ที่มา | ข่าวสดออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เผย พ.ร.บ.กัญชา อาจเจอสะดุด สุดท้ายกฎหมายล่ม ดับฝัน ใครบางคน?
พ.ร.บ.กัญชา สะดุด – 14 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โลกออนไลน์ ได้มีการแชร์บทความเกี่ยวกับเรื่อง พ.ร.บ.กัญชา โดยเปิดเผยว่า พ.ร.บ.กัญชา ต้องสะดุด ด้วยเหตุผลบางประการ โดยระบุว่า
พ.ร.บ.กัญชา คงเป็นแค่ฝันค้างของใครบางคนเสียแล้ว
ภายหลัง ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ ฉบับคลายล็อก “กัญชา-กระท่อม” หรือที่เรียกขานกัน “พ.ร.บ.กัญชา” ผ่านความเห็นชอบในวาระ 3 จากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา
หากแต่กระบวนการผลักดันเพื่อประกาศเป็นกฎหมาย และมีผลบังคับใช้กลับสะดุด เมื่อร่าง พ.ร.บ.กัญชา ถึงมือ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ผู้มีหน้าที่ดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
เมื่อมีข้อมูลอีกด้านว่า ในชั้นสนช.เองก็กำลังพิจารณา “ประมวลกฎหมายยาเสพติด” จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. …, ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด และร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ …) พ.ศ. … อยู่ในการพิจารณาวาระ 2 หรือชั้นกรรมาธิการปรับแก้ไขร่างเดิมที่รัฐบาลส่งมาอยู่
ซึ่งเป็นการพิจารณาตามแนวทาง “บูรณาการ – ปฏิรูปกฎหมาย” ควบรวมกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดในประเทศไทยที่มีอยู่ 7 ฉบับ ทั้งในแง่ “สาธารณสุข” และ “ยุติธรรม” ให้สอดคล้องทำนองเดียวกัน
เป็นข้อมูลใหม่ที่ ประธานสนช.ในฐานะประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ เพิ่งรับทราบ จึงได้มีการ “ชะลอ” ร่าง พ.ร.บ.กัญชา ไว้ก่อนเพื่อรอบทสรุปเกี่ยวกับห้วงเวลาการพิจารณาประมวลกฎหมายยาเสพติด
ด้วยรู้ดีว่าหากประมวลกฎหมายยาเสพติดทั้ง 3 ฉบับ มีผลบังคับใช้ก็จะส่งผลให้กฎหมายยาเสพติดที่มีอยู่เดิมถูกยกเลิกไป หนึ่งในนั้นก็คือ “พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522” ที่ถูกนำมาแก้ไขปรับปรุงใหม่กลายเป็น “พ.ร.บ.กัญชา” ในครั้งนี้ด้วย
ในทางปฏิบัติถือเป็น “ย้อนแย้ง” ภายในสนช.ไม่น้อย ที่ปล่อยให้ “กฎหมายย่อย” แซงคิว “กฎหมายใหญ่” ที่รู้ทั้งรู้ว่าจะออกมาในไม่ช้า และจะส่งผลให้ “กฎหมายย่อย” หมดสภาพไปในที่สุด
คำถามจึงมีถึง นายพรเพชร ในฐานะกำกับดูแลกระบวนการร่างกฎหมาย และต้องตั้งคำถามเนื่องต่อไปถึง นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. และ นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. ที่ร่วมอยู่ในคณะกรรมาธิการกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) ผู้ประสานงานวาระกฎหมายทั้งหมดของ สนช. ที่น่าจะรู้ว่ามี “ประมวลกฎหมายยาเสพติด” ค้างอยู่ในวาระของ สนช.
แต่ในช่วงโค้งสุดท้ายที่ สนช.มีกฎหมายเข้าพิจารณามากเป็นพิเศษ และยังชุลมุนกับกระแสเรียกร้องปลดล็อกกัญชาเพื่อการแพทย์ของภาคประชาชนและภาคประชาสังคม จู่ๆ มีสนช.จำนวนหนึ่งร่วมเสนอ “ร่าง พ.ร.บ.กัญชา”
ใช้เวลาเพียง 2 เดือน ยกร่าง พ.ร.บ.กัญชา ขึ้นมาแซงคิวประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่พิจารณากันมานานกว่า 2 ปีเศษในชั้น สนช. แล้วโหวตผ่านฉลุยตามสไตล์สภาฝักถั่ว
นอกเหนือจากความซ้ำซ้อนของกระบวนการร่างกฎหมายแล้ว ประเด็นที่ “ผู้ใหญ่” เพิ่งตาสว่างก็คือ เนื้อหาสาระของ พ.ร.บ.กัญชา มีความอันตรายร้ายแรงเกินกว่าที่คาดกันไว้
