2 พี่น้อง ฝ่าวิกฤตชีวิต ‘เปิดร้านส้มตำ’ ทีเด็ด! น้ำปลาร้า ปีเดียวขยาย 22 สาขา

2 พี่น้อง ฝ่าวิกฤตชีวิตเปิดร้านส้มตำ ‘ตำปากเปิด’ ทีเด็ด! น้ำปลาร้า ปีเดียวขยาย 22 สาขา   


“สาวแบงก์” งานประจำที่คนภายนอกมักมองว่าเป็นอาชีพที่มั่นคง แต่เชื่อไหมว่าเลี้ยงครอบครัวไม่ได้ แถมยังมีหนี้สิน ไม่มีเวลาดูแลคนที่รัก ไม่มีเงินจะซื้ออาหารดีๆ ให้ผู้เป็นพ่อได้กิน จวบจนห้วงเวลาสุดท้ายในชีวิตของผู้ให้กำเนิด มีเวลาดูแลกันเพียง 5 วันเท่านั้น

จากเหตุการณ์เหล่านี้ นับเป็นจุดเปลี่ยนให้คุณนก หรือ คุณศดานันท์ ผิวหูม ในวัย 35 ปี ลาออกจากงานธนาคาร ในแผนกขายประกันและสินเชื่อ มาทำธุรกิจของตัวเอง นั่นคือ เปิดร้านส้มตำ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจคิดค้นสูตรน้ำปลาร้าเป็นของตัวเอง และความหลากหลายเมนูอาหาร ระยะเวลาเพียงปีเดียว ขายแฟรนไชส์ได้มากถึง 22 สาขา รายได้ต่อสาขาไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3 แสนบาท  

คุณนก เล่ากับเส้นทางเศรษฐีออนไลน์ว่า ก่อนหน้านี้ทำงานธนาคารแห่งหนึ่งในแผนกสินเชื่อ เป็นมือวางลำดับต้นๆ ในงานขาย ส่วนสามีทำธุรกิจส่วนตัวให้บริการขนส่งสินค้า แต่ทว่าเป็นหนี้นอกระบบ ต้องหาเงินใช้หนี้อยู่ 2 ปี คุณพ่อป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ครอบครัวแตกระแหงแยกกันอยู่ไม่มีความสุข ด้วยความที่เป็นพี่สาวคนโต เลยตัดสินใจลาออกจากงานมาเปิดร้านส้มตำเพียงเพื่อหวังว่าจะอยู่กับแม่และน้องสาวพร้อมหน้าพร้อมตา

“ดิฉันเป็นหนี้นอกระบบ 1 ล้านบาท ต้องหาเงินใช้หนี้อยู่ 2 ปี ช่วงนั้นคุณพ่อป่วยเป็นมะเร็งระยะสุด ท้าย ลาพักร้อนไปดูแลท่านได้เพียง 5 วัน หลังคุณพ่อเสีย น้องสาวไปหางานทำที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนคุณแม่อยู่สกลนคร มีความคิดว่าอยากชวนแม่กับน้องสาวมาอยู่ด้วยกัน เลยเปิดร้านส้มตำเล็กๆ ที่จังหวัดชลบุรี”

ด้วยความที่เป็นพี่สาวคนโตและอยากเห็นครอบครัวกลับมาอบอุ่นอีกครั้ง คุณนก บอกว่า หลังพ่อเสียไม่นาน ราวปี 2558 ชวนน้องกับแม่มาเปิดร้านส้มตำที่แหลมฉบัง มีเพียง 4 โต๊ะ เช่าที่เดือนละ 3,000 บาท ขายได้กำไรวันละ 1,000 – 1,500 บาท ไม่มีคนงาน เหมือนว่ากิจการจะไปได้ด้วยดี แต่แม่ล้างจานจนมือเปื่อยทุกวัน หนที่สุดทนเห็นแม่เหนื่อยไม่ไหว ตัดสินใจปิดร้าน

“หลังปิดร้านส้มตำไป แม่กลับสกลนคร ด้วยความที่แม่คิดถึงพ่อ บ่อยครั้งที่แม่นอนร้องไห้ และเก็บตัวเงียบ เลยฮึดสู้เปิดร้านส้มตำใหม่อีกครั้งในปี 2560 คราวนี้ดั้นด้นมากรุงเทพฯ มาสำรวจทำเล ตั้งใจทำร้านให้ดี วางแผนงานให้เป็นระบบมากขึ้น ประกอบกับมีฝีมือทำน้ำปลาร้า และเอาเมนูอาหารอีสานที่พ่อเคยทำให้กินตอนเด็กๆ มาปรับปรุง เพิ่มความหลากหลายของเมนู กิจการค่อยๆ ดีขึ้น

