สวนกระแสเศรษฐกิจ “โหนด” น้ำผึ้งราคาพุ่ง ปี๊บละ 1,400 บาท

นางฐาปชา ฐาวโรจน์ เกษตรอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า พื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ ประกอบด้วยอำเภอสทิงพระ ระโนด กระแสสินธุ์ และสิงหนคร มีต้นตาลโตนด หรือที่เรียกในภาษาท้องถิ่นว่า ต้นโหนด ขึ้นอยู่ประมาณ 400,000 ต้น โดยจะให้ผลผลิตตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี โดยขณะนี้ราคาที่จำหน่ายในส่วนของน้ำผึ้งโหนด ปี๊บละ 1,300-1,400 บาท ส่วนลูกโหนดสด ราคา 10-18 บาท ต่อกิโลกรัม

สำหรับลูกโหนด จะมีพ่อค้าคนกลางมาซื้อ นำไปจำหน่ายต่อ รวมถึงการส่งเข้าสู่โรงงานบรรจุกระป๋อง และส่งไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

ด้าน คุณมงคล หาญณรงค์ เกษตรกรเจ้าของสวนโหนด อยู่บ้านเลขที่ 65 หมู่ที่ 1บ้านปากช่อง ตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร กล่าวว่า ตอนนี้น้ำผึ้งโหนดกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด โดยพ่อค้าได้ซื้อไปเก็บไว้เพื่อนำออกมาจำหน่ายในช่วงเดือนตุลาคมจนถึงมกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำผึ้งโหนดออกสู่ตลาดน้อยทำให้มีราคาสูง โดยในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีราคาสูงถึงปี๊บละ 1,400 บาท

“ที่สำคัญขณะนี้ได้มีการนำน้ำผึ้งโหนดไปผลิตเป็นสุราพื้นเมือง กลุ่มโรงงานผู้ผลิตสุราพื้นเมืองมีความต้องการสูงมาก ส่งผลให้ในช่วงเวลา 3 ปี ที่ผ่านมา น้ำผึ้งโหนดมีราคาดีมาอย่างต่อเนื่อง

คุณมงคล บอกอีกว่า ปัจจุบันปลูกต้นโหนดไว้ประมาณ 50 ต้น สามารถผลิตน้ำผึ้งปี๊บได้ปีละ 200 ปี๊บ โดยช่วงฤดูกาลปกติ ราคาต้นทางเฉลี่ย ปี๊บละ 1,000 บาท ก็จะมีรายได้ประมาณ 200,000 บาท ต่อปี ขณะเดียวกันลูกโหนดสด สามารถสร้างรายได้ที่ดีเช่นกัน โดยเฉลี่ยต้นโหนดจะให้ผลผลิต ประมาณกว่า 100 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี ซึ่งราคาที่จำหน่ายลูกโหนดสด ชนิด 9-10 ยุม ราคา 20-25 บาท โดยช่วงรอมฎอนนี้เป็นช่วงที่ตลาดมีความต้องการสูงมาก ทำให้มีรายได้อย่างน่าพอใจ

จากที่ต้นโหนดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ จึงมีการจัดงานวันลูกโหนดขึ้นเป็นประจำทุกปีมานานถึง 30 ปี โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการจัดงานวันลูกโหนด ประจำปี 2559 ขึ้น ที่บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอสทิงพระ  โดยมี นายสาธิต ธรรมประดิษฐ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายอนุสร ตันโชติกุล นายอำเภอสทิงพระ และ นายสมหมาย ขวัญทองยิ้ม รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาร่วมในพิธี ทั้งนี้เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์และสาธิตการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ลูกโหนด หรือลูกตาลโตนดในรูปแบบต่างๆ   

ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์