เผยแพร่ |
---|
เมื่อไม่นาน มีข้อมูลจาก ธนาคารกสิกรไทย ระบุถึงตัวเลขเกี่ยวกับการค้าขายออนไลน์ ไว้อย่างน่าสนใจว่า ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างน้อยร้อยละ 20 ต่อปี ปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจอีคอมเมิร์ซผ่านช่องทางต่างๆ กว่า 500,000 ราย และมีคนไทยซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ถึง 14.87 ล้านคน
ทั้งนี้ มีการประเมินด้วยว่า ปีที่ผ่านมา มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซ ในส่วนของการซื้อขาย ตรงไปยังผู้บริโภคนั้นสูงถึง 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจัยที่ส่งต่อการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ เป็นผลมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต จำนวนการใช้สมาร์ตโฟนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงระบบชำระเงินออนไลน์ที่พัฒนาขึ้นไปอย่างมาก
เมื่อบรรยากาศโดยรวมแสนจะคึกคักอย่างที่เกริ่น ยามนี้ จึงมีธุรกิจหลายรูปแบบ กระโดดเข้ามาเป็น “ผู้เล่น” ในตลาดออนไลน์ กันมากหน้าหลายตา
เมืองนอกมีแล้ว
ปรับใช้คนไทยไม่เวิร์ก
Shipyours-ชิปยัวร์ส คือหนึ่งในผู้เล่นในตลาดค้าขายออนไลน์ เป็นธุรกิจบริการรับจัดเก็บสินค้า ที่มาพร้อมกับการรับบรรจุและจัดส่ง สำหรับผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซขนาดย่อม ที่ต้องการพื้นที่ในการจัดเก็บสินค้าขนาดเล็ก พร้อมทีมงานบรรจุและจัดส่ง โดยการรับคำสั่งส่งสินค้าออก และแจ้งผลการจัดส่งทั้งหมด ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตแบบออนไลน์
คุณจูเนียร์-อานันท์ สุขุมภาณุเมศร์ นักธุรกิจหนุ่มบุคลิกแคล่วคล่อง วัย 24 ปีเศษ ดีกรีปริญญาตรี นิเทศศาสตร์ ภาคอินเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Shipyours-ชิปยัวร์ส กรุณาสละเวลามาให้ข้อมูล ด้วยอัธยาศัยกันเอง ย้อนความเป็นมา ธุรกิจนี้มีผู้ร่วมก่อตั้งอีก 2 คน หนึ่งในนั้นเป็นเจ้าของกิจการโกดังสินค้า และอีกคนหนึ่งค้าขายสินค้าออนไลน์
ส่วนตัวเขานั้นก่อนหน้านี้เคยลงทุนร่วมกับเพื่อน ผลิต “สแน็ก” ส่งขายตามซุปเปอร์มาร์เก็ต แต่ราคาขายต่อหน่วยไม่ถึง 100 บาท กำไรจึงน้อยมากหากเทียบกับเงินลงทุน จึงมองหาธุรกิจอื่นที่น่าจะทำกำไรได้ดีกว่า
กระทั่งโคจรมาพบกับหุ้นส่วนทั้ง 2 ท่านดังกล่าว ก่อนนำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนกัน
“ผมเป็นคนชอบซื้อของออนไลน์บ่อยอยู่แล้ว ส่วนเพื่อนอีกคนที่ขายของออนไลน์ มักเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่าเกิดปัญหาเรื่องการบรรจุสินค้าก่อนส่ง เวลาออร์เดอร์เยอะแล้วแพ็กไม่ทัน ทำให้ไม่สามารถขยายรับออร์เดอร์ได้ ทั้งที่ธุรกิจสามารถเติบโตไปได้มากกว่านั้น แต่กลับต้องชะลอ เป็นเหมือนคอขวด” คุณจูเนียร์ เล่าถึงจุดเริ่ม
จากนั้นทั้ง 3 หุ้นส่วน จึงช่วยกันตกตะกอนความคิด ผุดเป็นโมเดลธุรกิจในแบบ Shipyours-ชิปยัวร์ส
“คลังสินค้าออนไลน์ของเรา เป็นธุรกิจช่วยลดภาระของผู้ประกอบการ โดยมีทีมงานมืออาชีพช่วยจัดเก็บสินค้า ช่วยบรรจุสินค้าและนำส่งให้ ทำให้บรรดาพ่อค้า-แม่ขายออนไลน์ ไม่ต้องมาปวดหัวกับการจัดเก็บสินค้า มีเวลารับออร์เดอร์ หรือคิดทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายมากขึ้น” คุณจูเนียร์ อธิบาย
ก่อนบอกว่า ใช้เวลาศึกษาวิเคราะห์ตลาดธุรกิจคลังสินค้าออนไลน์อยู่หลายเดือน จนทราบว่าในเมืองไทยมีคนทำบ้าง แต่เจาะกลุ่มเฉพาะลูกค้ารายใหญ่ไม่รับลูกค้าขนาดย่อม ส่วนต่างประเทศมีบ้างแล้วหลายราย แต่ไม่สามารถนำมาเป็นต้นแบบใช้กับคนไทยได้ เนื่องจากพฤติกรรมหลายอย่างยังแตกต่างกันอยู่มาก
“ก่อนหน้านั้นวางแผนไว้จะทำระบบอัตโนมัติทั้งหมด โดยนำเว็บไซต์ของผู้ประกอบการมาเชื่อมกับเว็บไซต์ของเรา แต่ปรากฏคนไทยแทบจะไม่ขายของผ่านเว็บไซต์ พวกเขามักขายของผ่านเฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม ฉะนั้น การเชื่อมเว็บไซต์แบบออโตเมติก ตั้งแต่ต้นจนจบจึงเป็นไปไม่ได้ ต้องมาปรับเปลี่ยนใหม่
นอกจากนี้ คนไทยชอบขายของหลากหลาย ขณะที่ต่างชาติ ถ้าสินค้าตัวไหนขายดีจะเก็บข้อมูลไว้ เพื่อสต๊อกสินค้านั้นมากหน่อย ส่วนตัวไหนขายไม่ดีค่อยๆ ตัดไป แต่คนไทยมีนิสัยอยากขายทุกอย่าง เว็บไซต์หนึ่งขายสินค้าหลายร้อยอย่าง” คุณจูเนียร์ บอกอย่างนั้น
ลงทุนหลักล้าน
บริการใหม่ ลูกค้าไม่เก๊ต
กิจการ Shipyours-ชิปยัวร์ส เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เมื่อราวกลางปี 2557 ตั้งต้นด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ภายใต้การบริหารในนามบริษัท โอเอฟ แวร์เฮาส์ จำกัด (Shipyours) มีเป้าหมายเข้ามาแก้ปัญหาให้กับร้านค้าของผู้ประกอบการรายย่อยหรือขนาดย่อม ซึ่งเป็นกลุ่มคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 93 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซทั้งหมดของประเทศไทย
