ไขรหัส “ศาสตร์พระราชา” “คุ้งกระเบน” คลังปัญญา ศก.พอเพียง

4,741 โครงการอันเนื่องมาจากแนวพระราชดำริ ตลอดรัชสมัย 70 ปี แห่งการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (ร.9) ประจักษ์แก่สายตาพสกนิกรชาวไทย-ชาวโลก

 

มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ พาสัญจร-ไขรหัส “ศาสตร์พระราชา” ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี 1 ใน 6 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

เปรียบเสมือนดั่ง “คลังปัญญา” แห่ง “ศาสตร์พระราชา” อันเป็นมรดกของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งยังคงเป็นศาสตร์แห่งภูมิปัญญา-สร้างปราชญ์ชาวบ้านทั่วทุกพื้นที่-ทั่วทุกภูมิภาค

นายนเรศ แสงอรุณ นักประชาสัมพันธ์ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฉายภาพพระราชดำริของในหลวง ร.9 ให้มีศูนย์การศึกษาทั่วทุกภูมิภาคว่า การพัฒนาจะต้องเป็นไปตามภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์และตามภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์ในสังคมวิทยา ในนิสัยใจคอของคน จะไปบังคับคนให้คิดอย่างอื่นไม่ได้ ดังนั้นพระองค์ท่านจึงยึดหลักของภูมิสังคม

“พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสชัดเจนว่า จุดประสงค์ของการตั้งศูนย์ศึกษาเพราะต้องการให้เป็นสถานที่สำหรับการค้นคว้า วิจัยในท้องที่ เพราะแต่ละท้องที่ฝนฟ้าอากาศและประชาชนในท้องที่แตกต่างกัน”

นอกจากการตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ตามภูมิสังคมในท้องถิ่นนั้น ๆ แล้ว อีก 1 จุดประสงค์ คือ การพัฒนาที่ทำกินของราษฎรให้มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น โดยการพัฒนาที่ดิน พัฒนาแหล่งน้ำ ตลอดจนการฟื้นฟูป่า โดยใช้หลักทางวิชาการเกษตรในการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์

“การตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเพื่อการศึกษา ทดลอง วิจัยแล้ว ให้ขยายผลสู่ประชาชน รวมกลุ่มจัดเป็นหลักสูตรอบรม และจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงขยายออกไปอีก เพื่อสร้างปราชญ์ชาวบ้านเพื่อเผยแพร่ให้เข้าถึงประชาชนในทุกระดับ”

พระราชดำริในการตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนในวันนั้น เป็น “ศาสตร์พระราชา” ซึ่งสามารถนำมาแก้ปัญหาการกีดกันทางการค้าได้ทั้งในปัจจุบัน-อนาคต หลักคิด-หลักพัฒนาของในหลวง ร.9 กว่า 37 ปีเต็ม เพื่อส่งเสริมอาชีพการเกษตรในพื้นที่รอยต่อป่าชายเลนและเชิงเขา โดยการศึกษา-ทดลอง-วิจัยและทดสอบพันธุ์พืชเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยปลอดจากภัยสารพิษ อาทิ การปลูกผัก-ผลไม้ปลอดสารพิษ เช่น ชมพู่ทับทิมจันทร์ ละมุดพันธุ์ละลายทอง หม่อนพันธุ์แม่ลูกดก ซึ่งผ่านการทดลอง-วิจัยแล้วว่า เหมาะกับภูมิประเทศ

“เนื่องจากพื้นที่เป็นดินตะกอนทรายจากทะเลและเค็ม เนื่องจากอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล ไม่สามารถนำต้นอะไรมาปลูกก็ได้ จึงต้องปลูกพืชใบหนา เป็นมัน เติบโตในดินทรายและเค็ม”

1 ในประเด็นท้าทายเศรษฐกิจโลกในอนาคต คือ การกีดกันทางการค้า โดยใช้ประเด็น “ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เป็นการกีดกันทางการค้าทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันประเทศไทยยังคงถูกสหภาพยุโรป (อียู) ให้ “ใบเหลือง” ในการทำประมงผิดกฎหมาย

ในอดีตจังหวัดชายฝั่งภาคตะวันออก จันทบุรี เป็นแหล่งอัญมณีและผลไม้สำคัญ รวมถึงทรัพยากรด้านการประมงลำดับต้น ๆ ของประเทศ แต่เมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้น ความก้าวหน้าที่เทคโนโลยี เครื่องมือประมงในการจับสัตว์น้ำ ส่งผลให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ-ป่าชายเลนถูกทำลาย

“งานประมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกุ้งทะเล ปลาเก๋า ปลากะพงขาว ให้ได้มาตรฐานการเลี้ยงกุ้งอย่างปลอดภัยไร้สารพิษ หรือระบบโค้ดออฟคอนดักต์ (code of conduct) หรือซีโอซี (COC) และ good aquaculture practice (GAP) เพื่อให้สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ การให้บริการคลินิกโรคสัตว์น้ำ ตรวจโรคสัตว์น้ำให้แก่เกษตรกรเลี้ยงกุ้งและปลาในโครงการ”

สัตว์น้ำทางเศรษฐกิจหลายชนิดที่ได้รับการส่งเสริมในด้านวิชาการเกษตร การวิจัย-พัฒนา อาทิ กุ้งกุลาดำ กุ้งแชบ๊วย ปลากะพงขาว ปลาเก๋า ปลาแขยงกง หอยหวาน ได้รับการพัฒนาให้ผ่านมาตรฐานสากล-พ้นระดับการกีดกันทางการค้าของต่างประเทศ

เมื่อปี 2530 มีการส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งกุลาดำรอบอ่าวคุ้งกระเบน โดยจัดสรรพื้นที่ป่าชายเลนเสื่อมโทรมรอบอ่าวคุ้งกระเบน จำนวน 728 ไร่ เพื่อให้ประชาชนที่มีฐานะยากจนประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งกุลาดำ อย่างไรก็ตาม การสูบน้ำในทะเลเพื่อเลี้ยงกุ้งและสูบออกลงทะเลโดยตรง ไม่บำบัด จึงเกิดการปนเปื้อนของน้ำทะเล ส่งผลกระทบต่อหญ้าทะเล แนวปะการัง ป่าชายเลน และเกิดโรคระบาดรอบอ่าวคุ้งกระเบน รวมถึงการเลี้ยงกุ้งของเกษตรกร

“พระองค์พระราชทานแนวพระราชดำริว่า มีวิธีที่ทำให้การเลี้ยงกุ้งทะเลเป็นรายได้และไม่มีมลพิษ และสามารถส่งออกกุ้งจำนวนมากและมีคุณภาพสูง จึงเป็นที่มาของมาตรฐาน COC และ GAP เนื่องจากต่างประเทศสร้างเงื่อนไขเป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้าว่า การเลี้ยงกุ้งเป็นการทำลายป่าชายเลนและสิ่งแวดล้อม”

ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล พระองค์ทรงมีพระราชดำริการพัฒนาการเลี้ยงกุ้งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยระบบ “ชลประทานน้ำเค็ม” โดยการบำบัดน้ำเลี้ยงกุ้งก่อนใช้ประโยชน์ต่อไป-ลงทะเล

ท่ามกลางคลื่นลมเศรษฐกิจทุนนิยมโลก-โลกาภิวัตน์ และภัยเศรษฐกิจรูปแบบใหม่-การกีดกันทางการค้า “ศาสตร์แห่งพระราชา” จึงเป็น “หลักชัย” ยึดเหนี่ยวไม่ตกเทรนด์โลก