ความอันตรายร้ายแรงของ “ร่าง พ.ร.บ.กัญชา” ไม่ได้น่ากลัวเฉพาะประเด็นที่พูดกันว่า “เตะหมูเข้าปากหมา” อย่างที่มีการคัดค้านเรียกร้องกัน หากเมื่อศึกษาในรายละเอียดจะพบว่า เนื้อหาสาระบางช่วงบางตอนที่เขียนอย่างไม่รัดกุม ขาดความเข้าใจ อาจจะเอื้อต่อการคลายล็อก “ฝิ่น” ยาเสพติดให้โทษประเภท 2 พ่วงเป็นแพ็กเกจกับ “กัญชา – กระท่อม” ที่ได้อานิสงส์ในรอบนี้ไปด้วย
ที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก ด้วยในชั้นกรรมาธิการ มีการ “แปรญัตติ” เพิ่มเติมเนื้อหาในกฎหมาย เพิ่มเติมบทบัญญัติ “มาตรา 22” สาระสำคัญ “นิรโทษกรรมย้อนหลัง” ให้กับผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการครอบครอง “กัญชา” เพื่อศึกษาวิจัยก่อน พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับ เท่ากับ “ฟอกขาว” ให้กับผู้ที่ครอบครอง เริ่มงานวิจัยไปก่อนกฎหมายมีผลบังคับ
สอดรับกับคำขอสิทธิบัตรที่ค้างอยู่ในระบบของ “กรมทรัพย์สินทางปัญญา” ที่เรียกร้องให้เพิกถอนกันมานานแรมปี แต่ต้นสังกัดอย่าง กระทรวงพาณิชย์ ก็นิ่งเฉย มีเพียงการออกมารับลูกเป็นระยะๆ แล้วปล่อยให้กระแสสร่างซาไป ทั้งที่ระบุเองว่าคำขอสิทธิบัตรหลายสิบฉบับที่ค้างอยู่ ขัดกับกฎหมายไทย ไม่สามารถรับเรื่องได้ตั้งแต่ต้น
แต่ในขณะที่ยังไม่เพิกถอนคำขอสิทธิบัตรออกจากระบบ ก็ปล่อยให้อีกขาหนึ่งผลักดันกฎหมาย ที่หากมีผลแล้วก็จะเหมือน “ตีตั๋วต่อ” ให้กับ “บริษัทต่างชาติ” เจ้าของคำขอสิทธิบัตรเหล่านั้นหรือไม่
หรือแม้จะมีการเพิกถอนคำขอสิทธิบัตรจริง ก็ต้องรับรู้โดยทั่วกันด้วยว่า เวลานี้ ทั้งภาครัฐ หรือภาคเอกชนไทย ไม่มีผลวิจัยเป็นของตัวเองแต่อย่างใด เมื่อกฎหมายคลายล็อกมีผล ก็ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4-5 ปีในการทำผลวิจัยขึ้นมาเพื่อประกอบการขออนุญาตใช้ในทางการแพทย์ เทียบกับ “บริษัทต่างชาติ” ที่มีผลวิจัยรองรับอยู่แล้ว เท่ากับออกตัวบนเส้นสตาร์ตที่ไม่เท่ากัน
จริงอยู่ขณะนี้ภาครัฐพยายามตีฆ้องร้องป่าวล็อกไว้แล้วว่า “สัญชาติไทย” เท่านั้นที่มีสิทธิ์ปลูก หรือทำการวิจัย แต่เป็นล็อกหลวมๆ ที่สามารถพลิกแพลงได้อย่างไม่ยากเย็น
อีกทั้งต้องจับตาประเด็นห้วงเวลาด้วย สำคัญที่หาก “ประมวลกฎหมายยาเสพติด” มีผลบังคับใช้เมื่อใด “พ.ร.บ.กัญชา-กระท่อม” ฉบับที่ สนช.เพิ่งทำคลอดไปก็จะสิ้นสภาพไปโดยปริยาย คำถามมีอีกว่า การเร่งรีบให้ร่างพ.ร.บ.กัญชา-กระท่อม ที่พิจารณาเพียงแค่ 2 เดือนมีผลบังคับใช้ ก่อนหมดสภาพไม่นาน ส่งผลเหมือน “เปิดประตู” ให้ดำเนินการอย่างไรอย่างหนึ่งหรือไม่
เมื่อต่างชาตินำเราไปหลายช่วงตัว สามารถต่อยอดไปสู่ “เชิงพาณิชย์” กลายเป็น “จุดสลบ” ที่กระทั่ง “องค์การเภสัชกรรม” ที่เตรียมของ-เบิกงบฯ รอทำ โปรเจ็กต์อยู่แล้ว ยังอาจจะแห้วไปด้วย เหตุมีคำขอ สิทธิบัตร พะโลโก้ “บริษัทนอก” คาอยู่ในระบบ
ในความเป็นจริง วาระ “กัญชา-กระท่อมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์” ถือว่าดูดี ฟังดูมีประโยชน์ในระดับหนึ่ง ติดก็แต่กระบวนการที่เปิดๆ ปิดๆ
หรือเป็นหน้าฉากที่ดูเหมือน “บริสุทธิ์ใจ” อยากให้คนไทยได้เริ่มใช้ประโยชน์จากกัญชา-กระท่อม แต่ไปๆ มาๆจะเป็นดังที่ทั้งสังคมห่วงใยกันว่า เปิดโอกาสให้มีการจดสิทธิบัตรของยาที่มีต่างชาติวิจัยไว้ก่อนแล้วหรือไม่
ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้เองที่ทำให้ “ผู้หลักผู้ใหญ่” ไม่สบายใจ จนเกิดการ “ถ่วงกฎหมาย” แต่หาใช่การถ่วงเพื่อรอกระบวนการเพิกถอนสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาเพียงอย่างเดียว
แต่ “ผู้เกี่ยวข้อง” ตระหนักดีว่าร่าง พ.ร.บ.กัญชานั้นไม่มีความจำเป็น และซ้ำซ้อน หากต้องการแก้ไขปรับปรุงมาตรการยาเสพติดต้องยกทุกอย่างไปพิจารณาร่วมกับประมวลกฎหมายยาเสพติดถึงจะถูกต้อง