“บริการของเรายังเป็นเรื่องใหม่สำหรับพ่อค้า-แม่ขายออนไลน์ ตอนเปิดตัวใหม่ๆ เราเป็นผู้เล่นเดียวในตลาด ยังไม่มีใครทำ ซึ่งเป็นปัญหามาก เพราะไม่มีใครเข้าใจ เคยลองโทรศัพท์ไปคุยตามร้านค้าขายของทั้งหลายบนเว็บไซต์ บอกว่ามีบริการดีๆ มาแนะนำ ฮาร์ดเซลส์ เหมือนขายประกันเลย” คุณจูเนียร์ เล่า พร้อมหัวเราะอารมณ์ดี
ก่อนย้อนประสบการณ์ให้ฟังแบบเห็นภาพ
“ผมโทรไปอธิบายว่า บริการของเราคือ รับจัดเก็บ แพ็กสินค้า และส่งสินค้าให้คุณ ลูกค้าบางคนฟัง บางคนไม่ฟัง หรือฟังไปสักพักก็บอกว่า โอ๊ย! คุณ ผมพ่อค้านะ บาทหนึ่งก็ไม่อยากเสียให้ใคร เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า พ่อค้าแม่ขายหลายคน ยังไม่เข้าใจว่าต้นทุนแฝงคืออะไร ค่าแรงของตัวเองคืออะไร เขาคิดกันแค่ว่ามาใช้บริการผมแล้วต้องจ่ายมากขึ้น จะมาเสียทำไม”
คุณจูเนียร์ เล่าต่อ ช่วงปีแรกของการดำเนินกิจการ ลูกค้ายังไม่มีความเข้าใจเลย กระทั่งได้มีโอกาสไปออกรายการโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ซึ่งช่วยสื่อแนวความคิดของธุรกิจ ว่าความจริงแล้ว ต้นทุนในการค้าขาย มีอะไรบ้าง และการจัดการที่ดีสามารถทำให้ธุรกิจโตได้อย่างไร โดยผู้ประกอบการไม่ต้องมากังวลกับเรื่องที่ไม่ก่อให้เกิดผลกำไร
ประกอบกับปีที่ผ่านมา มี “ผู้ล่น” ใหม่ กระโดดเข้ามาในตลาดนี้ ประมาณ 3-4 ราย ต่างคนจึงต่างทำการตลาดของตัวเอง ลูกค้าจึงเริ่มมีความเข้าใจขยายเป็นวงกว้าง
“คู่แข่งเยอะ ไม่ใช่อุปสรรคเลย เพราะตลาดนี้เค้กก้อนใหญ่มาก แบ่งกันกินยังเหลือเฟืออยู่ การที่มีผู้เล่นเจ้าอื่นด้วย ยิ่งทำให้บรรยากาศโดยรวมคึกคักมากขึ้น แต่ถ้าในอนาคต ยอมรับว่ามีความกังวลบ้างเป็นธรรมดาของการทำธุรกิจ” คุณจูเนียร์ บอกอย่างนั้น
ออกแบบธุรกิจ
ตอบโจทย์สามข้อ
สนทนามาถึงตรงนี้ มีคำถาม กิจการ Shipyours-ชิปยัวร์ส ทำให้ธุรกิจของบรรดาพ่อค้า-แม่ขายออนไลน์ ดีขึ้นแค่ไหน อย่างไร คุณจูเนียร์ อธิบาย ปัญหาแรก ที่มักเกิดขึ้นกับพ่อค้า-แม่ขายออนไลน์คือ การจัดเก็บสินค้า ถ้าทำเองที่บ้าน เมื่อสินค้ามาส่ง ก็ต้องมาตั้งกองในห้อง กระจายหาชั้นเก็บ ถ้ามีสินค้ามากขึ้น ที่จัดเก็บเริ่มไม่พอ บ้านรก วางไม่เป็นสัดส่วน หาสินค้าไม่เจอ
ปัญหาที่สองคือ ขาดคนแพ็กสินค้า เพราะทุกวันต้องตื่นเช้ามาแพ็ก ส่งตอนบ่าย บางครั้งแพ็กผิดแพ็กถูก เนื่องจากไม่มีระบบมาช่วยตรวจสอบ ทำกันเองแบบบ้านๆ วันไหนออร์เดอร์เยอะหน่อยก็ชวนพ่อ-แม่ พี่-น้อง มาช่วยกันแพ็ก วันๆ ก็หมดไปกับการแพ็ก ไม่ได้ทำอะไรแล้ว
และปัญหาที่สามคือ การจัดการข้อมูล ส่วนใหญ่เวลารับออร์เดอร์มาเสร็จก็ก๊อบปี้ลงโปรแกรมเวิร์ด พริ้นต์ออกมาเป็นแผ่น แล้วก็อาจมีสมุดเล่มหนึ่งไว้ตัดสต๊อก ทำไปทำมา อาจตัดผิดตัดถูก บางรายขายมาแล้ว 1 ปี ไม่เคยเก็บข้อมูลไว้ดูเลยว่า ยอดขายที่ผ่านมาตัวไหนขายดี ตัวไหนทำกำไรมากที่สุด
“จากปัญหาที่กล่าวมาประกอบกันอย่างนี้ บริการของชิปยัวร์ส จึงออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ปัญหาทั้ง 3 ข้อคือ บ้านจะไม่รก ถ้ามาใช้บริการชิปยัวร์ส ไม่ต้องรับสินค้าเอง สามารถสั่งโรงงานให้มาลงสินค้าไว้ที่โกดังของเราได้ โดยเราจะมีเจ้าหน้าที่ช่วยตรวจสอบคุณภาพสินค้า นับสต๊อก เอาขึ้นชั้นให้
พอถึงเวลาออร์เดอร์มา เรามีมืออาชีพเป็นคนแพ็กสินค้าให้ เพราะมีระบบบาร์โค้ด ในการลงสินค้า การจัดส่งออกไปถูกต้องไม่ผิดแน่นอน สุดท้ายเรายังมีซอฟต์แวร์ในการบริหารจัดการข้อมูลให้ใช้ ถ้าพ่อค้า-แม่ขาย ซึ่งเป็นลูกค้าของเราอยากดูยอดขายย้อนหลัง 1 ปี ดึงมาดูได้ทันที สามารถนำข้อมูลไปบริหารงานด้านมาร์เก็ตติ้งได้เลย” หุ้นส่วนคนสำคัญ อธิบาย
เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายถ้าอยากใช้บริการ คุณจูเนียร์ บอก Shipyours-ชิปยัวร์ส ออกแบบมาเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย ฉะนั้น ค่าใช้จ่ายต่อเดือนจึงถูกมาก แบ่งเป็น 3 ส่วนหลักคือ ค่าจัดเก็บ ค่ารหัสสินค้า และค่าแรงแพ็กสินค้า
โดยในส่วนของค่าจัดเก็บ จะผันแปรตามปริมาตรของจำนวนสินค้า เริ่มต้นเพียงเดือนละ 100 บาท ค่ารหัสสินค้า คิดอยู่ที่ 15 บาท ต่อ 1 เอสเคยูต่อเดือน และค่าแรงในการแพ็กสินค้า 1 ออร์เดอร์ หรือ 1 ที่อยู่ในการจัดส่ง คิดออร์เดอร์ละ 10 บาท
ส่วนการจัดส่งสินค้า พ่อค้า-แม่ขาย สามารถเลือกได้ว่าจะให้ช่วยจัดส่งแบบไหน มีทั้งไปรษณีย์ด่วนพิเศษ พัสดุลงทะเบียน พัสดุเก็บเงินปลายทาง หรือส่งโดยพนักงานส่งเอกสาร ทั้งนี้ ก็จะมีค่าใช้จ่ายแตกต่างกันไป
ตอบรับน่าพอใจ
สามปีหวังโกอินเตอร์
สำหรับข้อจำกัดของการมาใช้บริการคลังสินค้าออนไลน์แห่งนี้ เจ้าของกิจการวัย 24 บอกว่า ต้องเป็นสินค้าที่มีอายุการเก็บรักษาอย่างน้อย 3 เดือน เป็นสินค้าไม่ผิดกฎหมาย ไม่ใช่วัสดุติดไฟได้ หรือจุดระเบิดได้ และสามารถส่งผ่านไปรษณีย์ได้ ทั้งนี้ มีวงเงินประกันให้ 10 เท่าของราคาค่าจัดเก็บในแต่ละเดือน