สำหรับ ตำปากเปิด สาขาแรกเปิดที่ รามอินทรา กม.2 ถนนลาดปลาเค้า ระหว่างซอย 76 กับ 78 ตรงข้ามห้างเดอะแจ๊ส รามอินทรา คุณนก บอกว่า ลงทุนหมดหน้าตัก 5 แสนบาท จุดเด่นของร้าน ทำน้ำ ปลาร้าเอง ใช้ปลาจาก 3 จังหวัด กลิ่นหอม สะอาด อร่อย  หลายๆ เมนูอาหารอีสาน อย่างข้าวจี่ นำมาดัดแปลงใหม่เป็นข้าวเหนียวทอด  และเป็นอาหารอีสานฟิวชั่น

“ทางร้านเน้นใช้วัตถุดิบดี มีคุณภาพ ของสดใช้วันต่อวัน ไม่มีเก็บสต๊อก น้ำจิ้มปั่นใหม่ทุกวัน ดูเผินๆ เป็นร้านส้มตำริมทาง แต่เต็มไปด้วยเคล็ดลับความอร่อยมากมาย เสิร์ฟอาหารอีสานฟิวชั่น ใช้วัตถุ ดิบตามฤดูกาลเพื่อความสดใหม่ อาทิ ไข่มดแดง ปูไข่”

นอกจากน้ำปลาร้าที่คุณนกทำเอง เธอเผยเคล็ดลับความอร่อย คือ ใช้น้ำตาลมะพร้าวอย่างดีแทนน้ำตาลทราย ปลาแซลมอนใช้แซลมอนนอร์เวย์ หมูยอ มาจากเจ้าประจำที่จังหวัดอุบลราชธานี หลายๆ เมนูที่ขายมาจากวัยเยาว์ที่พ่อเคยทำให้กิน   

จากความมุ่งมั่นตั้งใจ ส่งผลให้ลูกค้าตอบรับดี เจ้าของร้าน ให้ข้อมูลว่า จากที่ขายได้วันละ 400 บาท ขยับขึ้นมาวันละ 2,000 บาท  วันละ 40,000 บาท และเคยทะลุเดือนละ 3 แสนบาท และเริ่มมีคนขอซื้อแฟรนไชส์

คุณนก บอกว่า ช่วงแรกที่เปิดร้าน ลูกค้าต่างบอกปากต่อปาก จนร้านเริ่มมีชื่อเสียง มีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศมาชิม กระทั่งปี 2562 มีคนมาขอซื้อแฟรนไชส์ เลยเริ่มขายแฟรนไชส์ตั้งแต่ตอนนั้น ถามว่าทำไมถึงกล้าขยายธุรกิจด้วยระบบนี้ คำตอบ คือ หัวใจสำคัญ อยู่ที่ “น้ำปลาร้า” และ “หมูยอ” ที่แฟรนไชซีจะต้องรับจากเรา ซึ่งใครนำไปปรุงอาหารก็อร่อย อีกทั้งคนแต่ละพื้นที่ชอบรสชาติไม่เหมือนกัน  

“ทีเด็ดตำปากเปิด อยู่ที่น้ำปลาร้าและหมูยอ เป็นสูตรลับเฉพาะของทางร้าน ระยะเวลาเพียงปีเดียวขยายสาขาได้ 22 สาขา คิดว่าเป็นเพราะรสชาติที่ถูกปาก และความมั่นใจที่ลูกค้ามอบให้ เราทำธุรกิจเสมือนพี่น้อง มีความอะลุ่มอล่วยให้กัน”  

นอกจากขยายสาขาเพิ่มขึ้น ในปีนี้ทางร้านตำปากเปิด จะเปิดร้านใหม่เน้นเมนูยำอย่างเดียว ชื่อร้านมิสซิสยำ by ตำปากเปิด  เนื่องจากนักธุรกิจหญิงมั่นใจว่าเทรนด์อาหารอีสาน และอาหารรสจัด ยังคงมาแรง  

ใครสนใจอยากไปชิมส้มตำอร่อยๆ ปักหมุดกันที่ โครงการเดินเพลินมาร์เก็ต ถนนลาดปลาเค้า รามอินทรา กม.2 กรุงเทพมหานคร เบอร์โทรศัพท์ (065) 675-0457

เผยแพร่ครั้งแรก วันพฤหัสที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563