เซอร์วิสเซส จำกัด ที่ปัจจุบันมีลูกค้าใช้บริการกว่า 74 สายการบิน และ “ธุรกิจสถานีพักสินค้า” (BFS Cargo) ที่มีลูกค้าใช้บริการอยู่กว่า 67 สายการบินแล้ว

รวมถึงแผนเปิด “ครัวการบินกรุงเทพ” (Bangkok Air Catering) สาขาเชียงใหม่ เพิ่มอีก 1 แห่ง ในปี 2562 ด้วยงบลงทุนประมาณ 350 ล้านบาท เพื่อรองรับสายการบินต่าง ๆ ที่บินตรงเข้ามายังสนามบินเชียงใหม่จำนวนมาก จากที่ผ่านมาได้เปิดสาขาภูเก็ตไปแล้ว ซึ่งมีลูกค้าจาก 24 สายการบิน

ปีที่ผ่านมาบริษัทยังได้ขยายไลน์เข้าสู่ธุรกิจอาหารกึ่งสำเร็จรูป รวมถึงเบเกอรี่ ภายใต้แบรนด์ กูร์เมท์ พรีโม่ (Gourmet Primo) สำหรับเจาะลูกค้าที่ไม่ใช่สายการบิน

และอีกหนึ่งธุรกิจใหม่ที่บริษัทเตรียมลงทุนเพิ่มคือ “ศูนย์ซ่อมอากาศยาน” ที่บริเวณสนามบินจังหวัดสุโขทัย โดยจะเป็นศูนย์ซ่อมระดับ C-Check หรือการตวรจซ่อมใหญ่ประจำปีของเครื่องบิน ซึ่งสามารถรองรับเครื่องบินขนาด แอร์บัส A320 ได้พร้อมกัน 2 ลำ ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบ จัดเตรียมพื้นที่ คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ราวต้นปี 2563

นายใหญ่แห่งบริษัทการบินกรุงเทพฯ ย้ำว่า ปัจจุบันบริษัทมีรายได้จากธุรกิจสายการบินอยู่ประมาณ 71-72% แต่อัตราการเติบโตแต่ละปีไม่สูงนัก เนื่องจากการแข่งขันรุนแรง ขณะที่ธุรกิจ non-aero มีศักยภาพในการเติบโตที่สูงกว่า เชื่อว่าในระยะยาวจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ

นอกจากนี้ล่าสุดบริษัทยังได้เข้าซื้อ บริษัท มอร์แดนฟรี จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ซึ่งเปิดให้บริการอยู่ 4 แห่ง ได้แก่ สนามบินนานาชาติสมุย, สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา, สนามบินนานาชาติสุราษฎร์ธานี และสนามบินนานาชาติหลวงพระบาง (สปป.ลาว) ซึ่งที่หลวงพระบางเป็นรูปแบบร่วมทุน

ทั้งนี้การเข้าเทกโอเวอร์มอร์แดนฟรี เป็นเพียงจุดเริ่มต้น “ธุรกิจดิวตี้ฟรี” ของบางกอกแอร์เวย์ส

“พุฒิพงศ์” ย้ำว่า การทำธุรกิจดิวตี้ฟรี เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับธุรกิจสายการบิน ทั้งยังเป็นการต่อยอดลงทุนในสนามบินของตัวเอง และหากมีโอกาสบริษัทก็สนใจที่จะเข้าร่วมประมูลพื้นที่ร้านค้าดิวตี้ฟรีสนามบินภายใต้การบริหารของบริษัทท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. อีกด้วย

พร้อมทั้งเชื่อมั่นว่า ธุรกิจดิวตี้ฟรีจะเป็นอีกธุรกิจที่ช่วยเสริมให้รายได้ของบริษัทไม่พึ่งพิงเฉพาะธุรกิจสายการบินเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป ที่สำคัญน่าจะช่วยกระจายความเสี่ยงของธุรกิจ รวมทั้งยังทำให้บริษัทมีรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ และไม่ต้องรับผลกระทบจากความผันผวนของปัจจัยต่าง ๆ มากนัก

ขณะที่ปี 2561นี้ สายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส” ครบรอบ 50 ปี บริษัทจึงวางเป้าหมายผลักดันให้บางกอกแอร์เวย์สก้าวสู่ความเป็น “โกลบอลแบรนด์” เพื่อให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มนักเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลก ด้วยเส้นทางบินที่ครอบคลุมเมืองสำคัญทางธุรกิจ หรือแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในภูมิภาคเอเชีย และการจับมือกับสายการบิน พันธมิตรทำเที่ยวบินร่วม หรือโค้ดแชร์ กับอีก 30 สายการบินชั้นนำของโลก

แม้ว่ายุทธศาสตร์ใหม่ของการบินกรุงเทพจะยังเกี่ยวเนื่องและต่อยอดจากธุรกิจการบินเป็นหลัก ไม่ได้เปลี่ยนสายพันธุ์ แต่ก็เป็นการปรับตัวครั้งสำคัญในช่วงของการก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 5 ของ สายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส”