ดร.ลูกหลานเกษตรกร ไม่ลืมกำพืช วางแผนหลังเกษียณจะทำเกษตร “เลี้ยงปลา-ทำสวนผลไม้”

ดร.ลูกหลานเกษตรกร ไม่ลืมกำพืช วางแผนหลังเกษียณจะทำเกษตร “เลี้ยงปลา-ทำสวนผลไม้”

อยากให้ได้อ่านเรื่องราวชีวิตของ ดร.ปรีชา ชื่นชนกพิบูล ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา (ETV) ในสังกัด สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) กระทรวงศึกษาธิการ เกิดและเติบโตในครอบครัวเกษตรกร ซึ่งเขาวางแผนชีวิตหลังเกษียณจะทำเกษตร “เลี้ยงปลา-ทำสวนผลไม้” มั่นใจสร้างรายได้ ชีวิตมีความสุข

เชื่อว่า มีข้าราชการและพนักงานบริษัทจำนวนมากที่อายุใกล้ 60 ปี เริ่มนับวันถอยหลังที่ก้าวเข้าสู่วัยเกษียณอย่างมีความสุข แต่บางคนอาจมีความกังวลว่าเมื่อตนก้าวพ้นวัยทำงานไปแล้วจะใช้เวลาว่างที่เหลืออย่างไร จะเข้าวัดฟังธรรม อยู่บ้านเลี้ยงหลาน หรือใช้พื้นที่ว่างข้างบ้านปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ หากใครยังคิดไม่ตกว่าจะวางแผนการใช้ชีวิตอย่างไร อยากให้ลองอ่านชีวิตเกษตรก่อนเกษียณ ของ  “ ดร.ปรีชา ชื่นชนกพิบูล ” เขาวางแผนทำสวนเกษตรไว้ล่วงหน้า  จนรู้ปัญหาอุปสรรคในการทำสวนเกษตร  เมื่ออายุครบ 60 ปี เขาสามารถเก็บเกี่ยวความสุขในวิถีชีวิตเกษตรกร หลังวัยเกษียณได้อย่างเต็มที่

ดร.ปรีชา ชื่นชนกพิบูล ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา (ETV) ในสังกัด สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) กระทรวงศึกษาธิการ

ลูกหลานชาวสวนรังสิต

ดร.ปรีชา เล่าว่า ผมเกิดและเติบโตในครอบครัวเกษตรกร เดิมคุณแม่ทำนาอยู่ คลอง 14 ปลูกข้าวได้เกวียนละ 1,200 บาท เมื่อย้ายมาอยู่ที่นี่  ก็หันมาทำสวนแทน พื้นที่ทำกินแห่งนี้อยู่ใน โครงการปฏิรูปที่ดินของจังหวัดปทุมธานี เมื่อเปลี่ยนการเพาะปลูกจากทำนา มาทำสวนก็ต้องไปยื่นขออนุญาตจากหน่วยราชการ ครอบครัวผมหันมาทำสวนส้มบางมด ต้องใช้สารเคมีเยอะมาก ต้องฉีดยาทุกๆ  7 วัน ร่างกายก็ทนไม่ไหว ก็ขอร้องคุณแม่ว่า อย่าทำต่อเลย พอดี คุณแม่ป่วย ผมจึงแบ่งเวลาว่างจากงานประจำมาทำสวนเอง เริ่มจากลงทุนหลายแสนเพื่อทำสวนมะนาว ก่อนจะปรับปรุงเป็นสวนเกษตรผสมผสานเหมือนอย่างทุกวันนี้

สวนผลไม้แบบผสมผสานแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการปฏิรูปที่ดินของสำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี ที่ผู้อยู่อาศัยสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่ไม่สามารถขายที่ดินได้ ปัจจุบันครอบครัว ดร.ปรีชา ถือครองที่ดินจำนวน  7 ไร่  3 งาน 33 ตารางวา ตั้งอยู่ที่ ถนนสายรังสิต นครนายก คลอง 12 ฝั่งเหนือ เรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า ที่ปฏิรูปที่ดิน ล็อก 5 ไร่ หมู่ 4 ตำบลบึงน้ำรัก และ จัดอยู่ในเขตการปกครองของตำบลสนั่นรัก จ.ปทุมธานี

ความสุขจากการเลี้ยงปลา 

ในวันที่แดดร่มลมตก อากาศกำลังเย็นสบายๆ   ดร.ปรีชาทิ้งมาดผู้บริหารอีทีวี มานั่งให้อาหารปลาริมสระน้ำพร้อมกับเล่ากิจกรรมเกษตรก่อนเกษียณให้ฟังว่า การเลี้ยงปลาเป็นหนึ่งในพื้นที่แห่งความสุข และเป็นส่วนหนึ่งในงานด้านเกษตรกรรม สวนแห่งนี้มีเนื้อที่ทั้งสิ้น  7 ไร่ 3 งาน 33 ตารางวาถูกใช้ประโยชน์ทางการเกษตรอย่างคุ้มค่า ผืนน้ำใช้เลี้ยงปลาจำนวน 3 สายพันธุ์ ทั้งปลาสวาย , ปลายี่สก และ ปลาตะเพียน อาหารที่นำมาให้ปลา คือ ผลไม้สุกงอมจนขายไม่ได้หรือมีรอยตำหนิเช่น ขนุน, มะม่วง และ มะละกอสุก

คนงานกำลังโยนแหนเป็นอาหารปลาที่เลี้ยงในบ่อ

ตอนแรก ดร.ปรีชาซื้อปลา 157,000 ตัวมาปล่อยเลี้ยงในบ่อดิน คาดหวังว่า เลี้ยงปลาให้รอดสัก  5,000 กว่าตัว ใช้เวลาเลี้ยงสักปีเศษ ค่อยจับปลาขาย จะได้ปลาที่มีน้ำหนักอย่างต่ำตัวละ 1 กิโลกรัม แม่ค้ารับซื้อปลาในราคากิโลกรัมละ 50 บาท จะมีรายได้เข้ากระเป๋าเกือบ 5 แสนบาทเลยทีเดียว  แต่ท้ายสุดเขาก็ต้องล้มเลิกความคิด เพราะความรักความผูกพันจากการเลี้ยงปลาเป็นเพื่อน

“ ผมเลี้ยงปลาแบบชีวจิต  กินผลไม้ได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น มะม่วง มะละกอสุก ผมไม่เคยทิ้ง นำมาเลี้ยงปลาได้หมด  ตอนเย็นหลังเลิกงาน ผมก็นั่งเล่นให้อาหารปลาทุกวัน เลี้ยงพวกเขามาได้ 2 ปีจนกลายเป็นความรักความผูกพัน  ปลาในสระน้ำทั้งหมด ผมไม่เคยขายเลยสักตัว  ตอนนี้ ปลาสวายในบ่อ น้ำหนักตัวไม่ต่ำกว่า  5 กิโลกรัมแล้ว ส่วนปลาตะเพียน มีน้ำหนักเฉลี่ยต่อตัวไม่ต่ำกว่า 1 กิโลกรัม  ”

ดร.ปรีชากล่าวว่า การเลี้ยงปลาในสวนแห่งนี้ เกิดผลดีต่อระบบนิเวศน์ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำท้องร่องครั้งละประมาณ 20,000 บาท ปัจจุบันปลา 3 สายพันธุ์ที่นำมาเลี้ยงมีข้อดีแตกต่างกันเริ่มจาก “ ปลาสวาย ” จะกินผลไม้สุกที่นำมาเลี้ยง “ ปลาตะเพียน ” กินวัชพืชใต้น้ำเป็นอาหาร ส่วน “ ปลายี่สก ” จะอยู่ระหว่างกลาง กินมูลปลาตะเพียนและปลาสวาย ดังนั้น วงจรชีวิตความเป็นอยู่ของปลาทั้ง 3 สายพันธุ์จึงช่วยเหลือเกื้อหนุนกันโดยเองตามธรรมชาติ

ขณะเดียวกัน การเลี้ยงปลากินพืช ช่วยให้ร่องสวนแห่งนี้ ไม่มีปัญหาเรื่องสาหร่ายพันใบเรือเหมือนกับสวนอื่นๆ  ประหยัดเงิน ไม่ต้องเสียค่าลอกท้องร่อง ดร.ปรีชาเล่าว่า  วิธีการเลี้ยงปลาลักษณะนี้ ยึดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9

สวนผลไม้อินทรีย์

สวนไม้ผลผสมผสานของดร.ปรีชา ถูกใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าทุกตารางนิ้ว  แบ่งการใช้ประโยชน์ได้เป็น 3 โซน ส่วนแรก ทำเป็นสวนมะม่วง ปลูกมะม่วงหลายสายพันธุ์กว่า 400 ต้น ส่วนที่สอง เป็นพื้นที่ปลูกกล้วยหอมทอง ส่วนที่สาม ปลูกไม้ผลแบบผสมผสานร่วมกับสวนพืชสมุนไพรคละเคล้ากันไป เช่น ปลูกมะยงชิด 40 กว่าต้น เพื่อใช้บริโภคในครอบครัว แจกจ่ายให้ญาติสนิทมิตรสหายที่แวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมสวนแห่งนี้

เป็นที่น่าสังเกตว่า ผลไม้ในสวนของ ดร.ปรีชาล้วนให้ผลผลิตดก และมีคุณภาพดี เพราะดร.ปรีชา๋ใส่ใจบำรุงดูแลดินให้อุดมสมบูรณ์อยู่เสมอ มีคนงานช่วยโกยเลนขี้เลนจากท้องร่องขึ้นมาใส่ร่องสวน เท่ากับเติมปุ๋ยมูลปลามาช่วยบำรุงต้นไม้ไปด้วยในตัว ทำให้ต้นมะม่วงที่ผ่านการตัดแต่งกิ่ง หรือ ผ่านการทำสาวมะม่วง (Repair) ได้รับธาตุอาหารที่ดี ลำต้นสมบูรณ์ เกิดการแตกหน่อ สวนกล้วยหอมทอง ก็มีผลผลิตที่ดีไม่แพ้กัน สังเกตได้จากสีผลที่เหลืองอร่ามและเปล่งปลั่งน่ารับประทาน แม่ค้าเห็นสินค้าแล้ว ตาลุกวาว  ยินดีรับซื้อผลผลิตแบบไม่อั้น

ดร.ปรีชากล่าวว่า สวนกล้วยหอมทอง พื้นที่อื่น อาจเลี้ยงหน่อกล้วยสัก 3-4 หน่อต่อกอ แต่สวนผมเลี้ยงต้นกล้วยได้กอละ 10 หน่อ เพราะดินมีความอุดมสมบูรณ์มาก  แค่ใช้วิธีโกยดินเลนจากท้องร่องมาโปะ ร่องสวน ก็ทำให้ต้นไม้ได้รับธาตุอาหารที่ดีมากขึ้น ดินดี ต้นไม้ก็เติบโตได้อย่างเต็มที่ กล้วยหอมทองของสวนผม จึงมีรสชาติหวาน หอม อร่อย ผลอวบใหญ่ น่ากิน หลังเก็บเกี่ยวกล้วยหอมทองเสร็จ วางแผนพักดินในแปลงนี้สักหนึ่งปี เพื่อลดปัญหาในเรื่องโรคพืช แต่จะสลับไปปลูกกล้วยหอมทองในแปลงถัดไปแทน

พืชสมุนไพร ขายดีไม่แพ้กัน

ดร.ปรีชายังปลูก “ ตะไคร้ ” ปลูกแซมอยู่ริมท้องร่องสวน สาเหตุที่เลือกปลูกตะไคร้เพราะเป็นหนึ่งในพืชสมุนไพรยอดนิยมประจำครัวคนไทย แปลงตะไคร้เหล่านี้ จะตัดออกขายในเร็วๆนี้  คาดว่าจะได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 3 ตัน ขายในราคากิโลกรัมละ 14 บาท และยังมีรายได้จากแปลงปลูกมะละกอ โดยขายมะละกอดิบในราคากิโลกรัมละ 10 บาท มะนาวของสวนแห่งนี้ ผลโต น้ำดี มีกลิ่นหอม รสชาติเปรี้ยวจี๊ดจ๊าดถึงใจ ก็ขายดีเช่นกัน

