กยท.จับมืออาลีบาบา ซื้อขาย-ยางออนไลน์ดันราคา มั่นใจไทยได้ลูกค้าจีน-ทั่วโลก

กยท.จับมืออาลีบาบา ซื้อขาย-ยางออนไลน์ดันราคา มั่นใจไทยได้ลูกค้าจีน-ทั่วโลก

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ขณะนี้ทางกยท.อยู่ระหว่างหารือกับกลุ่มบริษัท อาลีบาบา ผู้ประกอบการตลาดสินค้าออนไลน์รายใหญ่ของจีน เกี่ยวกับการจัดทำแพลตฟอร์มซื้อขายยางทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยหารือแล้ว 2 ครั้ง โดยทางอาลีบาบา รับหน้าที่ออกแบบแพลตฟอร์มการซื้อขายยางในระบบออนไลน์ให้กับไทยเพื่อไว้ใช้ซื้อขายร่วมกัน อย่างไรก็ตาม คาดว่าไม่เกิน 1-2 เดือนจากนี้ แพลตฟอร์มขายยางร่วมกันน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น

นายเยี่ยม กล่าวว่า เบื้องต้น กยท.กำหนดประเภทยางที่จะส่งขายไปยังแพลตฟอร์มออนไลน์กับอาลีบาบา ทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่ 1. น้ำยางข้น 2. ยางแท่ง (เอสทีอาร์20) และ 3. ยางแผ่นรมควันชั้น 3 (อาร์เอส3) โดยยางเหล่านี้จะมาจากสถาบันเกษตร หรือ สหกรณ์ที่สามารถผลิตยางและแปรรูปยางพาราได้ นอกจากนี้ การซื้อ-ขายยางออนไลน์ จะส่งผลทำให้ราคายางในประเทศปรับตัวสูงขึ้นเพราะราคายางจะถูกกำหนดโดยผู้ขายโดยตรง

“ปัจจุบัน ราคายางพาราอยู่ในเกณฑ์ดี และเชื่อมั่นว่าราคายางพาราจะเพิ่มขึ้นถึงไตรมาสที่ 2 (เดือนมีนาคม-พฤษภาคม) เป็นอย่างน้อย เพราะต้นยางจะอยู่ในช่วงผลัดใบ โดยปัจจุบันราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 (เอฟโอบี) เฉลี่ยอยู่ที่ 50 บาทต่อกิโลกกรัม และราคาตลาดกลางอยู่ที่ 45 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาน้ำยางสดปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 39-40 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งสาเหตุที่ราคาน้ำยางสดเพิ่มขึ้น เกิดจากโครงการต่างๆ ของรัฐบาลที่มีการหนุนการใช้ยางในประเทศ โดยเฉพาะการใช้ยางสร้างถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ทั่วประเทศ ของโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร เป็นต้น” นายเยี่ยม กล่าว

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง กล่าวว่า ช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ จะเดินทางไปยังประเทศจีน เพื่อหารือกับอาลีบาบา เกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ในระบบซื้อขายยางออนไลน์ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น สำหรับแพลตฟอร์มซื้อขายยางอิเล็กทรอนิกส์นี้ กยท.ตั้งใจให้เป็นตลาดล่วงหน้าที่มีการส่งมอบจริง แตกต่างกับตลาดโตคอม ในประเทศญี่ปุ่น และตลาดไซคอม ในประเทศสิงคโปร์ ที่มีการซื้อขายล่วงหน้าแต่ไม่มีการส่งมอบจริง

“ตลาดล่วงหน้า เป็นตลาดที่มีไว้เพื่อเก็งกำไรเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้เกิดการกดราคาในตลาดยางทั่วโลก ดังนั้น ถ้าไทยสามารถเปิดตลาดซื้อขายยางพาราได้เองจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องการกดราคาของตลาดโลกได้ นอกจากนี้ การซื้อขายยางผ่านแพลตฟอร์มของอาลีบาบา จะทำให้ไทยได้กลุ่มลูกค้าจากจีนโดยตรง รวมถึงลูกค้าจากทั่วโลกสามารถซื้อยางจากประเทศไทยโดยตรงผ่านแพลตฟอร์มนี้ได้” นายณกรณ์ กล่าว