เมื่อถามถึงกระแสตอบรับจากลูกค้า ณ ช่วงเวลานี้ มีคำตอบน่าสนใจกลับมาว่า
“ค่อนข้างน่าพอใจ มีลูกค้ามาใช้บริการมาก จนต้องชะลอการหาลูกค้าอยู่เหมือนกัน เพราะต้องเรียนตามตรงว่าธุรกิจนี้เป็นเรื่องของความเชื่อมั่น มีลูกค้านำสินค้ามาฝากกับเรา เลยอยากให้ลูกค้าที่ใช้บริการอยู่ไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนไปของการบริการ ไม่อยากให้ธุรกิจโตเร็วเกินไป ค่อยๆ เติบโตดีกว่า”
ส่วนความพึงพอใจมีมากน้อยแค่ไหน คุณจูเนียร์ บอกจริงจัง
“มีลูกค้าผมคนหนึ่งบอกว่า ชีวิตสบายขึ้นมากเลย คือนอกจากที่ชีวิตจะสบายแล้ว ยอดขายก็เพิ่มด้วย การเพิ่มขึ้นของยอดขายนั้น ไม่ใช่เพราะเราไปแพ็กสินค้าให้แล้วคนซื้อติดใจ แต่การที่เข้าไปช่วยแพ็กสินค้าให้นั้น ทำให้มีเวลามากขึ้น เขาจึงนำเวลาที่ต้องแพ็กของ ไปทำงานอย่างอื่น เช่น ทำสื่อโฆษณา ไปทำมาร์เก็ตติ้ง ไปโปรโมตสินค้า ทำให้ยอดขายขยับขึ้นอย่างเห็นได้ชัด”
เกี่ยวกับผลตอบแทนจากธุรกิจคลังสินค้าออนไลน์นี้ คุณจูเนียร์ เผย หากเทียบสัดส่วนกับธุรกิจบริการเหมือนกัน ธุรกิจนี้ถือว่ามาร์จิ้นบางมาก กำไรไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นธุรกิจเน้นความถี่ในการใช้บริการมากกว่า
ถามถึงความตั้งใจในธุรกิจ หุ้นส่วนคนสำคัญ เผยว่า ภายใน 3 ปีนี้ อยากทำโครงสร้างในประเทศให้แน่นก่อน จากนั้นจะเริ่มไปเปิดโกดังคลังสินค้าออนไลน์ที่เพื่อนบ้าน อย่างเวียดนามหรือสิงคโปร์ เป็นการเปิดตลาดใหม่
“ตอนนี้เรามีลูกค้าอยู่ที่ ชัยภูมิ เชียงใหม่ ภาคใต้ หรือแม้แต่ประเทศสิงคโปร์ พวกเขามีอิสรภาพทางกายภาพ ไม่ต้องติดอยู่ที่ไหนสักที่ ทำงานที่ไหนก็ได้ เคยมีลูกค้าคนหนึ่งไปเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษ เขาขายอาหารเสริม แม้ตัวจะอยู่เมืองนอก ก็สามารถนำสินค้ามาฝากกับเรา พอสินค้าใกล้หมด สั่งให้โรงงานผลิตมาลงของเพิ่ม ตัวเขาก็รับออร์เดอร์ไป ชิปยัวร์สเป็นเหมือนผู้จัดการส่วนตัวให้เลย” คุณจูเนียร์ เล่าให้ฟังส่งท้าย
……………
พ่อค้า-แม่ขายออนไลน์ สนใจตัวช่วยชั้นดี ในนาม Shipyours-ชิปยัวร์ส สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท โอเอฟ แวร์เฮาส์ จำกัด เลขที่ 21 ซอยรามคำแหง 21 ถนนรามคำแหง แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310 โทรศัพท์ (02) 718-5545, (061) 819-6358 Facebook/shipyours อีเมล : [email protected] และ LINE : @shipyours