“ เกษตรผสมผสาน ” โกยรายได้งาม

เมื่อถามตัวเลขรายได้จากการทำสวนเกษตรผสมผสานว่าเพียงพอสำหรับเลี้ยงตัวเองไหม คำตอบที่ได้ก็คืออยู่ได้สบาย เหลือกิน เหลือใช้ เพราะสวนเนื้อที่ 7 ไร่แห่งนี้ มีค่าใช้จ่ายหลักหมื่น เป็นค่าแรงงานให้กับคนงานจำนวน 1 คนเท่านั้น  ส่วนปุ๋ยยา ก็ไม่ต้องซื้อ แค่เก็บเศษใบไม้ใบหญ้า ผลไม้ในสวนมาทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ  และซื้อปุ๋ยคอกมาใช้บ้าง   ถือว่า รายได้จากการผลผลิตในสวนเกษตรผสมผสานแห่งนี้ สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างสบายๆ  นี่ผมทำเป็นสวนเกษตรตัวอย่างก่อนเกษียณให้ดูแล้ว พูดได้เต็มปากว่า ทำได้จริง ” ดร.ปรีชาเล่าอย่างอารมณ์ดี

ปลูกพืชให้ตอบโจทย์ตลาด  

ดร.ปรีชาบอกว่า การทำเกษตร อย่ามัวปลูกอย่างเดียว ต้องหัดเรียนรู้การตลาดด้วย ใช้หลักการตลาดนำการผลิตด้วย เพราะตลาด เป็นหัวใจหลักสำคัญ ที่จะช่วยให้เราขายผลผลิตได้ราคาที่ดี เกษตรกรมือใหม่ ต้องหัดเรียนรู้ทิศทางความความต้องการของตลาดในแต่ละช่วงเทศกาลด้วย เพื่อผลิตสินค้าให้ทันกับความต้องการของผู้ซื้อ

“  ช่วงเดือนธันวาคมไปจนถึงเดือนมกราคม ผมวางแผนตัดกล้วยออกขายแล้ว เพราะตรงกับเทศกาลตรุษจีน กล้วยถือเป็นผลไม้มงคลที่นิยมใช้ไหว้เจ้า ราคากล้วยในช่วงนั้นจะขายได้ราคาดีมาก หวีละ 50 บาท นี่คือตัวอย่างการวางแผนการปลูก ต้องผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับช่วงเทศกาลสำคัญเพราะเป็นช่วงที่ผู้คนต้องกินต้องใช้พืชผักผลไม้จำนวนมาก ทุกวันนี้เกษตรกรบางรายเจ๊งเพราะปลูกโดยไม่นึกถึงตลาด พอเห็นบ้านโน้นปลูกผลไม้ชนิดนี้แล้วขายดี ก็แห่ปลูกตามเขาไปจนสินค้าล้นตลาด ขายขาดทุน   ” ดร.ปรีชาเล่าให้ฟังอย่างเป็นกันเอง

ดร.ปรีชาอธิบายหลักการทำปุ๋ยหมักในนักศึกษา กศน.ฟัง

 

นักศึกษา กศน.ธัญบุรีมาดูงานที่สวนไม้ผสมผสานของ ดร.ปรีชา

ดร.ปรีชาตั้งใจทำสวนไม้ผลผสมผสาน ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9  ทำให้สวนผลไม้แห่งนี้ กลายเป็นหนึ่งในศูนย์การเรียนรู้ของคณาจารย์ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) จากทั่วประเทศ แวะเวียนเข้ามาศึกษาหาความรู้กันอย่างต่อเนื่อง หากใครสนใจอยากเยี่ยมชมสวนหรืออยากแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการทำสวนเกษตรผสมผสานกับ ดร.ปรีชา ก็สามารถแวะเข้าชมได้ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์  หรือพูดคุยสอบถามกับดร.ปรีชา ได้ที่เบอร์โทร. 081-8085138